ถ้าเกิดเรื่องแปลกๆ ละแวกบ้าน คุณจะโทรหาใคร?
ถ้าเห็นอะไรไม่ชอบมาพากลแล้วละก็ คุณจะโทรหาใคร?
‘มือปราบผีไงละ!’
.
นี่คือส่วนหนึ่งของคำแปลเนื้อร้องของเพลงสุด catchy ในตำนานเมื่อปี 1984 โดย Ray Parker Jr. จาก Ghostbusters หนังตลกเรื่องฮิตที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งอันน่าจดจำของป็อปคัลเจอร์ ซึ่งไม่เพียงมาเพื่อนิยามความเป็นยุค 80 เท่านั้น แต่ยังเขียนบทบันทึกหน้าสำคัญให้ฮอลลีวูดในฐานะหนังเรื่องแรกๆ ที่สร้างอิมแพ็คต่อผู้ชมในแง่ความคลั่งไคล้ และเกิดเป็นแนวทางสดใหม่ของอุตสาหกรรมจากธุรกิจบันเทิงสู่ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อีกหลากหลาย
.
ไม่น่าเชื่อว่าวันเวลาผ่านไปจนเข้าปีที่ 40 ของ 'บริษัทกำจัดผี' แล้ว แต่หนังยังทิ้งร่องรอยในวัฒนธรรมป็อปให้ผู้คนได้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน ชัดที่สุดคงเป็นหนังภาคใหม่ของแฟรนไชส์ชุดนี้อย่าง Ghostbusters: Frozen Empire ที่กำลังจะเข้าฉายในบ้านเราสุดสัปดาห์นี้แล้วนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นเรื่องราวตอนต่อๆ มาของทีมล่าท้าผีนี้ก็ไม่ใช่ผลพวงที่โดดเด่นที่สุดเมื่อว่ากันถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจาก Ghostbusters เมื่อ 4 ทศวรรษก่อน
.
เหตุผลแข็งแกร่งอย่างหนึ่งที่ทำให้ Ghostbusters เข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้ชมตลอดมาคือการที่มันผสมผสานความเป็นหนังตลก หนังแอ็กชัน และหนังว่าด้วยเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่ยังไม่ทิ้งกลิ่นสยองขวัญเข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นรสชาติใหม่เอี่ยมบนจอภาพยนตร์ซึ่งในเวลานั้นยังไม่เคยมีใครได้สัมผัสมาก่อน เหนือสิ่งอื่นใดคือการฟอร์มทีมของ 'ขบวนการปราบผี' ซึ่งให้ความรู้สึกเท่ๆ ตั้งแต่เครื่องแต่งกายคุ้นตายันอุปกรณ์สุดล้ำ บวกความเนิร์ดแบบนักวิทยาศาสตร์เจ๋งๆ แต่กลับเชี่ยวชาญโลกวิญญาณเป็นอย่างดี ก็ทำให้โกสต์บัสเตอร์ทั้งสี่คนแลดูเป็นฮีโร่ร่วมสมัยที่เหมือนจะจับต้องได้ในชีวิตจริงขึ้นมาทันที
.
หนังเปิดตัวในสหรัฐฯ เดือนมิถุนายน 1984 และอยู่ที่อันดับ 1 บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศนานถึง 7 สัปดาห์ ที่มหัศจรรย์ไปกว่านั้นคือหลังจากตกอันดับไปแล้ว หนังยังสามารถทะยานกลับมาอยู่อันดับ 1 ได้อีกเรื่อยๆ ตลอดปีนั้น กลายเป็นปรากฏการณ์ 'เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงอันดับหนึ่ง' สุดทึ่งแห่งปี ก่อนที่สุดท้ายจะกวาดรายรับรวมเบ็ดเสร็จสูงถึง 229 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มากมายมหาศาลสำหรับยุคนั้น
.
ในขณะที่เพลงธีมของหนังอย่างเพลง "Ghostbusters" ก็กลายเป็นภาพจำของวันเวลาไปด้วย ทั้งจังหวะดนตรีสนุกๆ แบบแดนซ์ป็อปผสมอิเล็กทรอนิกส์ร็อกที่ใครฟังก็ตอบได้ทันทีว่านี่คือซาวด์แห่งยุค 80 และไอเดียในการแต่งเพลงของเรย์ พาร์คเกอร์ จูเนียร์ ที่หยิบเอาคอนเซปต์เพลงจิงเกิ้ลโฆษณาตามทีวีท้องถิ่นซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงนั้นมาเป็นโจทย์ในการแต่ง เดิมทีเขามองไม่เห็นหนทางว่าจะแต่งเพลงประกอบหนังเกี่ยวกับมือปราบผีได้อย่างไร แต่ในที่สุดเขาก็ประยุกต์เอาคอนเซปต์ดังกล่าวมาใช้โดยยึดแนวคิดที่ว่าธุรกิจปราบผีก็มีลักษณะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยการโปรโมตแบบเข้าถึงง่ายและติดหูลูกค้าเช่นกัน ผลที่ได้ก็คือ เพลงนี้ฮิตติดลมบนที่อันดับ 1 ชาร์ตบิลบอร์ด Hot 100 อยู่นาน 3 สัปดาห์ ได้ชิงลูกโลกทองคำ ตามมาด้วยการชิงออสการ์เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และยังกลายเป็นเพลงที่เปิดสังสรรค์ตามงานปาร์ตี้เรื่อยมาจนทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่เป็นเพลงคลิปเต้นใน TikTok
.
การมาของช่อง MTV ในปี 1981 ซึ่งทำให้ภาคดนตรีเกิดการแข่งขันทั้งการทำเพลงและขายเพลงในรูปแบบวิชวลอย่างมิวสิควิดีโอ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เพลงนี้ครองโลกไปในช่วงขณะหนึ่ง ผู้กำกับของหนังอย่าง Ivan Reitman ได้มากำกับเอ็มวีเพลง "Ghostbusters" ด้วย โดยอาศัยสตอรีมาจากหนังซึ่งพูดถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่โดนผีหลอก และดึงตัวคนดังในวงการ ณ เวลานั้นที่เป็นเพื่อนของเขา เช่น Chevy Chase, Irene Cara, John Candy, Danny DeVito และ Teri Garr มาปรากฏตัวรับเชิญในเอ็มวี โดยในเอ็มวีมีเรย์ พาร์คเกอร์ จูเนียร์ รับบทเป็นผีที่ออกมาร้องเพลงหลอกภายในบ้านของหญิงสาวซึ่งเป็นฉากสีดำล้วนแต่ใช้ไฟนีออนหลากดีไซน์ในการตกแต่ง เกิดเป็นการสะท้อนสีสันยามค่ำคืนกลายๆ ของนิวยอร์กซิตีอันเป็นมหานครซึ่งเป็นฉากหลังทั้งหมดของหนัง
.
และเช่นกัน ตัวนิวยอร์กเองก็ได้รับควันหลงจากความโด่งดังของ Ghostbusters ด้วย หนังถูกมองในฐานะปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ช่วยมาชำระล้างภาพลักษณ์ของนิวยอร์กขึ้นใหม่หลังความตกต่ำทางเศรษฐกิจในยุค 70 ซึ่งส่งผลรุนแรงโดยตรงต่อเมืองนี้จนเกิดเป็นหนังหลายเรื่องในเวลานั้นที่ขายนิวยอร์กในแง่มุมที่ล่มสลาย แข็งกร้าวเลวร้าย หรือพัวพันไปถึงอาชญากรรมความรุนแรง อย่างเช่น Taxi Driver (1976), Eyes of Laura Mars (1978), The Warriors (1979) และ Escape from New York (1981) ในขณะที่ Ghostbusters นั้น คือภาพของวีรบุรุษผู้กอบกู้ที่เข้ามาช่วยให้มหานครแห่งนี้รอดพ้นจากเงื้อมมือของเหล่า 'ความชั่วร้าย'
.
แม้กระทั่งสองโลเคชันหลักของหนังอย่างอาคาร 55 Central Park West ในย่าน Upper West Side ซึ่งถูกสมมุติให้เป็นอพาร์ตเมนต์ของนางเอกที่ถูกผีหลอก (และเป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่หลังจากนั้นในชื่อ 'Ghostbusters Building') กับอาคาร Hook & Ladder Company 8 ซึ่งเป็นสถานีดับเพลิงที่ถูกใช้ถ่ายทำเป็นสำนักงานใหญ่โกสต์บัสเตอร์ในหนัง ก็ยังกลายเป็นแลนด์มาร์คที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายให้ไปเยี่ยมชมในเวลาต่อมา สถานีดับเพลิงนี้ถึงขั้นแขวนโลโก้ 'No Ghosts' ของหนังเอาไว้เลยทีเดียว
.
ความใส่ใจในการลงรายละเอียดให้กับ 'ธุรกิจปราบผี' ที่ดูทาบทับไปกับการตลาดในชีวิตจริง อย่างการที่ต้องสวมชุดประจำตำแหน่งทุกครั้งที่ลงพื้นที่, รถทะเบียน ECTO-1 สุดนวัตกรรม, โลโก้ 'ห้ามผี' ที่ติดตาทันทีตั้งแต่แรกเห็น, สปอตโฆษณาพร้อมเบอร์ตรงสายด่วน หรือแม้กระทั่งตำนานลี้ลับต่างๆ ที่ถูกอ้างอิงในหนัง รวมไปถึงมาร์ชเมลโลว์แมนตัวยักษ์ช่วงท้ายเรื่อง ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยเสริมกระแสความคลั่งไคล้ของแฟนหนังให้ไปสุดทาง ยิ่งไปกว่านั้นมันยังแตกแขนงไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อันเกิดจาก Ghostbusters อีกมากมาย เช่น นิยาย, คอสตูมฮาโลวีน, วิดีโอเกม, ตู้กดเกม, ของเล่น, ธีมพาร์คในสวนสนุก, ผลิตภัณฑ์จากภาพยนตร์ (merchandise), หรือซีรีส์แอนิเมชันภาค spin-off ที่ชื่อว่า The Real Ghostbusters (1986) ฯลฯ
.
ในยุค Ghostbusters ครองเมืองนั้น โมเดลเรื่อง merchandise ยังเป็นของใหม่อยู่มากสำหรับฮอลลีวูด มีเพียงแฟรนไชส์ Star Wars เพียงเรื่องเดียวที่ทำสำเร็จไปแล้วก่อนหน้านั้น และเป็นแนวปฏิบัติที่หลายสตูดิโออยากจะจับทางเพื่อดำเนินรอยตาม สตูดิโอ Columbia Pictures เองก็ยังขาดแผนรองรับธุรกิจ merchandise ในช่วงที่ความสำเร็จที่ไม่คาดคิดของ Ghostbusters ถาโถมเข้ามาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อย่างหนึ่งที่ทำเงินเพิ่มให้กับสตูดิโอก็คือการนำสัญลักษณ์ 'No Ghosts' ไปใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลากหลาย นอกจากนี้ความสำเร็จจาก merchandise ของ ghostbusters ในเวลาต่อมาก็คือการให้ลิขสิทธิ์บริษัทอื่นๆ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากความโด่งดังของ The Real Ghostbusters ซึ่งทำรายได้สูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ในปี 1988 (ในปี 2007 มูลค่ารวมของยอดจำหน่าย merchandise จาก Ghostbusters เป็นเม็ดเงินสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว)
.
ความ hype ของปรากฏการณ์ Ghostbusters ยังแผ่ขยายไปถึงพื้นที่ของวัฒนธรรมทางภาษาด้วย คำว่า -busters ซึ่งแปลว่า 'มือปราบ' ถูกนำไปต่อท้ายคำอื่นๆ อีกมากมายเพื่อสร้างคำใหม่ในการโฆษณาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นยันระดับประเทศ เช่น คำว่า "litterbusters" (มือปราบปฏิกูล) ถูกเอาไปใช้ในวงการสุขาภิบาล, หนังสือพิมพ์ประยุกต์เป็นคำว่า "budgetbusters" (สิ่งที่ช่วยลดงบประมาณ) เมื่อพูดถึงประเด็นงบประมาณแห่งชาติ, สายการบิน Pan American Airlines เปิดตัวแคมเปญโฆษณาใหม่โดยเคลมตัวเองว่าเป็น "pricebusters" (แบรนด์ที่ราคาถูก) หรืออย่างบริการจำนองบ้านเจ้าหนึ่งในนิวเจอร์ซีย์ก็ขึ้นคำโฆษณาว่า "ratebusters" (เรตไม่แพงเลย) เป็นต้น
.
แม้แต่ประโยคที่มาจากหนังก็ยังกลายมาเป็นมีม ประโยคจำที่ดังที่สุดก็คือ "Who you gonna call?" จากเพลงประกอบของเรย์ พาร์คเกอร์ จูเนียร์ ซึ่งยังถูกหยิบมาใช้ในหนังภาคใหม่ๆ จนทุกวันนี้ รวมไปถึงประโยคด้นสดช่วงท้ายเรื่องของ Bill Murray ผู้รับบทเป็นหนึ่งในมือปราบผีด้วย ในฉากนั้นทีมโกสต์บัสเตอร์ต้องรับมือกับปีศาจตนหนึ่งซึ่งมีลักษณะกึ่งชายกึ่งหญิงโดยใช้อาวุธประจำกายอย่างปืนชาร์จพลังนิวเคลียร์ในการต่อกร ในสคริปต์เมอร์เรย์ต้องพูดประโยคนี้ว่า "Okay. That's it! I'm gonna turn this guy into toast." (โอเค ได้เลย! ฉันจะทำให้ไอ้หมอนี่กลายเป็นขนมปังปิ้งซะ!) แต่ในหนังที่ออกฉาย เราจะได้ยินเขาพูดว่า "All right. This chick is toast." (เอาละ ยัยนี่ต้องโดนย่าง!) ...ซึ่งว่ากันว่านี่คือจุดกำเนิดของการใช้คำว่า "toast" ในแง่ศัพท์แสลงที่หมายถึงการ 'ปิดจ็อบ' หรือการทำลายให้สิ้นซาก เลยทีเดียว
.
น่าทึ่งอยู่ไม่น้อยใช่มั้ยครับที่หนังเรื่องหนึ่งสามารถสร้างความยิ่งใหญ่จากกระแสความนิยมและส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างได้มากขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเกิดขึ้นในยุคอนาล็อกที่การเชื่อมโลกยังไม่รวดเร็วทันตาเห็นเหมือนอย่างในปัจจุบัน ลองนึกเล่นๆ ว่าถ้ายุคดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ มีหนังซักเรื่องที่โผล่ขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์เขย่าโลกชนิดที่ว่า ‘ทำถึง’ ในทุกๆ แง่มุมเหมือนอย่างที่ Ghostbusters เคยทำได้ คงเป็นอะไรที่มหัศจรรย์น่าดูมากๆ เลย …ว่ามั้ยครับ
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
Comments