
เพื่อนๆ เคยผัดวันประกันพรุ่งกับสิ่งหนึ่งนานสุดแค่ไหน.. เป็นวัน สัปดาห์ หรือหลักปี? ทั้งที่ตอนไอเดียแว๊บเข้ามาในหัว ไฟแพสชันมันพลุ่งพล่านจนอยากทำให้เสร็จเดี๋ยวนั้น แต่เพราะอะไรก็ไม่รู้อยู่ดีๆ สิ่งนั้นก็ถูกพับเก็บหายไปในความทรงจำ มิหนำซ้ำยิ่งนึกย้อนถึงมันยิ่งทำให้เรารู้สึกเป็นคนล้มเหลวขึ้นมาอีก พลอยโทษว่าเป็นเพราะความขี้เกียจ และใจไม่สู้ของตัวเอง
.
แต่จริงๆ แล้วมันอาจมีอะไรมากกว่านั้น
.
วันนี้เราจะมาชวนแฟนเพจ The Showhopper สำรวจสิ่งที่เรียกว่า ‘Procrastination’ หรือการผัดวันประกันพรุ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนทำงานครีเอทีฟทั่วโลก! เพราะกว่าที่สารพัดไอเดียในหัวของครีเอเตอร์จะกลายมาเป็นชิ้นงานแบบรูปธรรมได้ พวกเขาต้องต่อสู้กับความกลัวและความกังวลหลายชั้นทีเดียว
.
Dr. Tim Pychyl ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและสมาชิกของกลุ่มวิจัย Procrastination Research Group ณ Carleton University ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า “การผัดวันประกันพรุ่งเป็นปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ไม่ใช่ปัญหาการบริหารเวลา”
.
การผัดวันประกันพรุ่งไม่ใช่ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวหรือผลลัพธ์จากเวลาชีวิตที่มีน้อยเกินไป (ในเชิงว่าต่อให้มีเวลา ถ้าใจไม่พร้อมก็ทำไม่ได้) แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นจากการทำงานบางอย่าง อันหมายรวมถึงความเบื่อหน่าย ความวิตกกังวล ความไม่มั่นคงทางใน ความหงุดหงิด ความขุ่นเคือง ความสงสัยในตนเอง และอื่นๆ อีกมากมาย
.
ด้านเว็บไซต์ Psychology Today อธิบายเรื่องนี้ไว้คล้ายกัน ว่าการผัดวันประกันพรุ่งมีรากฐานมาจากหลายอย่าง อาทิ ปัญหาด้านการควบคุมตัวเอง (Self-Control) เพราะหลายคนไม่สามารถควบคุมตัวเองจากสิ่งเร้าที่เข้ามาแทรกแซงสมาธิระหว่างสร้างสรรค์ผลงานได้ พวกเขาอาจนั่งทำงานได้ 30 นาที แต่พักไปไถมือถือนาน 2 ชั่วโมง กลับมาอีกทีความจดจ่อและพลังใจก็อาจไม่เท่าเดิม ทำให้โปรเจกต์เหล่านั้นเสร็จช้าหรืออาจถูกยกเลิกไปได้กลางคัน ต่อมาคือ การหลอกลวงตัวเอง (Self-Deception) คือต่อให้เรารู้ว่าการผัดงานชั้นนี้ออกไปเรื่อยๆ มันจะส่งผลไม่ดีต่อเป้าหมายที่ยึดมั่นอย่างไร แต่เราก็รู้เช่นกันว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จนั้นยากกับเรามากกว่า เลยเลือกที่จะหาเหตุผลอื่นมาสนับสนุนตัวเองไปเรื่อยๆ ว่าที่ยังไม่เริ่มทำ หรือทำไม่เสร็จ เป็นเพราะนั่น เพราะนี่ เราไม่พร้อมทำมันจริงๆ เป็นต้น
.
แต่ส่วนที่น่ากลัวที่สุดเบื้องหลังการผัดวันประกันพรุ่งคือความรู้สึกสงสัยตัวเอง (Self-Doubt) และ การหลงใหลในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) มากเกินไป เพราะมีหลายคนเลือกจะไม่ทำโปรเจกต์ที่อยากทำเพราะความกลัวว่า ‘จะทำมันออกมาได้ไม่ดีพอ’ ‘เรายังไม่เก่ง’ ‘มันต้องพังแน่’ ‘ผู้คนต้องไม่ชอบมัน’ เลยหลีกเลี่ยงจะสร้างงานเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเผชิญกับความล้มเหลวที่สร้างขึ้นเองในหัวเหล่านั้น
.
• ‘Procrastination’ ไม่ใช่ความขี้เกียจหรือความอยากพักผ่อน •
.
องค์กรผู้สร้างเว็บไซต์ procrastination.com เพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้ ได้อธิบายไว้บนหน้าเพจว่าอย่าเข้าใจผิดว่าอาการขี้เกียจคือการผัดวันประกันพรุ่งเพราะคนที่ขี้เกียจพวกเขาพอใจกับการไม่ต้องทำอะไรเลย แต่คนที่เป็น ‘Procrastinator’ มีความต้องการที่จะทำงานบางสิ่งให้สำเร็จอย่างมากแค่พวกเขาไม่สามารถดึงตัวเองขึ้นมาเพื่อทำมันได้ อีกทั้งนี่ยังไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการพักผ่อน เพราะการพักผ่อนจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น กลับมามีพลังลุยงานต่อ แต่การผัดวันประกันพรุ่งจะดูดพลังงาน แรงบันดาลใจ และความสร้างสรรค์ของเรามากขึ้นในทุกๆ วัน
.
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนสมัยศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในคณะด้านศิลปะ เรามักได้ยินคำพูดของอาจารย์และเพื่อนๆ ว่า “งานที่ดีคืองานที่เสร็จ” อยู่บ่อยครั้ง เป็นคำพูดที่มีนัยว่าอยากให้นักศึกษาให้ความสำคัญกับการสร้างงานและจงสลัดความกลัวที่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ของตัวเองออกไปเสีย อีกทางหนึ่งก็เป็นการเตือนสติว่าการผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่พึงพอใจในงานของตัวเองเสียที จะสร้างปัญหาให้เราได้ในอนาคต บนโลกที่ทุกอย่างมีเดตไลน์ และไม่มีใครพร้อมเข้าใจสงครามในจิตใจที่เราต้องฟันฝ่า เราเลยอยากแชร์คำพูดนี้ให้ผู้อ่านที่กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน และขอให้ทุกคนก้าวผ่านภาวะ Procrastinating มาให้ได้
.
โลกกำลังรอดูผลงานของทุกคนอยู่นะ สู้!
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
.
ที่มา:
.
Comments