นับตั้งแต่ความสำเร็จระดับมโหฬารตระการตาของ Barbie ฮอลลีวูดก็เข็นหนังที่มีตัวละครนำเป็นเพศหญิงออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
.
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว มีงานวิจัยโดย USC Annenberg Inclusion Initiative เปิดเผยออกมาว่า 2023 กลายเป็นปีที่มีหนังผู้หญิงน้อยมาก โดยตัวเลขบ่งชี้ว่าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี เรื่องที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ Barbie ผู้เปิดประตูบานสำคัญให้กับหนัง ‘ตัวแม่ตัวมัม’ ด้วยการกลายเป็นผลงานที่ทำเงินสูงสุดของปีโดยมีตัวเลขรายรับทั่วโลกอยู่ที่ 1,447 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจุดกระแสการพูดถึง ‘สตรีนิยม’ อันเนื่องมาจากประเด็นหลักของหนัง สมทบด้วยพลังหญิงของสองหัวเรือใหญ่อย่างนักแสดงนำ (ควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์) Margot Robbie และผู้กำกับ Greta Gerwig
.
แต่นั่นก็แทบจะเป็นหนังผู้หญิงเพียงไม่กี่เรื่องของ 2023 ที่ทุกคนจดจำได้…
.
วันเวลาล่วงเลยสู่ปี 2024 และกำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว เรื่องน่ายินดีก็คือ ในปีที่ผ่านมานี้หนังในกระแสหลักหลายเรื่องมาพร้อมกับการให้เพศหญิงเป็นตัวละครนำ อีกทั้งยังถูกพูดถึงในวงกว้างจากผู้ชมและเวทีรางวัล จะด้วยเป็นเพราะ Barbie ที่ช่วยกรุยทางรอไว้ให้แล้ว หรือความบังเอิญจากเหตุการณ์ประท้วงนัดหยุดงานของสมาคมผู้เขียนบทแห่งอเมริกาเมื่อปีก่อน ซึ่งส่งผลให้หนังจำนวนมากที่หยุดชะงักโปรดักชันไป ได้มาปล่อยฉายพร้อม ๆ กันในปีนี้ หรือจะเป็นความบังเอิญเพียว ๆ แบบไม่มีเหตุผลอะไรมากกว่านี้เลยก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็คือเราได้เห็นหนังผู้หญิงกลับมามีบทบาทอีกครั้งในฮอลลีวูดอย่างมีนัยสำคัญ
.
หนังมิวสิคัลสองเพื่อนสาวต่างสีอย่าง Wicked คงเป็นคำตอบแรก ๆ ที่ผุดขึ้นมาเมื่อว่ากันถึง female-led movies เช่นนี้ ทั้งในฐานะแชมป์บ็อกซ์ออฟฟิศอันดับต้น ๆ และว่าที่ผู้เข้าชิงออสการ์หลายสาขา
.
ปัจจุบันตารางหนังทำเงินทั่วโลกประจำปี 2024 มี Wicked ติดอยู่ใน Top 10 และเมื่อเรามองหาหนังที่มีตัวละครหญิงเป็นหลักเรื่องอื่น ๆ ก็ยังจะเจอ Moana 2 ด้วย นอกจากนี้สำหรับหนังที่อยู่อันดับ 1 หนังทำเงินทั่วโลกสูงสุดของปีนี้อย่าง Inside Out 2 …อย่าลืมว่าตัวละครหลักอย่าง “Joy” ก็ถูกดีไซน์ไว้ให้เป็นผู้หญิงเช่นกัน และถ้ายังไม่เพียงพอ ลองดูตัวละครมนุษย์ที่เป็นเจ้าของอารมณ์หลากสีสันในเรื่องอย่าง “Riley” ด้วยก็ได้ นี่ก็เป็นเด็กสาวอายุ 13
.
หนังน้ำดีแห่งปีหลายเรื่องก็พาเราไปสำรวจก้นบึ้งหัวจิตหัวใจของตัวละครหญิง ต่อผลกระทบที่เกิดจากบรรทัดฐานผิดเพี้ยนบางอย่างที่ยืนหยัดกันมานานนมจนอาจมองเหมือนเรื่องปกติ
.
ผลงานตลกร้าย body horror อย่าง The Substance มีแก่นหลักคือ ‘โศกนาฎกรรม’ ที่ผู้หญิงต้องรับมือจากแนวคิด beauty standard ซึ่งถูกฟาดใส่อย่างจังจากสังคม ซ้ำร้ายการที่ตัวละครสองวัยต้องมาตบตีเบาะแว้งกันเอง ก็เหมือนกับแผลร้ายทางความคิดจากค่านิยมที่ถูกบ่มเพาะกันมา
.
Anora ที่แม้มีฉากหน้าเป็นเหมือนหนังชวนตลกขบขัน แต่ก็พูดถึงการถูก ‘กดทับ’ บางอย่างเอาไว้ของผู้หญิงชายขอบคนหนึ่ง ผ่านประเด็นอย่างการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การมีสิทธิเสรีอย่างที่ใจปรารถนา หรือ อีกครั้ง…การถูกตีตราตามค่านิยมของสังคม
.
งานกำกับชิ้นแรกของนักแสดงสาว Anna Kendrick (ที่ผมชอบชื่อเรื่องภาษาอังกฤษมาก ๆ) อย่าง Woman of the Hour (หรือชื่อไทยที่ตั้งได้อย่างน่าจดจำเช่นกันว่า ‘รู้ไหมใครโหด’) ซึ่งว่าด้วยเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องที่กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแข่งขันของรายการหาคู่รายการหนึ่งช่วงยุค 70 ก็ถูกถ่ายทอดด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจของผู้กำกับหญิง ผ่านตัวละครหญิงมากมายผู้ตกเป็น ‘เหยื่อ’ จนมันไม่เป็นเพียงแค่หนัง based on a true story ธรรมดา แต่เป็นเหมือนอีกหนึ่งกระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องการยุติความรุนแรงต่อเพศหญิงลง (อีกครั้ง) ในโลกปิตาธิปไตย
.
หรืออย่าง It Ends with Us หนังโรแมนติกดราม่าบนพื้นผิวชั้นนอก แต่ลึกลงไปกล่าวถึง ‘ความรุนแรง’ ต่อเพศหญิงในครอบครัว ก็ทำกำไรอย่างงดงามด้วยรายรับรวมทั่วโลกกว่า 350 ล้านดอลลาร์ฯ จากทุนสร้างเพียง 25 ล้านเท่านั้น ถือเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของหนังผู้หญิงในปีที่ผ่านมา (แม้ว่าจะมีข่าวในช่วงนี้ที่ชวนย้อนแย้งกับตัวหนัง อย่างข่าวที่ “ว่ากันว่า” Blake Lively นางเอกของเรื่องถูกคุกคามทางเพศโดย Justin Baldoni ดาราชายที่แสดงคู่กับเธอและเป็นผู้กำกับของหนังก็ตาม)
.
หากเหลือบไปมองฝั่งเวทีรางวัลกันบ้าง ก็จะพบว่ามีสัญญาณที่ดีต่อหนังที่มีตัวละครนำเป็นผู้หญิง อย่างน้อยก็ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งเราเห็นทั้ง Encanto, The Lost Daughter, Cruella, The Eyes of Tammy Faye, Parallel Mothers, The Worst Person in the World …มาจนปี 2022 ที่มี Everything Everywhere All at Once ชนะออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และยังมีหนังอย่าง Women Talking, Black Panther: Wakanda Forever รวมไปถึง Avatar: The Way of Water ด้วย (ซึ่ง Avatar ภาคนี้ โฟกัสเรื่องราว ‘ความเป็นแม่’ ชัดมาก ๆ)
.
ในขณะที่ฤดูล่ารางวัลปีก่อน นอกจาก Barbie แล้ว ยังมี Anatomy of a Fall, Past Lives และหนังผู้หญิงที่เรื่องราวสุดโต่ง (ในแง่ที่ดี) อย่าง Poor Things ซึ่งก้าวข้ามคำว่าผู้หญิงไปสู่คำว่า ‘หลากหลาย’ ที่ไปได้ไกลกว่านั้นมาก
.
ส่วนปีนี้ รายชื่อที่เห็นก็จะมี Babygirl (Nicole Kidman นำแสดงในบทซีอีโอสาวใหญ่ที่แอบแซ่บกับเด็กฝึกงานหนุ่ม), Maria (Angelina Jolie รับบท “Maria Callas” นักร้องโอเปร่าที่มีตัวตนจริง), The Last Showgirl (Pamela Anderson เล่นเป็นนางโชว์ที่ต้องรับมือกับการปิดตัวลงของโชว์อย่างกะทันหันหลังเธอหากินกับอาชีพนี้มาตลอด 30 ปี) หรือ The Room Next Door (Tilda Swinton กับ Julianne Moore ในบทเพื่อนสนิทสองคนที่กลับมาเจอกันอีกครั้งในรอบหลายปี) เป็นต้น
.
และไหน ๆ ก็เปิดคำว่า ‘ความหลากหลาย’ ขึ้นมาแล้ว ถ้าจะว่ากันถึงความหลากหลายที่มาจากหนังผู้หญิง ๆ เวทีรางวัลก็เคยโอบรับหนังอย่าง Tár (2022) หรือ Nyad (2023) มาแล้วเช่นกัน หรืออย่างปีนี้ก็มี Emilia Pérez หนัง genre แปลกที่ผสมผสานทั้งอาชญากรรม มาเฟีย LGBTQ+ ความรัก ตลกร้าย ระทึกขวัญ ฟีลดิบ ๆ แต่เล่าแบบมิวสิคัลเต็มตัว และว่าด้วยความสัมพันธ์ของผู้หญิง 3 คน (หนึ่งในนั้นเป็น transwoman) เป็นหนังที่ยืนหนึ่งอยู่ในกลุ่มดังกล่าว
.
ในสายหนังแมสหรือกลุ่มบล็อกบัสเตอร์ของปี 2024 ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับตัวละครเพศหญิง เริ่มจากหนังแนวระทึกขวัญ/เขย่าขวัญจำนวนมากที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทเป็นตัวเดินเรื่อง อาทิ Abigail, Smile 2, A Quiet Place: Day One, Longlegs, MaXXXine
.
หรือหนังแอ็คชันที่ต้องมีตัวละครในลักษณะ ‘ฮีโร่ผู้กอบกู้’ อย่างเช่น Alien: Romulus, Furiosa: A Mad Max Saga, Madame Web หรือ The Lord of the Rings: The War of the Rohirrim ก็ล้วนหยิบยื่นบทนำส่งไปให้ผู้หญิง
.
แม้แต่หนังแอนิเมชันอบอุ่นหัวใจอย่าง The Wild Robot ก็ให้หุ่นยนต์บทนำพากย์เสียงโดยนักแสดงหญิง (Lupita Nyong’o) เช่นกัน
.
ซีรีส์ขวัญใจใครหลายคนอย่าง Agatha All Along ที่ต่อยอดมาจากจักรวาลตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล ก็แคสต์ทีมนักแสดงหญิงมาเป็นหลัก (เสริมด้วยนักแสดง LGBTQ+) เพื่อช่วยกันสานต่อเรื่องราวเส้นทางแม่มดอันสนุกสนาน
.
หรือถ้าจะลองวกมาดูสายหนังเพลงกันอีกซักครั้ง นอกจาก Wicked และ Moana 2 แล้ว ปีนี้เราก็ยังมี Mean Girls ฉบับดัดแปลงจากบรอดเวย์ กับแอนิเมชันทาง Netflix อย่าง Spellbound ด้วย ที่มีตัวละครหลักเป็นเพศหญิง
.
ถือว่าเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในเชิง storytelling ที่ดีไม่น้อยเลยครับ เพราะอย่างน้อยการเริ่มด้วยการมีสัดส่วนหนังผู้หญิงมากขึ้นในโลกที่ (ว่ากันตามตรง) เกือบทุกวงการก็ยังเป็น male-dominated industry อยู่ มันคงน่าสนใจไม่น้อยที่เรื่องราวของคอมมูนิตี้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ male story เพียว ๆ ได้ถูกบอกเล่าสื่อสารออกมาบ้าง และถ้า female story ได้รับโอกาสนั้น ก็มีโอกาสที่เรื่องเล่าของผู้คนในคอมมูนิตี้อันหลากหลายอื่น ๆ จะได้เฉิดฉายบ้าง ผมเชื่อว่ายังมี non-male story ที่งดงามอีกมากมายที่ยังไม่เคยถูกเล่า
.
หนังที่ผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่องยังคงมีให้เห็นอยู่ในปีหน้า ที่แน่ ๆ แล้วก็มี Snow White (21 มี.ค.), Ballerina (6 มิ.ย.), M3GAN 2.0 (27 มิ.ย.), Freakier Friday (8 ส.ค.) และ Wicked: For Good (21 พ.ย.) …ต้องติดตามดูกันต่อไปครับว่าสุดท้ายแล้วฮอลลีวูดจะทำให้ storytelling ของตัวเองรุดหน้าไปอีกมากน้อยแค่ไหน หรือจริง ๆ แล้วเป็นเพียงความบังเอิญที่ทำให้ 2024 เป็น “Another year of excellent female-led movies” ที่ผ่านมาแล้วผ่านไปแค่นั้น
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
Commentaires