top of page

Anora หนึ่งในตัวละครหญิงที่ ‘เจ็บปวด’ ที่สุด จากออสการ์ 2025

รูปภาพนักเขียน: เจนจิรา หาวิทย์เจนจิรา หาวิทย์

อัปเดตเมื่อ 12 มี.ค.



ผู้ไม่เคยได้รับความรัก มักจะเข้าใจผิดไปว่าหลายสิ่งคือ ‘ความรัก’ คิดว่าความหึงหวง หมายถึงรัก คิดว่าการทุบตีทำร้าย คือความรัก คิดว่าการต้องวิ่งไล่ตามใครสักคนคือความรัก เพราะพวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าแท้จริงแล้วความรักที่ดีหน้าตาเป็นเช่นไร

.

วันนี้ The Showhopper ในคอลัมน์ Mind-Craft ขอหยิบยกเรื่องราวเบื้องลึกในจิตใจของตัวละครนำหญิง จาก ‘Anora’ ผลงานกำกับชิ้นสำคัญโดย Sean Baker เจ้าของ 5 รางวัลใหญ่จากเวทีตุ๊กตาทอง (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และ การตัดต่อยอดเยี่ยม) มาพูดถึงกัน..

.

ความจริงผู้เขียนเฝ้ารอจังหวะเหมาะๆ ที่จะเขียนถึงเธอมานานหลังจากได้รับชม เพราะฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำเราน้ำตาไหลพราก นั่งสะอื้นต่อไปหลายนาทีแม้จอจะเฟดเป็นภาพสีดำสนิทไปแล้วก็ตาม เป็นการร่ำไห้ให้กับตัวละครหญิงที่แหลกสลายและเจ็บปวดสาหัส.. เราสงสารเธอจริงๆ ‘อโนรา’

.

มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญจากภาพยนตร์

.

สาเหตุที่ ‘ความเจ็บปวด’ ของอโนรากระแทกใจสร้างอิมแพคกับผู้ชมทั่วโลกได้จนคว้ารางวัลมาได้ ไม่ใช่การสาดซีนดราม่า หรือมุมมองการเป็นเหยื่อของอโนรา (แสดงโดย Mikey Madison) เข้ามาในหนังแบบอึกทึก แต่กลับเป็นการโชว์ด้าน ‘นักสู้’ ของเธอออกมาตลอดทั้งเรื่องต่างหาก และไม่ใช่การเปลี่ยนอารมณ์เป็นช่วงๆ ตามแบบแผนที่คุ้นชิน เช่น การเปิดด้วยความคอเมดี้ ทยอยหย่อนปมปัญหา แล้วระเบิดดราม่าตอนท้าย ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่นจับเราไปอยู่ในสถานการณ์สุดวุ่นวายของกลุ่มคนใจดีที่ฝืนจะเป็นแก๊งค์มาเฟียไล่ตามหาคุณหนูใจแตกไปทั่วอเมริกา กลุ่มคนที่สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง คาแรคเตอร์ต่างกันสุดขีด กับแม่สาวอโนราผู้มีหมุดหมายเดียวคือการอัพเกรดชีวิตเป็นสะใภ้รัสเซียเติมเต็มฝัน Fairytale ให้เป็นจริง (และพร้อมต่อยหน้า กัดหูทุกคนที่พยายามขัดขวางนาง)

.

ผู้ชมถูกพาเดินทางไปกับตัวละครยาวนาน ‘ทั้งเรื่อง’ ทั้งขำ ทั้งโมโห กับความมุทะลุของอโนรา โดยเฉพาะการปิดหูปิดตาพยายามจะเชื่อว่าหนุ่มน้อย ‘อีวาน’ (แสดงโดย Mark Eydelshteyn) รักจริงหวังแต่ง ชนิดที่ว่า โห! เจ๊ผ่านชีวิตมาขนาดนี้ เจ๊ยังดูไม่ออกอีกหรือว่าโดนเด็กหลอก!!? ..เป็นความอินประมาณนั้น ความอินที่ส่งให้เราเข้าใจตัวละครผิดไปในตอนต้น จนได้มาถึงบางอ้อในช่วงไม่กี่นาทีในฉากสุดท้ายว่าตัวละครหญิงคนนี้แบกโลกทั้งใบไว้บนบ่าอยู่ตลอดเวลา

.

• ชีวิตของ ‘แอนนี่’ ‘อโนรา’ และความจริงของ Sex Worker

.

‘แอนนี่’ Stage Name ในคลับเปลื้องผ้า ตัวตนอีกด้านของอโนราสาวเชื้อสายรัสเซีย ที่ใช้ชีวิตอยู่ย่านชุมชน ในบรู๊คลิน นิวยอร์ก เลี้ยงชีพด้วยเรือนร่างหากินกับความกระหายของเหล่าท่านชายที่ชอบดูถูกหญิงค้าบริการแต่ก็ยังไม่มิวายจ่ายเงินให้พวกเธออยู่อย่างนั้น แลกกับความเร้าใจสุดแฟนตาซีที่หาไม่ได้ในโลกนอกคลับ อโนราในร่างแอนนี่เลยเป็นสาวนุ่งน้อยห่มน้อย พูดจาด้วยน้ำเสียงชวนสยิว ไม่เหนียมอายที่จะลูบไล้ลูกค้าพร้อมพูดชมว่าพวกเขาคือชายที่วิเศษที่สุดเท่าที่เธอเคยเจอ เสนอขายทุกสิ่งที่เธอจะทำให้พวกเขามีความสุขได้และฉลาดพอจะเอาตัวรอดจากลูกค้าประหลาดๆ แต่เมื่อถึงเวลาเลิกงานเธอกลับพลางร่างกายไว้ภายใต้เสื้อผ้าหลวมโคร่ง ปกปิดทุกส่วน เดินเอามือกอดอกไว้แน่นด้วยความหวาดกลัวตลอดทางกลับบ้าน เธอไม่อยากให้ใครสัมผัส แตะต้อง ไม่ทั้งทางร่างกาย สายตา หรือแม้แต่ความคิดน่าแขยงของพวกผู้ชายที่เธอรับรู้ได้เสมอ

.

ส่วนตัวตนอโนรา เธอเป็นเพียงหญิงสาวที่เติบโตมาในครอบครัวที่แตกสลาย ไร้พ่อและแม่คอยชี้นำหรือโอบกอด ใช้ชีวิตอยู่กับพี่สาวก็แค่เพื่อหารค่าเช่าที่ซุกหัวนอน ความสุขของชีวิตถูกโลมเลียไปจนหมดสิ้น ไม่คาดหวังความสวยงามอะไรอีกแล้ว ทุกวันของอโนรามีแต่การต้องสู้ แย่งลูกค้ากับสาวๆ คนอื่นในคลับ จ่ายเงินค่าทำผม ทำเล็บ และพยายามชอบเงาสะท้อนของตัวเองในกระจก จนกระทั่ง ‘อีวาน’ มามอบสิ่งที่คล้ายๆ กับ ‘ความหวัง’ ให้เธอเป็นครั้งแรก ด้วยแหวนแค่วงเดียว..

.

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้ยอดเยี่ยม คือการที่ฌอน นำเสนอชีวิต Sex Worker อย่างเป็นจริง อย่างที่ไมกี้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ W MAGAZINE ว่าผู้กำกับของเธอมักจะค้นเจอ ‘แสงสว่าง’ ในพื้นที่ดำมืดได้เสมอ เขาใส่มุขตลกและความสนุกลงไปในชีวิตของพวกเธอ ว่าคลับเปลื้องผ้าแท้จริงแล้วไม่ต่างจากออฟฟิศ และงานค้าบริการก็เป็นอาชีพปกติไม่ต่างจากงานอื่น พวกเธอมีเพื่อนร่วมงานที่ซี้กัน มีคนที่เหม็นหน้า มีหัวหน้าที่ไม่เลวร้ายจนเกินไป มีการ์ดที่คอยไล่ลูกค้าพฤติกรรมทรามออกไปทันทีเพื่อปกป้องสาวๆ บทสนทนาของพวกเธอก็สุดแสนธรรมดาเหมือนเราทุกคน พูดเรื่องแผนวันหยุด ความเหนื่อยล้าจากงาน เมาท์มอยลูกค้าแปลกๆ แชร์ความฝันกันปกติ

.

ความปกตินี้เองคือการมอบคุณค่าและสร้างมุมมองที่เท่าเทียมให้กับผู้ชม แต่เป็นสิ่งที่ตัวละครไม่เคยได้รับตลอดเรื่อง เพราะคำว่า ‘หญิงค้าบริการ’ มันถูกแปะไว้บนหน้าผากของอโนรา โดยสังคมที่เธออยู่

.

• อโนราไม่เคยเป็น ‘คนโง่งม’ เลยแม้แต่วินาทีเดียว

.

“She’s looking for her fairytale. He just wants a happy ending.” นี่คือคำโปรยบนโปสเตอร์เวอร์ชันหนึ่งของภาพยนตร์ ที่สรุปทุกอย่างไว้ชัดเจน

.

ความจริงมีวลีที่ผู้หญิงหลายคนพูดกันในโลกอินเทอร์เน็ต ว่า “หากฉากที่เจ้าหญิงกับเจ้าชายจบบริบูรณ์คือฉากแต่งงาน ชีวิตหลังจากนั้นแหล่ะคือนรกของจริง” ซึ่งสะท้อนสิ่งเดียวกันกับชะตาชีวิตของอโนรา ที่หลังจากแต่งงานได้ไม่ถึงสัปดาห์เธอก็ต้องเดินเท้า ขึ้นรถลงเรือต่อเครื่องบินตามหาเจ้าชายเด็กน้อยของเธอเหมือนผีบ้า เพราะหวาดกลัวว่าภาพฝันจะหลุดลอยหายไป จนเป็นไปอย่างที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ในย่อหน้าก่อนๆ ว่าความดื้อรั้นของเธอทำคนดูโมโห และเข้าใจไปว่าเธอโง่งมงายคิดว่าลูกค้าหนุ่มคนนี้จะรักจริง พอมาถึงตอนท้ายของเรื่องหลังจากเธอด่าแสกหน้าทุกคนและเซ็นใบหย่าอย่างเต็มใจ มาจนถึงซีนสุดสะเทือนอารมณ์ตอนท้าย เราก็ได้เห็นว่า เธอเข้าใจทุกอย่างมาตลอด เธอรู้ว่าผู้ชายคนนี้ยังเด็กเกินไป แค่รักสนุก รู้สถานะของเธอในสายตาของทุกคน แต่เธอแค่มีความสุขที่ได้ ‘เชื่อ’ ว่าชีวิตของเธอจะโชคดีเหมือนเจ้าหญิงในเทพนิยาย ที่มีเจ้าชายขี่ม้าขาวมาเปลี่ยนความเลวร้ายทั้งหมดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในชั่วข้ามคืน ความเชื่อที่เด็กสาวทั้งโลกถูกยัดใส่หัวมาตลอดชีวิต ต่อให้จะแข็งแกร่ง ต่อสู้ชีวิตด้วยตัวเองมาแค่ไหน ก็ยังมีหวังกับสิ่งนี้

.

ส่วนเรื่องที่เธอเลือกจะ ‘ไม่เชื่อ’ เลย กลับเป็นความรักที่บริสุทธิ์และจริงใจจาก ‘อิกอร์’ (แสดงโดย Yuriy Borisov) แม้จะเห็นมันอยู่ตรงหน้า แต่เธอกลับหวาดกลัวว่านี่จะเป็นความรักจริงๆ ทำไมเขาถึงให้เกียรติเธอขนาดนั้น เธอสับสนจนถึงขั้นใส่ร้ายป้ายสีว่าเขาอาจจะรอโอกาสที่เธอหลับ วางยาเธอ หรือไม่เขาก็แค่เป็นเกย์ ถึงไม่อยากจะขืนใจเธอเหมือนชายคนอื่น ผู้ชายประเภทที่เธอเจอมาตลอดชีวิต สิ่งนี้ทำให้เห็นชัดเลยว่า เมื่อหญิงสาวคนนึงถูกชีวิตโบยตีมาจนชินชา สิ่งเลวทรามทั้งหมดกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ความปกติสุขแท้จริงของชีวิต ชายคนนึงที่ชอบตัวตนหลังเลิกงานของเธอ มองเธอด้วยแววตาอบอุ่น ชื่นชมการต่อสู้ของเธอ กลับกลายเป็นสิ่งที่เธอคิดว่าตนไม่คู่ควร

.

และน้ำตาของอโนราในฉากนั้น ก็ทำให้เราดีใจกับทุกรางวัลที่หนังเรื่องนี้ได้รับ

.

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

.

.

Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page