top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

Carpe Diem!' และ 'Revolting Children' เมื่อการยืนบนโต๊ะ = อิสรภาพ

อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2567




ณ โรงเรียนประถม Crunchem Hall ‘ครูทรันช์บูล’ รู้สึกโกรธเกรี้ยวไร้เหตุผลที่นักเรียนสามารถสะกดคำตามคำสอนของ ‘ครูฮันนี่’ ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เธอเดินงุ่นง่านคิดโจทย์คำศัพท์ที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาเพื่อจะระบายอารมณ์กับใครสักคนที่ทำผิด จับพวกเขาไปขังไว้ในห้องโชกี้ เพราะ ‘ความปกติสุข’ ของโลกใบนี้สร้างความรำคาญใจให้เธอจนมิอาจทานทนได้


แล้วในที่สุดก็มีคนสะกดผิด..


แล้วอีกคนก็เลือกที่จะสะกดผิดเช่นกัน อีกคน และอีกคน..


เด็กๆ ค่อยก้าวขึ้นมาบนโต๊ะนักเรียนด้วยฝ่าเท้า กำลังขา และจิตใจที่มั่นคงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนทั้งในโรงเรียนและต่อหน้าครูใหญ่บ้าอำนาจคนนี้ เสียงกระทืบเท้าเป็นจังหวะดังขึ้น..


“We'll be revolting children


'Til our revolting's done


And we'll have the Trunchbull bolting


We're revolting!”


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางเพจ The Showhopper ได้โอกาสไปชมละครเวทีเรื่อง “Matilda The Musical” ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของผู้เขียนกับการได้ชมละครเรื่องนี้แบบสดๆ หลังตกหลุมรักมันมาหลายครั้งทั้งจากหนังสือของ Roald Dahl ภาพยนตร์ในปี 1996 โดย Danny DeVito มาจนเวอร์ชันภาพยนตร์มิวสิคัล Netflix Originals ของ Matthew Warchus ในปี 2022 เรียกได้ว่าไม่ว่าเรื่องนี้จะถูกผลิตออกมากี่ครั้งเราก็จะต้องหามาดูให้ได้ เพราะเรื่องราวของเด็กๆ เหล่านี้ทรงพลังกับจิตใจผู้ใหญ่ที่เริ่มเติบโตไปตามเบ้าหลอมของสังคมและกฏเกณฑ์ไม่ต่างจากเหล่านักเรียน Crunchem Hall ก่อนได้พบมาทิลดา ทุกครั้งที่ได้ดูงานเรื่องนี้มันจะสร้างความรู้สึกแห่งความหวัง เติมเชื้อเพลิงในใจได้เสมอ ยิ่งพอมาเป็นการได้ชมการแสดงสดแล้ว พลังทั้งหมดส่งผ่านเรื่องราวและบทเพลงมาถึงผู้ชมแบบคูณสิบคูณร้อยเข้าไปอีก


ยิ่งพอมาถึงฉากเพลง “Revolting Children” จุดพีกของเรื่องที่เด็กๆ เลือกจะยืนหยัดค้านแย้งความอยุติธรรมในโรงเรียนยิ่งทรงพลัง ทั้งเสียงกระทืบเท้าเต็มแรงและการร้องเพลงแบบสุดปอดของนักแสดงตัวน้อย ประกอบกับเทคนิค แสง สี เสียง ส่งให้คนดูต้องโยกหัว ปรบมือตามจังหวะเพลงไปด้วยอย่างพร้อมเพรียง ซึ่ง ณ ฉากนั้น ทำให้เราย้อนนึกถึงฉากจากภาพยนตร์เรื่อง “Dead Poets Society (1989)” โดย Peter Weir ขึ้นมา เป็นเรื่องราวของ ‘จอห์น คีตติ้ง’ ครูวิชาบทกวีที่เพิ่งย้ายเข้าไปในโรงเรียนประจำชาย Welton Academy โดยเขาได้พาเอาความงามของศิลปะและวรรณกรรมเข้าไปเปลี่ยนแปลงความคิดของเหล่านักเรียนที่นั่น พาให้นักเรียนกล้าทลายกรอบเดิมๆ ในชีวิตของตัวเองเช่นเดียวกัน และฉากจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นฉากนักเรียนก้าวขึ้นไปยืนบนโต๊ะอีกด้วย


“นักเรียนคิดว่าครูขึ้นมายืนบนนี้ทำไม?”


“คุณอยากตัวสูงขึ้น?”


“ไม่ใช่ ครูยืนบนโต๊ะเพื่อย้ำเตือนตัวเอง ให้มองทุกสิ่งจากมุมมองที่แตกต่างเสมอ..”


“ต่อให้มันจะดูเพี้ยนหรือผิดแปลก อย่าแคร์ความคิดคนอื่น จงเชื่อความคิดของตัวเอง หาเสียงของตัวเองให้เจอ


‘ครูคีตติ้ง’ ว่า พลางก้าวลงมาจากโต๊ะ แบ่งปันพื้นที่ให้นักเรียนขึ้นมายืนชมทัศนียภาพของห้องเรียนจากบนโต๊ะของเขาบ้าง “อย่าแค่ขึ้นมายืนแล้วก้าวลงไป จงมองไปรอบๆ..” หากเป็นกับสังคมโรงเรียนทั่วไป การทำเช่นนี้อาจหมายถึงการทำลายเส้นกั้นของศิษย์และครูครั้งใหญ่ แต่คีตติ้งไม่คิดเช่นนั้น เขาพร่ำบอก ย้ำเตือนให้เด็กๆ ในคลาสบทกวี ไม่ลืมความวิเศษแห่งเจตจำนงเสรีและอัตตาอันน่าทึ่งของตัวเอง ให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะฉกฉวยช่วงเวลาอันงดงามแห่งชีวิต ดั่งคำกล่าว “Carpe Diem!”


ซึ่งในตอนที่ครูคีตติ้งถูกไล่ออกจากโรงเรียน เด็กๆ ก็ลุกขึ้นยืนบนโต๊ะอีกครั้งโดยไม่ฟังคำคัดค้านของครูวิชาบทกวีคนใหม่ เพื่อบอกลาคีตติ้ง ว่าเขาจะเป็นครูที่นักเรียนจดจำตลอดไป



ซึ่งหากลูกเพจ The Showhopper สนใจผลงานทั้งสองเรื่องนี้ ก็สามารถหาดูกันได้แล้วแบบสองช่องทางสองสไตล์ กับ “Dead Poets Society” ทาง Disney+ Hotstar และ “Matilda The Musical” ที่เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ที่ขนโปรดักชันจากเกาะอังกฤษ มาให้ชมแบบจุใจ เต็มตา ใน International Tour ครั้งนี้ โดยการร่วมมือกันของ Tero Scenario, GWB Entertainment และ Royal Shakespeare Compan


รอบการแสดง: 27 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม


สำรองที่นั่งทาง: https://www.thaiticketmajor.com/.../matilda-the-musical.html


เป็นการแสดงที่คนรักมิวสิคัลต้องได้ดูสักครั้งในชีวิต หรือถ้าใครที่ไม่เคยและอยากลองชิมงานละครเพลงดูสักครั้ง เรื่องนี้จะไม่ทำให้คุณผิดหวังแน่นอน!


เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์



ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page