top of page
รูปภาพนักเขียนTheeranai S.

ใครก็อป ใครไม่ก็อป? มอง 'Plagiarism' ในอุตสาหกรรม K-pop หรือการใช้ซ้ำจะกลายเป็นเรื่องปกติ



(หมายเหตุ: บทความนี้ไม่มีเจตนาโจมตีศิลปินวงใด หากแต่อยากให้ผู้อ่านมาร่วมหาคำตอบถึงประเด็นการทำซ้ำในวงการเพลงเคป็อปจากดราม่าที่เกิดขึ้นระหว่าง HYBE Ent. และ มินฮีจิน)

.

เป็นประเด็นร้อนแรงแทบสะเทือนวงการ K-Pop เลยก็ว่าได้ สำหรับมหากาพย์สงครามระหว่างค่ายเพลง HYBE Corporation กับมินฮีจิน (Min Hee Jin) ผู้บริหารของ Ador บริษัทในเครือที่ดูแลศิลปินเกิร์ลกรุปอย่าง NewJeans โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ตัวแทนจากทาง HYBE ออกมากล่าวผ่านสำนักข่าวว่าผู้บริหารของ Ador ได้เปิดเผยความลับของบริษัทให้กับบุคคลที่ 3 รวมทั้งตำหนิมินฮีจินที่พยายามจะแยกตัว Ador ออกจาก HYBE แต่แทนที่จะปฏิเสธ มินฮีจินกลับตอบโต้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดจากการเลียนแบบ Newjeans ของ ILLIT เกิร์ลกรุปน้องใหม่จากค่ายในเครืออย่าง Belift Lab รวมทั้งยังพาดพิงถึงวง RIIZE, TWS รวมไปถึง BTS อีกด้วย

.

แน่นอนว่ากระแสตีกลับจึงเกิดขึ้น เมื่อ Netizens เริ่มตั้งข้อสงสัยเปรียบเทียบมิวสิกวิดีโอเปิดตัววง NewJeans เมื่อปี 2022 อย่างเพลง “Attention” ว่ามีความคล้ายคลึงกับมิวสิกวิดีโอเมื่อปี 1996 ของวง SPEED เกิร์ลกรุปสัญชาติญี่ปุ่นอย่างเพลง “Body & Soul” โดยมีการพูดถึงกันว่ามีอาร์ตไดเรกชันที่คล้ายคลึงกัน รวมไปถึงฉากหลังที่เป็นสนามกีฬาและชายหาดในช่วงท้าย หลายคนจึงตำหนิมินฮีจินที่กล่าวหาวงอื่น ทั้ง ๆ ที่ตนเองอาจจะทำสิ่งที่เรียกว่า ‘Plagiarism’ หรือการลอกเลียนแบบและขโมยทางความคิดเช่นกัน

.

หรือ ‘Plagiarism’ ในอุตสาหกรรมดนตรีจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว?

.

เป็นเรื่องปกติที่แฟนคลับหรือผู้ฟังทั่วไปจะสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันต่าง ๆ ในแต่ละเพลงที่ปล่อยออกมา ด้วยเหตุที่ว่าความคล้ายคลึงกันเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรีและศิลปะอยู่แล้ว ซึ่งความคล้ายคลึงทางดนตรี หรือ ‘Musical Similarity’ เกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย

.

• ‘Coincidence’ ความบังเอิญ •

.

ความคล้ายคลึงกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งศิลปะและงานดนตรี เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ‘ทรัพยากรทางดนตรีที่มีจำกัด’ ทรัพยากรที่ว่านั้นคือคอร์ดหรือโน้ตที่เราใช้กันนั่นเอง เพลงบางเพลงกลายเป็นที่นิยมหรือฟังแล้วติดหู อาจเกิดมาจากการใช้คอร์ด 4 คอร์ดที่มักใช้ร่วมกันอยู่บ่อย ๆ เช่น คอร์ด G C D Em หรือแม้กระทั่งเมโลดี้ของเนื้อร้องและเครื่องดนตรีหลักที่ใช้คล้ายกัน ก็อาจมีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าลอกเลียนแบบได้เพราะความคล้ายคลึงโดยบังเอิญนี้เอง

.

• ‘Influence’ อิทธิพลทางดนตรี •

.

เช่นเดียวกับอิทธิพลทางศิลปะ เทคโนโลยี สังคม การเมือง หรืออิทธิพลอื่น ๆ การสร้างสรรค์ทางดนตรีเป็นการคิดค้น ต่อเติม ประยุกต์ จัดองค์ประกอบทางดนตรีขึ้นมาใหม่ และล้วนเกิดมาจากอิทธิพลต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้โดยปราศจากที่มาที่ไป ตราบใดที่มีการสังเคราะห์ใหม่ด้วยมุมมองสร้างสรรค์ของผู้แต่งเอง และมีการอ้างอิงถึงอิทธิพลที่ตนเองได้รับ ก็ถือว่าความคล้ายคลึงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งเข้าใจได้และไม่ผิดกฎหมาย

.

• ‘Plagiarism/ Wrongful appropriation’ การลอกเลียนแบบ •

.

ความคล้ายคลึงกันทางดนตรีจะผิดกฎหมายทันทีเมื่อมีการพิสูจน์ได้ว่ามีการลอกเลียนแบบจริง ดังนั้นผู้สร้างสรรค์ทั้งหลายจึงควรระบุให้ชัดเจนเมื่อใช้ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลง บางกรณีที่อ้างว่าตนเองเป็นผู้เรียบเรียงใหม่ทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้ผู้ฟังและแฟนคลับมีสิทธิจะสงสัยในความคล้ายคลึงกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงดนตรี อาร์ตไดเรกชันที่ใช้ออกแบบสไตล์ หรือตัวมิวสิกวิดีโอเองก็ตาม

.

เนื่องจากผลประโยชน์ที่จับต้องได้ทั้งหมดที่ได้รับ เช่น ค่าลิขสิทธิ์และสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานนั้นจะถือเป็นของผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไปหากสถานการณ์ลุกลามจนนำไปสู่ผลกระทบทางการเงิน และมีข้อสรุปว่ามีการลอกเลียนโดยมิชอบและเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์จริง ถึงกระนั้นก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายลิขสิทธิ์ที่พัฒนาขึ้นในแต่ละประเทศว่าจะจัดการปัญหาคดีเหล่านี้อย่างไร

.

กรณีที่เป็นประเด็น Plagiarism ในอุตสาหกรรม K-Pop มีให้เห็นมากมายนับไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น กรณีค่ายเพลงอย่าง JYP Entertainment ที่ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบเพราะมิวสิกวิดีโอเปิดตัวเพลง O.O - NMIXX ไปคล้ายคลึงกับเพลง Illusion - ATEEZ หรือกรณีที่มีคนยื่นเรื่องกับทางตำรวจโดยกล่าวหา IU ว่าลอกเพลงมาทั้งหมด 6 เพลง แต่ต้นสังกัดก็ยืนยันว่าไม่มีมูลความจริง

.

คำถามที่สำคัญที่สุดคือเราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าผลงานเหล่านั้นเป็นแค่เรื่องบังเอิญ ได้รับอิทธิพลอื่นมา หรือเป็นการลอกเลียนแบบจริง ๆ หากมองด้วยเลนส์ของการสร้างสรรค์งานดนตรีและศิลปะในปัจจุบันแล้ว คงเป็นไปได้ยากที่จะมองหาผลงานที่เป็นออริจินัลขั้นสุดได้จริง ๆ เพราะทุกผลงานก็ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากอะไรบางอย่างแล้วบิดให้มันเป็นของตัวเองทั้งสิ้น

.

แล้วแฟนเพจ The Showhopper มองกรณี Plagiarism ในอุตสาหกรรม K-Pop และสงครามระหว่างค่ายเพลง HYBE Corporation กับมินฮีจินกันอย่างไรบ้าง ~

.

เรื่อง: Theeranai S.

.

ที่มา:

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page