top of page

‘Emilia Pérez’ หนังเพลงสุดทะเยอทะยาน เข้าชิงออสการ์ 13 สาขา แต่ผู้ชมเห็นต่างสุดขั้ว!

รูปภาพนักเขียน: EGOT Talking ClubEGOT Talking Club


จะเป็นอย่างไร? หากว่าพ่อค้ายาเสพติดตัวท็อประดับประเทศ ผู้มีทรัพย์สินเงินทอง ลูกเมีย อำนาจบาตรใหญ่ ศัตรูรอบด้าน และภาพลักษณ์อันดุดันดิบเถื่อนที่สุด อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการหันหลังให้เส้นทางอันตรายนี้ แล้วเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้หญิงแบบหมดจดเพื่อขานรับสิ่งที่หัวใจโหยหามาตลอดชีวิต

.

นี่คือพล็อตแหวกแนวสุดจี๊ดของ Emilia Pérez หนังภาษาสเปนรสชาติแปลกประหลาดท้าทายคนดู ที่คลุกเคล้าทั้งความเป็นหนังดราม่า ตลกร้าย อาชญากรรม โรแมนติก LGBTQ+ ไปจนถึงตีแผ่สังคมด้านมืดของประเทศเม็กซิโก แถมเล่าเป็นมิวสิคัล!!! และล่าสุดกลายเป็นผลงานที่เข้าชิงออสการ์สูงสุดประจำปีนี้ถึง 13 สาขา หนึ่งในนั้นคือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

.

ผู้กำกับเรื่องนี้คือ Jacques Audiard ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องลายเซ็นเฉพาะตัวอันโดดเด่นในงานของเขา ยกตัวอย่างเช่น ความสมจริงแบบดิบๆ ความซับซ้อนในตัวละครที่มีมิติมากมายให้สำรวจ การใช้ storytelling ที่มีลูกเล่นหวือหวาแพรวพราว หรือการใช้เรื่องราวเป็นสื่อกลางในการวิพากษ์สังคมร่วมสมัย …แน่นอนทุกสิ่งที่ว่ามานี้มีให้เห็นใน Emilia Pérez ทั้งหมด

.

อยากให้ทุกคนลองนึกภาพหม้อทำอาหารใบใหญ่ที่เราเอาลายเซ็นทุกอย่างข้างต้นนั้นโยนลงไปเคี่ยวผสมกัน เพิ่มความสร้างสรรค์เข้าไปอีกนิดด้วยการโยนประเด็นที่ดูไม่น่าจะเข้ากันได้หลายๆ อย่างลงไปด้วย จากนั้นก็เหยาะความกล้าบ้าบิ่นเป็นบทเพลงไม่จำกัดแนวดนตรีลงไปเป็นเครื่องปรุง ‘มิวสิคัล’ …ขวดนี้แนวนั้น ขวดนั้นแนวนี้ เหยาะๆ เทๆ ลงไป เอาให้มันมีหมดครบทุกรสชาติ

.

ถ้าทำออกมาอร่อยกลมกล่อม หม้อนั้นจะกลายเป็นเมนูจึ้งๆ ที่ถูกกล่าวถึงไปอีกนานแสนนาน แต่หากผลลัพธ์มันออกมาตรงกันข้ามล่ะ…

.

การพยายามสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ ให้กับภาพยนตร์สักเรื่องอย่างที่ Emilia Pérez ทำนั้น นับเป็นความทะเยอทะยานที่น่าตื่นเต้นและน่ายกย่องมาก โดดเด่นดึงความสนใจที่สุดก็คือการผนวกเอาความเป็น Integrated Musical เข้าไปในหนังที่ดูไม่น่าเป็นมิวสิคัลได้เลยเช่นนี้

.

[ Integrated Musical คือหนังมิวสิคัลที่บทเพลงถูกถ่ายทอดโดยให้กลืนไปกับแอ็กชันต่างๆ หรือวิถีชีวิตของตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น The Sound of Music, Chicago, The Phantom of the Opera ]

.

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวหลังการรับชมของผู้เขียน ดูเหมือนจะเป็นส่วนมิวสิคัลนี่เองที่น่าจะเป็นปัญหาที่สุดของหนังเรื่องนี้ และสาเหตุก็ไม่ใช่เพราะว่าประเด็นขึงขังจริงจังที่หนังอยากถ่ายทอดนั้นไม่สามารถเล่าแบบมิวสิคัลได้ เพราะมิวสิคัลที่จับประเด็นหนักๆ ดาร์คๆ แต่ทำออกมาได้ดีก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว เช่น Les Misérables, Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street หรือ Rent …เอาเป็นว่า ‘ความเป็นมิวสิคัล’ ไม่ใช่แพะที่ต้องมารับกรรม ณ จุดนี้

.

แต่สาเหตุก็คือ แม้ว่าจะเล่าด้วยเพลง แต่บทเพลงยังไม่สามารถช่วยขยายความสำคัญ หรือเพิ่มน้ำหนักให้กับประเด็นที่เพลงอยากนำเสนอได้มากพอ ทั้งๆ ที่ประเด็นที่หลายๆ เพลงวางโฟกัสไว้นั้น เป็นประเด็นที่แข็งแรง และเมสเสจของมันสามารถถูกกระทุ้งได้ด้วยการใช้พลานุภาพของบทเพลงอยู่แล้ว

.

ในขณะเดียวกันก็มีบางเพลงด้วยที่รู้สึกว่าโผล่มาแบบผิดที่ผิดเวลา จนอดคิดไม่ได้ว่า หากโมเมนต์เหล่านั้นไม่ต้องเล่าด้วยเสียงเพลงแต่แรกคงจะเข้าท่ากว่านี้มากมาย และไม่ดูเหมือนกำลังพยายามยัดเยียดวิธีเล่าให้มันดูคูลดูเก๋เข้าว่า โดยการใช้เพลงเป็นเครื่องมือแบบนี้

.

ดังนั้นแล้วบทเพลงส่วนใหญ่ในเรื่องนี้จึงมอบความรู้สึก ‘ตื้นเขิน’ มากกว่าจะ ‘น่าจดจำ’ อย่างที่ควรจะเป็น จนเหมือนว่าถ้าอย่างนั้นแล้ว การไม่ต้องเล่าแบบมิวสิคัลไปเลย อาจจะเป็นหนทางที่น่าสนใจกว่าก็เป็นได้

.

ที่หนักข้อขึ้นไปอีกคือ หลายเพลงขาดความสละสลวยในเมโลดี้ (โอเค เราจะไม่พูดถึงสัมผัสคล้องจองในคำร้อง เพราะฟังภาษาสเปนไม่ออกเหมือนกัน) สิ่งที่ได้ยินคือ มันเป็นเพลงแข็งๆ โน้ตฝืนๆ ซาวด์ค่อนข้างพ้นสมัย ที่แม้จะพยายามเข้าใจว่าเป็นการดีไซน์จากผู้ประพันธ์เพลงแล้ว แต่ก็ต้องขอสารภาพตามตรงว่ามันฟังดูน่าอึดอัดมากๆ เลยทีเดียว เหมือนเป็นเพลงที่ยิ่งฟังก็ยิ่งผลักให้ผู้ชมอยากถอยห่างจากความเป็นมิวสิคัลของมันมากขึ้นไปอีก

.

ในต่างประเทศ เพลง “La Vaginoplastia” ซึ่งร้องเป็นภาษาอังกฤษ และปรากฏอยู่ในช่วงต้นของหนัง กลายเป็นไวรัลวิพากษ์วิจารณ์ว่อนโลกอินเทอร์เน็ตถึงความแปลกประหลาดของมัน มีทั้งเนื้อร้องที่ฟังแล้วรู้สึก ‘อิหยังวะ’ และความสัมพันธ์ของแต่ละพยางค์กับโน้ตดนตรีที่ดูฝืนดูขัดไปหมด (แถมต้องบอกว่า เสียงร้องของผู้ที่แสดงเป็นหมอในห้องผ่าตัดก็คือ ‘ไม่ได้เลย เขาร้องเพลงไม่ด้ายยยย’)

.

เพลงนี้เป็นเพลงที่ตัวละคร “Rita Mora Castro” (Zoe Saldaña) ทนายสาว (ของมาเฟียพ่อค้ายาผู้ที่อยากแปลงเพศ) ซึ่งเดินทางมาพบปะทีมแพทย์ศัลยกรรมที่กรุงเทพ ได้ร้องขึ้นเพื่อสอบถามถึงกระบวนการผ่าตัดที่เธอจะต้องเก็บข้อมูลกลับไป

.

RITA: Hello, very nice to meet you / I'd like to know about… sex change operation

DOCTOR: I see, I see, I see / Man to woman or woman to man?

RITA: Man to woman

DOCTOR: From penis to vagina

.

แน่นอนว่าเพลงนี้ถูกเอาไปแซวกันเกลื่อนโลกโซเชียล กลายเป็นมีมสนุกสนาน (และตอนนี้ก็ผ่านหูผู้เขียนบ่อยมาก earworm เข้าไปจนเกือบจะรู้สึกว่ามันเพราะแล้ว😆) …ในหนังยังมีเพลงอื่นๆ อีกที่ให้ความรู้สึกแปลกประหลาดแบบนี้เหมือนกัน เรียกว่ารู้สึกได้ตั้งแต่ยังไม่ทันตีความเมสเสจของเพลงนั้นๆ เลย เอาแค่ซาวด์เพลง กับเมโลดี้ แค่นี้ก็ต้องมีขมวดคิ้วกันบ้างแล้ว

.

ความที่หนังพยายามเล่นกับประเด็นร้อนแรงที่เป็นที่สนใจของคนยุคนี้หลายอย่าง อาทิ ความลื่นไหลทางเพศ, เสรีภาพของผู้หญิง, อาชญากรรมและการอุ้มหาย, คอรัปชัน, กระบวนการยุติธรรม, การเอาตัวรอดในเมืองใหญ่ ฯลฯ ผสมผสานเข้าไปกับธีมอย่างเช่น ความโรแมนติก เรื่องหึงหวงเชิงชู้สาว ศีลธรรมถูกผิดในใจ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้มันมีความ cinematic มากขึ้น ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้หนังไม่สามารถลงดีเทลในแต่ละหัวข้อได้ดีพอ (เพราะคิดจะเล่าทุกประเด็น แถมต้องเป็นเพลงด้วย)

.

มันเลยเหมือนเรากำลังดูแต่ละประเด็นเป็นชิ้นๆ ก้อนๆ แยกจากกัน ไม่แนบเนียน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ชมอินกับหนังได้ยากอยู่สักหน่อย พอไม่อินแล้วก็ไม่รู้สึก ‘ให้ใจ’ กับตัวละครไหนเลย

.

ยิ่งพอเจอความตื้นเขินของบทเพลงเข้าไปอีก เลยกลายเป็นว่าทุกอย่างคือการเล่าผ่านๆ ลอยๆ ไม่เน้นน้ำหนักให้ประเด็นไหนทั้งสิ้น …ส่วนที่น่าจะเห็นใจ เราจึงไม่เห็นใจ …ส่วนที่น่าจะกินใจ เราก็ไม่รู้สึก …ส่วนที่น่าจะเข้าอกเข้าใจ เราเลยไม่อินด้วย

.

หรือจะมองหาความลงตัวในนัมเบอร์มิวสิคัลสักหน่อย ก็ยังควานหาได้ยากพอตัว นัมเบอร์ที่พอถูไถไปได้ เห็นจะเป็น “Lady” ซึ่งเป็นฉากที่ริต้าร้องดูเอทกับหมอผู้ดูแลเคสเพื่อจะโน้มน้าวให้เขาตกลงรับงานผ่าตัดแปลงเพศ กับฉากว่าที่เพลง (ที่อาจ) ชนะออสการ์อย่าง “El Mal” ซึ่งเป็นฉากในจินตนาการที่งานเลี้ยง ซึ่งริต้าร้องเพลงถึงมนุษย์คอรัปชันทั้งหลายในวงสังคม

.

การแสดงของสามนักแสดงหลัก มีเพียง Zoe Saldaña กับ Selena Gomez เท่านั้นที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นการแสดงที่น่าสนใจและคู่ควรเพียงพอหากจะใส่คำขยายให้ว่า “Oscar-worthy performances” แต่ก็น่าเสียดายที่จากสองคนข้างต้นนี้มีเพียงซัลดาญาเท่านั้นที่ไปถึงออสการ์ (เธอเป็นตัวเก็งผู้ชนะอยู่ในขณะนี้ด้วย)

.

ส่วน Karla Sofía Gascón ในบทพ่อค้ายาที่ต่อมากลายเป็น ‘เอมิเลีย เปเรซ’ เจ้าของชื่อเรื่องนั้น ผู้เขียนไม่รู้สึกว่านี่คือการแสดงระดับที่ควรจะได้เข้าชิงรางวัลใดๆ เลย (ถ้าจะได้ชิง อย่างน้อยต้องดีงามนำมาก่อนด้วยการแสดงและความน่าสนใจของตัวละคร ส่วนปัจจัยอื่นเป็นรอง) ดังนั้นการที่ชื่อเธอชิงรางวัลใหญ่ๆ มาทุกเวทีจนในที่สุดมาถึงออสการ์นำหญิง จึงทำให้ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจกับกระแสของหนังเรื่องนี้ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในฮอลลีวูดเป็นอย่างมาก

.

ปกติแล้วสายตาของเวทีรางวัลกับผู้ชมทั่วไป ต่อให้มีทิศทางที่แตกต่างกัน ก็ยังไม่ค่อยรู้สึกว่ามีความห่างกันมากนัก ขยายความจากพฤติกรรมที่เคยเห็นก็คือ หนังเรื่องไหนที่ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ แล้วสุดท้ายไปได้ออสการ์ หากเรามองการเดินทางสู่ออสการ์ของหนังเรื่องนั้นๆ จะพบว่า เวทีอื่นๆ อาจไม่ได้ยกย่องมันมาก่อนหน้านั้นเท่าไหร่เช่นกัน (คล้ายๆ ผู้ชมทั่วไป) แต่เป็นที่ออสการ์เองที่มีมุมมองเชิง politics บางอย่าง และสุดท้ายก็หันเหทิศทางไปตบรางวัลให้กับหนังเรื่องนั้นแทน

.

เอาง่ายๆ คือ ผู้เขียนกำลังจะบอกว่า มันมีแพทเทิร์นที่พอจับได้ว่า ถ้าเรื่องไหนที่ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่ามันยอดเยี่ยมมากนัก วงการก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันยอดเยี่ยมเช่นกัน มีแค่ออสการ์นั่นล่ะที่ฉีกมาให้รางวัลเรื่องนั้นเอง พฤติกรรมนี้น่าจะพออธิบายได้จากชัยชนะของ Crash เหนือ Brokeback Mountain ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปี 2005 และ Green Book เหนือ Roma เมื่อปี 2018

.

แต่กับ Emilia Pérez ในเวลานี้ ดูเหมือนว่ามันกำลังรันทั้งวงการจริงๆ เพราะชิงถล่มทลายในเวทีใหญ่ๆ มาได้ทั้งหมด เหมือนทุกเวทีพร้อมใจกันประกาศความเยี่ยมให้ ทั้งๆ ที่มีกระแสตีกลับมากมายจากผู้ที่ได้ชมแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ประณามกันยาวๆ แบบลงดีเทลถึงความตื้นเขินของหนัง

.

ตั้งแต่การที่ represent คอมมูนิตี้ของ LGBTQ+ ได้อย่างฉาบฉวย เน้นแค่การได้มาซึ่งความ cinematic เท่านั้น ไปจนถึงการถ่ายทอดเรื่องราวการอุ้มหาย และเหยื่อสงครามยาเสพติดในเม็กซิโกอย่างไม่ใส่ใจ (ผู้กำกับซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสเคยให้สัมภาษณ์ว่า ยอมรับว่าไม่ได้ทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับเรื่องราวของเม็กซิโกอย่างจริงจัง) นอกจากนี้ยังโดนถล่มเรื่องการคัดเลือกนักแสดง ที่ไม่ใช้นักแสดงเม็กซิกันแท้ๆ ในบทสำคัญ ขนาดเซเลน่า โกเมซ ยังโดนซัดไปไม่น้อยเกี่ยวกับสำเนียงเม็กซิกันของเธอที่ว่ากันว่าย่ำแย่มาก

.

น่าสนใจว่าการเดินทางสายออสการ์ของ Emilia Pérez นั้นจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เพียงแค่ ‘ความแปลกแหวกแนวกล้าฉีกกรอบ’ เท่านี้ สามารถนิยามให้เป็นความยอดเยี่ยมได้แล้วหรือไม่

.

แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว ในช่วงเวลาที่หนังมิวสิคัลกำลังต้องการการกอบกู้เช่นนี้ (หลายคนคงเคยได้ยินว่าหนังมิวสิคัลหลายเรื่องไม่อยากโปรโมตตัวเองว่าเป็นมิวสิคัลด้วยเหตุผลเชิงธุรกิจ) สิ่งที่น่ากังวลกลับไม่ใช่รางวี่รางวัลที่พูดถึงในย่อหน้าก่อนๆ แต่อย่างใด หากแต่เป็นการที่ Emilia Pérez อาจเป็นตัวการที่ทำให้หนังมิวสิคัลดูแย่ลงในสายตาของคนที่ไม่คุ้นเคยหนังเพลง หรือไล่ตะเพิดคนที่กำลังจะรักหนังเพลงให้หนีไปไกลกว่าเดิมก็เป็นได้ ความหวังที่จะเห็นหนังมิวสิคัลโปรโมตตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจอาจริบหรี่ลงไปอีกไม่น้อยเลยทีเดียว

.

.

เรื่อง: EGOT Talking Club



Kommentare


©2023 by The Showhopper

bottom of page