top of page

Flow (2024) ตัวละครพูดน้อย แต่สื่อสารกับใจผู้ชมได้เสียงดังฟังชัดที่สุด

รูปภาพนักเขียน: Bloomsbury GirlBloomsbury Girl


ออสการ์ปีนี้ ไม่ว่าน้อน “Flow” จะสูญเสียมงให้ “Wild Robot” หรือไม่ แต่น้อนเป็นที่หนึ่งในใจแม่นะคะรู้กกกกก~ 

.

Flow (2024) คือภาพยนตร์แอนิเมชันว่าด้วยเหล่าสัตว์ที่ต้องเอาตัวรอดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในโลกที่ไร้วี่แววมนุษย์ เหลือแค่ร่องรอยของมนุษยชาติทิ้งไว้ประปราย เช่น สิ่งก่อสร้างหรือข้าวของต่างๆ 

.

วันนี้ โชว์ฮอป #ไปดูมาแล้ว แล้วชาวเพจ #ไปดูมายัง จ๊ะ? /ยื่นไมค์ 

.

ในฐานะคนดูหนังที่เสพแนว post-apocalypse มาเยอะ ธีมรองเรื่อง climate change และสัญญะทางคริสต์ศาสนาวับๆ แวมๆ เป็นสิ่งที่เราคาดหวังเอาไว้อยู่แล้วว่าต้องมีบ้าง แต่สิ่งเราไม่คาดคิดว่าจะทำให้ประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ คือมันทำให้เราตระหนักได้ถึงความจริงที่สำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเขียนตัวละครสัตว์ในงานฟิกชัน

.

ข้อแรก คือ เนื้อเรื่องแบบ character-driven ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดไดอะล็อกรุงรัง หรือเสียงความคิดดังเอะอะตลอดเรื่อง นี่คือภาพยนตร์ที่ storyteller สายปลุกปั้นพัฒนาการตัวละครควรไปดูด้วยประการทั้งปวง เขาทำให้เราเห็นไดนามิกที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในตัวของเจ้าแมว และไดนามิกระหว่างตัวละครทุกตัวที่คาแรกเตอร์ชัดม้าก! โดยไม่ต้องมีบทพูดใดๆ คือทำได้ไงก่อนนน

.

ข้อสอง คือ ดูเหมือนว่ายิ่งตัวละครถูกเขียนให้มีความเป็นมนุษย์น้อยลง ชะตากรรมเลวร้ายของพวกมันยิ่งทำงานกับความรู้สึกเรารุนแรงขึ้น

.

เอาง่ายๆ เลยคือ ความตายของมูฟาซาก็เศร้าอยู่หรอก แต่ทำไมไม่เห็นทำเราร้องไห้เป็นเผาเต่าได้เท่าตอนฮะจิโกะไปรอเจ้านายหน้าสถานี ที่แน่ๆ คือไม่ใช่เพราะ The Lion King (1994) เล่าเรื่องไม่ดีเท่า นี่คือบทหนังที่ได้ชื่อว่าเป็นแฮมเล็ตแห่งอาณาจักรสัตว์เชียวนะ เรื่องทำให้ผู้ชมอินไม่เป็นสองรองใครอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ฮะจิโกะได้เปรียบในด้านการกระตุ้นต่อมน้ำตา คือฮะจิโกะถูกเขียนให้มีความเป็นมนุษย์ต่ำกว่า ซึ่งก็หมายความว่าความใสซื่อไม่รู้เดียงสาของมันย่อมถูกขับให้เด่นชัดกว่าซิมบ้าที่นอกจากจะพูดแล้วยังร้องเพลงเป็นวรรคเป็นเวรแน่นอน

.

anthropomorphism หรือมานุษรูปนิยม คือเครื่องมือที่มนุษย์เราใช้ในการเล่าเรื่องที่มีตัวละครเป็นสัตว์มาช้านาน ตั้งแต่นิทานอีสปจนถึงทอมแอนเจอร์รี และแน่นอนว่า Flow เองก็ด้วย

.

ดูเผินๆ เราอาจรู้สึกเหมือนเหล่าสัตว์ถูกเขียนมาให้มีความเป็นสัตว์สูงทีเดียว เพราะนอกจากจะใช้สัตว์ชนิดนั้นจริงๆ มาพากย์เสียง (ยกเว้นคาปิบาราที่เสียงจริงแหลมหลุดคาไปหน่อย เลยใช้ลูกอูฐแทน) และออกแบบการเคลื่อนไหวจากการศึกษาสัตว์ตัวจริงมาอย่างละเอียด

.

แต่ถ้าลองพิจารณาดูดีๆ ก็จะเห็นว่า ทั้งเจ้าแมวขี้ระแวง โกลเดนจอมคึก คาปิบาราผู้เจนโลก ลีเมอร์นักสะสม และนกเลขานุการสุดซึน ต่างมีระดับสติปัญญาและความซับซ้อนทางอารมณ์สูงพอจะเข้าใจคอนเซปต์ที่มีความเป็นมนุษย์อย่างการตอบแทนบุญคุณ การปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้อวัจนภาษาบางอย่างในแบบของมนุษย์อีกด้วย

.

เพราะเหตุนี้ เรื่องราวของแก๊งสัตว์จึงทำงานกับใจคนดูได้ดีเป็นพิเศษ บทจะระทึกก็ลุ้นจนตัวโก่ง บทจะซึ้งก็น้ำตาซึมจริงไม่สแตนด์อิน บทจะน่ารักก็หวีดก็ฮ๊อบกันจนเหนื่อย และสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะผู้กำกับ กินซ์ ซิลบาโลดิส (Gints Zilbalodis) ไม่ใส่ความเป็นมนุษย์ให้กับสัตว์ในเรื่องเลย แต่เป็นเพราะเขาใส่เข้าไปในระดับที่มันไม่ overpower ความใสซื่อไม่รู้เดียงสาในแบบของสัตว์ต่างหาก เช่นเดียวกับเรื่องราวของฮะจิโกะที่แม้จะมีไอเดียเรื่องความรักและกตัญญูรู้คุณเจ้าของมาครอบไว้ แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่าเจ้าหมาอะคิตะพระเอกของเรื่องไม่ได้รับรู้ถึงความตายในแบบของมนุษย์

.

สุดท้าย ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือธีมหลักเกี่ยวกับความเข้มแข็งแน่นแฟ้นของคอมมิวนิตี และบุคลิกภาพยืดหยุ่น รู้จักปรับตัว ไหลไปตามสถานการณ์หรือเงื่อนไขชีวิตที่เปลี่ยนแปลง เหมือนกับกระแสน้ำตามชื่อเรื่อง ‘Flow’ หรือ ‘Straume’ ในภาษาลัตเวีย

.

สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในยามต้องรับมือกับวิกฤตใหญ่ และเชื่อว่า climate change คงเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ระดับโลกที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารมาถึงผู้ชม และพวกเขาทำได้ยอดเยี่ยมมากจริงๆ

.


เรื่อง: Bloomsbury Girl

.

#TheShowhopper #ไปดูมาแล้ว #Flow #Straume #AnimatedFlim #Movie #Cinema #มีเหมียวมีกันวันสิ้นโลก


Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page