“ฉันว่ามันโคตรเหลวไหลเลย”
.
สมาชิกรายหนึ่งของโบสถ์แลนสดาวน์ (Lansdowne Parish Church) ให้ความเห็นกับสำนักข่าว The Guardian เกี่ยวกับการที่ Poor Things เวอร์ชั่นภาพยนตร์มีฉากหลังเป็นกรุงลอนดอน ลิสบอน และปารีส มิใช่นครกลาสโกว์อย่างในนิยายต้นฉบับ โดยโบสถ์แห่งนี้ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่เป็นโบสถ์ประจำเขตวัดใจกลางเมืองกลาสโกว์ และเป็นฉากหลังของเนื้อเรื่องตอนที่ ‘เบลลา แบ็กซเตอร์’ (รับบทโดย Emma Stone) เกือบจะได้แต่งงานกับ ‘แม็กซ์ แม็คแคนเดิลส์’ (รับบทโดย Ramy Youssef) แต่ถูกขัดจังหวะเสียก่อน
.
และแน่นอนว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะนับตั้งแต่ Poor Things เข้าฉายในสหราชอาณาจักร หนังเรื่องนี้ก็ได้นำมาซึ่งประเด็นถกเถียงและกระแสความไม่พอใจระลอกเล็กๆ ในสกอตแลนด์และบนโซเชียลมีเดียมาสักระยะหนึ่ง
.
โดยประเด็นหลักที่ทำให้ชาวสกอตรู้สึกเหมือนถูกปล้นก็คือความจริงที่ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่แสนทรงคุณค่าของสกอตแลนด์ ซึ่งอลาสแดร์ เกรย์ (Alasdair Gray) ผู้เขียนได้ถักทอขึ้นโดยมีบริบทต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับกลาสโกว์อยู่แฝงอยู่แทบจะทุกฝีเข็ม ทว่าในหนัง นอกจากเพียงหมอก็อดวิน แบกซเตอร์ (รับบทโดย Willem Dafoe) ที่พูดด้วยสำเนียงสกอต ก็ไม่เหลือองค์ประกอบใดในหนังที่บอกใบ้ว่าเรื่องราวนี้มีต้นฉบับมาจากนักเขียนสกอตอีกเลย
.
และที่สำคัญที่สุดคือไม่ปรากฏเงาของกลาสโกว์ในหนังแต่อย่างใด
.
โรบิน แม็คกี (Robin McKie) นักเขียนคอลัมน์วิทยาศาสตร์และบรรณาธิการคนดังของ The Observer กล่าวว่า Poor Things ที่ไร้ซึ่งกลาสโกว์ก็ไม่ต่างจาก “The Lord of the Rings ที่ไร้ซึ่งมิดเดิลเอิร์ธ หรือ Titanic ที่ไร้ซึ่งภูเขาน้ำแข็ง”
.
ต้นฉบับ Poor Things นิยายถูกตีพิมพ์ในปี 1992 ในยุคหลังเงามืดภายใต้การปกครองของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) ที่เรียกได้ว่าแทบจะ ‘เปลี่ยนแปลงสกอตแลนด์ไปตลอดกาล’ (ในทางที่ไม่ดีนัก) ในช่วงเวลานั้นคนสกอตจึงกลับมามีความฝันและหวังว่ากลาสโกว์จะกลับไปรุ่งโรจน์เหมือนอดีตในยุควิคตอเรียน กลาสโกว์ซึ่งเป็นเมืองผู้นำด้านอุตสาหกรรมในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเปรียบเหมือน ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ ที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของยุคนี้
.
กลาสโกว์ใน Poor Things จึงล้ำยุค ฉูดฉาด และรุ่งโรจน์ ตามความฝันและความรู้สึกนึกคิดของชาวก็อตยุคนั้น (หากใครนึกภาพไม่ออก ก็คงจะหน้าให้ไวบ์คล้ายๆ กับสีในเวอร์ชันหนังของยอร์กอสอยู่เหมือนกัน)
.
อย่างไรก็ดี เจ้าของคำวิจารณ์เชิงลบและสุ้มเสียงถอนหายใจอย่างผิดหวังกลุ่มนี้ไม่ใช่คนหมู่มากในสังคม หลายคนคิดว่ารากเหง้าหรือหลักแหล่งของเรื่องราวเป็นประเด็นที่ไม่ได้สลักสำคัญเท่ากับหัวใจหลักของมัน
.
Poor Things คือนวนิยายที่วิพากษ์ความหมายของการเป็นมนุษย์และความปากว่าตาขยิบของสังคมชนชั้นสูงอย่างลึกซึ้งและทะลึ่งตึงตัง และภาพยนตร์ของยอร์กอสก็สามารถทำในสิ่งเดียวกันได้สำเร็จไม่ขาดตกบกพร่อง จึงไม่สำคัญว่าเมืองที่ปรากฏในภาพยนตร์จะเป็นเมืองอะไร
.
แม้แต่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของอลาสแดร์ เกรย์ เองก็ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า “ไม่ติดใจอะไรที่ [ยอร์กอส] ลบกลาสโกว์ออกจากนิยายของพ่อ”
.
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธได้ยากว่าตัวตนบางส่วนของ Poor Things รวมถึงตัวตนของเกรย์ซึ่งเป็นผู้เขียน ไม่ได้สูญหายไปเลยแม้แต่น้อยเมื่อลบกลาสโกว์ออกจากสมการ เพราะบ้านเกิดเมืองนอนเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขาเสมอ ถึงขั้นที่ว่าตัวละครตัวหนึ่งในนิยายเรื่อง Lanark ที่เกรย์เขียนขึ้น 10 ปีก่อน Poor Things ยังเคยมีบทพูดที่ว่า
.
“กลาสโกว์เป็นเมืองที่แสนวิเศษ แต่ทำไมเราถึงไม่เคยสังเกตเห็นความงามนี้เลย เพราะไม่มีใครจินตนาการถึงชีวิตในกลาสโกว์ไงล่ะ ลองคิดถึงฟลอเรนซ์ คิดถึงปารีส คิดถึงลอนดอน คิดถึงนิวยอร์กสิ ไม่มีใครที่ไปเยือนเมืองเหล่านี้โดยที่ไม่รู้จัก เพราะพวกเขาเคยไปเมืองนี้มาแล้วตอนชมภาพเขียน อ่านนิยาย อ่านตำราประวัติศาสตร์ และดูหนัง แต่สำหรับเมืองที่ศิลปินไม่วาดไม่เขียนถึงน่ะ แม้แต่คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว ก็จะอาศัยอยู่ในนั้นอย่างไร้จินตนาการ”
.
และเกรย์ก็ได้พยายามแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการวาดและเขียนถึงกลาสโกว์อยู่เสมอ ในแผนที่โลกทางวรรณกรรม กลาสโกว์จึงปรากฏอยู่ในผลงานของเขา
.
คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ หากสิ่งที่สำคัญกว่าเซตติ้งที่ปรากฏในเรื่อง คือเมสเซจของหนังที่สำรวจและจิกกัดมนุษยชาติและสังคมชนชั้นสูงอย่างปราดเปรื่อง ถ้าอย่างนั้นการที่จะเราจะเล่าเรื่องราวนี้และเมสเซจนี้ในเมืองเดิมซึ่งเป็นรากเหง้าของมันจริง ก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคอะไรต่อการเล่าเรื่องหรือเปล่านะ?
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
.
ที่มา:
.
Comments