top of page
รูปภาพนักเขียนBloomsbury Girl

POV: "ถ้าต้องมาสืบคดีที่ไทย" เหตุใด 'บ้านวิกล' และ 'คนประหลาด' ที่พบได้ในบ้านเรากลับเป็นเบาะแสคดีฆาตกรรมในนิยายสืบสวนญี่ปุ่น?



“ที่นี่มีอะไรผิดปกติ.. ทั้งที่มีห้องเดียวแท้ๆ แต่กลับปูกระเบื้องตั้ง 7 ลาย เป็นรหัสลับอะไรหรือเปล่า?”

“เธอคนนั้นเป็นเพื่อนสนิทผู้ตาย แต่ทำไมถึงเรียกอีกฝ่ายว่า ‘อีดอก’ ล่ะ?”

“ผู้ต้องสงสัยพักอยู่คนเดียว แต่กลับสั่งอาหารมาเยอะมากจนน่าสงสัย เหมือนอยู่กัน 3-4 คน หรือว่า..?”

.

 กาลเวลายิ่งผ่านไป คดีปริศนาที่ท้าทายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกที แต่ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว และสำหรับคนไทย ความจริงที่เราอยากบอกให้ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน รวมถึงตัวละครนักสืบชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ รู้หากพวกเขามาสืบคดีที่ไทยก็คือ ปรัชญาชีวิตของคนที่นี่มีอยู่ว่า “แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ” จ้าา

.

แต่เอาจริงๆ ถ้าเราลองมา discuss เรื่องนี้กันอย่างจริงจังโดยตัดความขายขำออกไปสักครู่ คนไทยหลายคนที่เป็นแฟนตัวยงของโคนัน หรือคนที่มีโอกาสได้อ่านนิยาย ‘บ้านวิกล คนประหลาด’ ซึ่งกลับมาเป็นไวรัลหลายต่อหลายครั้ง จนเราอดไม่ได้ที่จะตามไปดูเวอร์ชั่นหนัง จะต้องเคยสงสัยเหมือนกันแน่ๆ ว่าทำไมบางทีไอ้เจ้าสิ่งที่ตัวละครเอกตั้งข้อสงสัยมันกลับดู .. เป็นเรื่องธรรมดาในสายตาของเราจังหว่า

.

การจะตอบคำถามนี้ คงต้องเริ่มจากการอธิบายถึง ‘สำนึกร่วม’ ที่คนญี่ปุ่นมีร่วมกัน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างจีนและเกาหลี สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความเป็นกลุ่มนิยม (Collectivism) สูง หนึ่งคอนเซปต์สำคัญซึ่งหยั่งลึกลงไปถึงชั้นรากฐานของสังคมญี่ปุ่นคือแนวคิด ‘วะ’ (和) มักใช้กันบ่อยๆ ในความหมายว่า ‘แบบญี่ปุ่น’ แต่ตัวคำมีความหมายจริงๆ ว่า ‘กลมกลืน สันติ สงบสุข’ นั่นหมายความว่าสามัคคีปรองดอง ‘เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน’ นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ไม่มีคนญี่ปุ่นคนไหนอยากถูกหาว่าเป็นคนเซาะกร่อนบ่อนทำลาย คนส่วนใหญ่จึงพยายามใช้ชีวิตโดยยึดมั่นตามแบบแผน เพื่อให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

.

แน่นอนล่ะว่าในทุกสังคมย่อมมีคนหัวขบถแฝงอยู่ คงไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนที่จะทำอะไรตามแบบแผนทุกอย่าง แต่แนวคิดนี้มีผลต่อวิธีการคิดและการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นโดยทั่วไปมากกว่าคนไทยเราอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ เช่น

.

- ในวัฒนธรรมองค์กร (เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ตรงต่อเวลา และทำทุกอย่างตามแบบแผน)

- พฤติกรรมบนอินเตอร์เน็ต (การไปรีทวีตของคนญี่ปุ่นสักคนติดกันหลายๆ ทวีต หรือการไปกดติดตามเขากันหลายๆ คนจนยอดฟอลขึ้นเร็วเกินไป อาจทำให้เจ้าของแอคตกใจและกังวลจนบล็อกเราได้)

- การตามเทรนด์แฟชั่น (เวลาคนดังหรืออินฟลูฯ ทำคอนเทนต์ What’s in my bag? หรือ Outfit of the Day พวกเขามักมีรายการไอเทมคล้ายๆ กันไปหมด หรือหากทำคอนเทนต์ House/Room Tour ที่อยู่ของพวกเขาก็จะมีแปลนและสไตล์การตกแต่งคล้ายๆ กัน)

.

ด้วยเหตุนี้ คนญี่ปุ่นจำนวนมากจึงผูกตัวเองเอาไว้กับแพทเทิร์นชีวิตเดิมๆ เหตุผลนั้นง่ายมาก ก็เพราะพลังวิเศษประการสำคัญของแพทเทิร์น คือมันสามารถทำให้เราใช้ชีวิตอย่างสบายใจขึ้น นอกจากจะรู้สึกถึง Sense of Control ของตัวเองแล้ว ยังทำให้ชีวิตง่ายเพราะสามารถเดาทางได้ว่าจะมีเกิดอะไรต่อมาตามลำดับ นอกจากนี้ โครงสร้างต่างๆ และบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคมและสาธารณสุขของญี่ปุ่น ก็ยังถูกออกแบบมาให้เอื้อกับการใช้ชีวิตอย่างมีแบบแผนด้วย

.

และนี่เองคือสาเหตุที่ทำให้เมื่อไรก็ตามที่ผู้ต้องสงสัยทำอะไรผิดแปลก ไม่เข้าพวก หรือนอกกรอบออกไปสักนิด ต่อมเอ๊ะของโคนันก็จะเริ่มทำงานทันที! และยังเป็นสาเหตุที่ ‘อาเมมิยะ’ ยูทูบเบอร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลี้ลับ และ ‘คุริฮาระ’ สถาปนิกมากประสบการณ์ คู่หูจากภาพยนตร์เรื่อง ‘บ้านวิกล คนประหลาด’ มองเห็นความผิดปกติของบ้านจากแค่การอ่านแปลน

.

แม้คนไทยจะมีความเป็นกลุ่มนิยมอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมความเชื่อ แต่ในแง่ของระเบียบวินัยนั้น วัฒนธรรมของเรามีความผ่อนปรนกว่าญี่ปุ่นมากสมควร ทั้งนี้ ปัจจัยทางโครงสร้างเองก็มีผลด้วยนะ..

.

โคนัน: ทำไมคนขับถึงยังต้องโทรมาถามย้ำว่าให้รับที่ไหน ทั้งๆ ที่ลูกค้าก็ปักหมุดในแอปให้ชัดเจนแล้วนี่นา หรือจริงๆ แล้วพวกเขาสมรู้ร่วมคิดกันทำอะไรบางอย่างหรือเปล่า

(คนไทย: แม็ปของแอปมันชอบเพี้ยนเฉยๆ ค้าบ!)

.

โคนัน: คนปกติจำเลขบัตรประชาชนกับรหัสนักศึกษาหลายตัวขนาดนั้นไม่ได้หรอก คนคนนี้มีพิรุธนะ เป็นจอมโจรคิดส์ปลอมตัวมาหรือเปล่า

(คนไทย: ระบบสมาร์ทการ์ดของไทยมันไม่เคยสมาร์ทจริง คนไทยต้องกรอกเองแบบแมนวลบ่อยๆ ก็เลยจำได้จ้า)

.

 ไหนๆ~ มีลูกเพจคนไหนอาศัยอยู่ใน ‘บ้านวิกล’ หรืออาศัยอยู่ร่วมกับ ‘คนประหลาด’ บ้างไหม? หรือหากไม่ใช่ จะมีโอกาสไหมที่..  เราเองเนี่ยแหละคือคนประหลาดคนนั้น!

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

.

ที่มา:

.

.

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page