top of page
รูปภาพนักเขียนBloomsbury Girl

Joker : ‘Folie à Deux’ ต่อยอดซับพล็อต 'Parasocial Relationship' สะท้อนโลกวายป่วงในจิตใจคนป่วยด้วยมิวสิคัล



*** SPOILER ALERT: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญจากหนังทั้ง 2 ภาค ***

.

หากยังจำกันได้ ตอนที่ Joker (2019) ดังเป็นพลุแตก ประเด็นที่จับใจผู้คนที่สุดในตอนนั้น คือโลกอันโหดร้ายที่บีบให้คนไม่มีทางสู้ต้องกลายเป็นปีศาจ ปัญหาสังคมและการต่อสู้ระหว่างชนชั้นจึงกลายมาเป็นธีมหลักของเรื่องไปโดยปริยาย แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหนึ่งรายละเอียดเล็กๆ ในหนังที่แม้จะถูกธีมหลักกลบไปบ้าง แต่ยังคงน่าจะสนใจ และถูกนำกลับมาต่อยอดใน Joker: Folie à Deux (2024) นั่นคือแง่มุมที่มีความระทึกขวัญจิตวิทยาเกี่ยวกับ Parasocial Relationship นั่นเอง

.

ย้อนกลับไปในภาคแรก อาร์เธอร์ เฟล็ค (รับบทโดย วาคิน ฟินิกซ์) ตลกหนุ่มตกอับผู้โตมาอย่างโดดเดี่ยวโดยมีแม่เป็นครอบครัวเพียงหนึ่งเดียวเองก็มี Parasocial Relationship หรือความสัมพันธ์กึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม (เรียกง่ายๆ ว่าความสัมพันธ์ข้างเดียว) กับคนดังอยู่ 2 คน ซึ่งต่างก็เป็นเหมือนภาพแทนคนเป็นพ่อ (father figure) ของอาร์เธอร์ด้วยกันทั้งคู่ ได้แก่ ตลกชื่อดัง เมอร์เรย์ แฟรงคลิน (รับบทโดย โรเบิร์ต เดอ นิโร) และเศรษฐี โธมัส เวย์น (รับบทโดย เบร็ตต์ คัลเลน) ซึ่งเป็นพ่อของแบตแมน

.

ในตอนต้นเรื่อง อาร์เธอร์ฝันเฟื่องว่าสักวันเมอร์เรย์กับเขาจะได้พบกัน และความชื่นชอบที่เขามีต่อเมอร์เรย์ รวมถึงความจริงที่ตนใช้ชีวิตทำงานหนักเพื่อนำเงินมาดูแลแม่ที่ป่วยและแก่ชรา จะทำให้เมอร์เรย์ประทับใจในตัวเขาและคิดว่าอยากมีลูกชายเหมือนกับเขาสักคน ในขณะที่สำหรับโธมัส เวย์น แม้ตัวอาร์เธอร์จะไม่ได้ชื่นชอบอะไรในตัวอีกฝ่ายเป็นพิเศษ แต่ชื่อของเวย์นมีบทบาทอยู่ในชีวิตอาร์เธอร์มาโดยตลอด อ้างอิงจากคำพูดของแม่ ..

.

“เขาคือความหวังเดียวของเรา เราเป็นเหมือนครอบครัว เขาจะต้องรับไม่ได้แน่ถ้าเห็นว่าเราสองคนมีความเป็นอยู่แบบนี้”

.

อาร์เธอร์จึงมีภาพจำบางอย่างเกี่ยวกับเวย์นติดอยู่ในหัว ยิ่งเขาเข้าใจผิดไปว่าตนเป็นลูกชายที่เกิดจากเวย์นกับแม่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าโธมัส เวย์น ไม่ได้แคร์ว่าตนจะใช้ชีวิตลำบากอย่างไร อีกทั้งยังไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับตนด้วย อีกตัวตนหนึ่งที่แฝงเร้นอยู่ในตัวเขามาโดยตลอดจึงยิ่งสำแดงฤทธิ์รุนแรง

.

ในภาคต่อ Folie à Deux ที่อาร์เธอร์กลายมาเป็นคนดังเสียเอง เขาถึงได้ลองชิมยารสหวานอมขมกลืนของการมีสายตาคอยจับจ้อง แรกเริ่มก็รู้สึกอบอุ่นและพึงใจที่ได้รู้ว่ามีหญิงสาวจากวอร์ดผู้ป่วยจิตเวช ลี รวมถึงผู้ชุมนุมเทิดทูนบูชาเขา แต่ไปๆ มาๆ เมื่ออาร์เธอร์ได้เริ่มดำดิ่งสำรวจตัวตนและโลกภายในจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มได้รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองต้องการอะไร

.

ฮาร์ลีน “ลี” ควินเซล หรือก็คือ ฮาร์ลี ควินน์ (รับบทโดย เลดี้ กาก้า) ตามการตีความของจักรวาลนี้ เริ่มคลั่งไคล้ในตัวตนของโจ๊กเกอร์จากการได้ดูซีรีส์ดัดแปลงจากชีวิตจริงของอาร์เธอร์ (แม้เธอจะยืนกรานว่าซีรีส์ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม แต่ภายหลัง โซฟี ดูมอนต์ ผู้หญิงที่อาร์เธอร์เคยหลงรักกลับบอกว่ามันเป็นซีรีส์ที่ทำออกมาได้แย่) จึงแฝงตัวเข้ามาในวอร์ดผู้ป่วยเพื่อรอเจอกับอาร์เธอร์โดยเฉพาะ เธอโกหกเขาว่าเติบโตมาในย่านเดียวกับเขา มีครอบครัวที่ยากจน มีพ่อที่ชอบทำร้ายร่างกาย คล้ายกันกับเขา ทั้งที่แท้จริงตัวเองเป็นลูกสาวเศรษฐีที่เรียนจบจิตแพทย์มาโดยตรง

.

แม้จะกังขาในเจตนาของลี แต่สุดท้ายอาร์เธอร์ก็ปล่อยตัวถลำลึกให้ “โจ๊กเกอร์” ได้ออกมาโลดแล่น ตลอดทั้งเรื่องจะมีฉากร้องเพลง ซึ่งเป็นตัวแทนของโลกวายป่วงภายในห้วงความคิดหลงผิดที่เขากับลีมีร่วมกันตามชื่อหนัง Folie à Deux (อาการจิตหลงผิดร่วมกัน เรียกอีกอย่างว่า shared delusional disorder หรือ SDD) แต่เมื่อพบว่าผลกระทบจากการมีอยู่ของโจ๊กเกอร์เลวร้ายดำมืดกว่าที่คิด อาร์เธอร์ก็ตระหนักได้ว่าตนไม่ต้องการจะกลายเป็นโจ๊กเกอร์ อาชญากรก่อการร้ายหัวปฏิวัติผู้ต่อต้านสังคมที่เหลื่อมล้ำไร้ขื่อแปแห่งเมืองก็อตแธม

.

แต่กว่าจะถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว โจ๊กเกอร์ไม่ใช่เพียงตัวตนอีกคนหนึ่ง (alter ego) ภายในใจเขาอีกต่อไป แต่เป็นอุดมการณ์ที่แพร่ระบาดไปสู่จิตใจของคนในสังคม เมื่อโจ๊กเกอร์ตัวต้นแบบยอมแพ้ และทำให้ผู้คนผิดหวัง จุดจบน่าอนาถและจุดกำเนิด “โจ๊กเกอร์ในแบบที่ควรจะเป็น” จึงตามมา

.

นักวิจารณ์และคนดูส่วนใหญ่เดาไปในทิศทางเดียวกันว่า นักโทษหนุ่มที่สังหารอาร์เธอร์ในตอนจบ แล้วกรีดมุมปากตัวเองเป็นแผล Glasgow Smile (ชวนให้นึกถึงโจ๊กเกอร์เวอร์ชันฮีธ เลดเจอร์ ไม่น้อย) อาจเป็นโจ๊กเกอร์ที่จะเติบโตขึ้นไปต่อกรกับแบตแมนในจักรวาลนี้ก็เป็นได้

.

แต่น่าเสียดายที่เราคงไม่มีโอกาสได้ชมเรื่องราวเหล่านั้น เพราะทอดด์ ฟิลลิปส์ ผู้กับกำกับ ยืนยันว่าแฟรนไชส์ Joker ได้ปิดฉากลงแล้ว และจะไม่มีการทำหนังภาคต่อจาก Folie à Deux

.

ที่มา:

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

.

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page