[มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์]
“มาฮิโตะ เธอจะสานต่องานของฉันใช่ไหม?”
‘The Boy and The Heron’ ผลงานล่าสุดจาก Studio Ghibli แอนิเมชันที่ถูกมองว่าจะเป็นตัวเต็งกวาดรางวัลใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย แล้วก็ไปตามคาดกับรางวัลสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมจากทั้ง New York Critics Circle Award ในช่วงปลายปี 2023 และ The Golden Globe Award ครั้งที่ 64 ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อน กับเสียงวิจารณ์ถึงความละเอียดอ่อนทั้งงานภาพและเนื้อหาที่ลุ่มลึกสมชื่อผู้กำกับขึ้นหิ้งอย่าง Hayao Miyazaki แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปและถูกพูดถึงเป็นอย่างมากคือความเป็น ‘หนังอัตชีวประวัติ (Autobiography)’ ที่เหล่าคอหนังตีความกันออกมาว่าคุณมิยาซากิสอดแทรกเรื่องราวของตัวเองเข้าไปในงานชิ้นนี้แบบชัดเจนและหนักแน่นที่สุด ภายใต้ฉากหน้าที่บอกเล่าเรื่องเด็กชายผู้เสียแม่ไปในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกนกกระสาพูดได้ชักชวนให้เดินทางมายังดินแดนศูนย์กลางแห่งเวลาที่ไม่ใช่ทั้งนรกหรือสวรรค์เพื่อพบกับแม่ของเขาอีกครั้ง (บทความต่างประเทศเรียกมิตินั้นว่า ‘Inferno’ หรือ ‘นรก’ แต่เรามองว่ามันเป็นพื้นที่คล้ายๆ Limbo สำหรับเหล่าดวงวิญญาณที่รอการตัดสิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความเพราะในเรื่องไม่มีชื่อเรียกสถานที่นี้ชัดเจน)
โดยหลังจากที่ผู้เขียนได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ต้องขอยืนยันอีกเสียงเรื่องความลึกซึ้งละเอียดอ่อนทั้งในแง่ของภาพ บท และสัญญะแฝง จนทำให้รู้สึกว่านี่คืองานจิบลิที่เนื้อหามีความโตแบบโดดเด่นจากหลากหลายที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด เหมือนกาแฟดำรสชาติขมที่ส่งกลิ่นหอมโชยเอื่อยๆ ตลอดการรับชม จนเมื่อกลืนหยดสุดท้ายลงคอไปในตอนจบ ข้อความสำคัญที่หนังต้องการสื่อสารก็ทำให้คนดูตาเบิกโพลงได้พอดิบพอดี
• ไม่มีเรื่องดีในสงคราม แม้แต่ชัยชนะเองก็ตาม
สิ่งแรกที่เกี่ยวโยงกับตัวมิยาซากิและเห็นได้เด่นชัดคือการนำเสนอด้านลบของสงครามที่ไม่ให้ผลประโยชน์กับใคร ด้วยความที่คุณมิยาซากิเกิดและเติบโตใน 1941 เป็นต้นมาที่ถือว่าได้ประสบพบเจอกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น จุดที่รุนแรงที่สุด จนถึงจุดจบของมัน โดยใน The Boy and The Heron สิ่งนี้ถูกจับมาเป็นปมหลักภายในจิตใจ ‘มาฮิโตะ’ ที่เห็นโรงพยาบาลที่แม่เข้าพักรักษาตัวไฟไหม้และพังทลายลงมาต่อหน้าต่อตาอันเป็นผลมาการทิ้งระเบิดของฝั่งศัตรู หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้เห็นความสุขในแววตาของเด็กชายอีกเลย เขาทั้งกล่าวโทษตัวเอง และเฝ้าคิดถึงแม่ในทุกๆ วินาที
ตัดมาอีกฟากก็มีการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนยอมรับการเกิดขึ้นของสงครามแบบไร้คำถามใดใด อย่างเช่น ‘โชอิจิ’ พ่อของมาฮิโตะ ที่เดินหน้าต่อกับชีวิตได้แม้จะสูญเสียภรรยา เขาเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ ย้ายบ้าน ปรับตัวกับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังรู้สึกยินดี ที่งานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรบไปได้สวย ตั้งใจออกรถใหม่ราคาแพงขับไปส่งมาฮิโตะที่โรงเรียนใหม่ โดยลืมที่จะมองสถานการณ์รอบข้างของตัวเองไปเสียสนิท ว่าไม่มีเด็กคนไหนจะรู้สึกชื่นชมรถของนักเรียนใหม่อย่างมาฮิโตะ เด็กๆ แทบทั้งหมด ถ้าไม่สูญเสียคนในครอบครัวก็ตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหาร ปลา และเนื้อ กลายเป็นของล้ำค่า และยาสูบก็เป็นของหายากที่เหล่าคนรับใช้ในบ้านของมาฮิโตะต้องทะเลาะแย่งกัน หรือตัวละครกลุ่มนกกระทุงที่ไล่กินตัววาระวาระ ในระหว่างที่พวกมันกำลังลอยขึ้นฟ้าเพื่อเกิดใหม่ นกตัวหนึ่งบอกกับมาฮิโตะว่า ‘มันหิวโหยและจำเป็นต้องทำ’
เนื้อหาส่วนนี้แสดงให้เห็นว่ามีเพียงคนที่ได้ผลประโยชน์จากสงครามเท่านั้นที่จะมองไม่เห็นปัญหาของมันส่วนคนที่ต้องรับผลกลับเป็นคนที่ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับตัวละครราชานกแก้วในมิติที่มาฮิโตะเดินทางไป ผู้ที่สามารถทำลายได้ทุกสิ่งเพื่อแลกกับอำนาจสูงสุด
• การส่งต่ออนาคตสู่มือคนรุ่นใหม่
คุณปู่ทวดของมาฮิโตะส่งเจ้านกกระสาเจ้าเล่ห์ไปพาเขามายังดินแดนนี้เพื่อสานต่องานของตน ‘การควบคุมชะตาโลก’ เขาบอกกับเด็กชายว่าเขาไม่สามารถเรียงก้อนหินเหล่านี้และทำให้มันสมดุลได้และมันใกล้หมดเวลาของเขาแล้ว และเมื่อราชานกแก้วบ้าอำนาจพยายามจะเข้ามาเรียงหินในแบบของตัวเอง ดินแดนก็ถึงคราวล่มสลาย
เรื่องราวข้างต้นอาจไม่ได้หมายถึงการสร้างโลกที่สงบสุขโดยคนรุ่นใหม่เพียงเท่านั้น หากแต่สื่อใหญ่อย่าง Esqiure ตีความว่ามิยาซากิกำลังเป็นกังวลอย่างมากกับอนาคตของ Studio Ghibli หลังจากนี้ ด้วยปัญหาเรื่องความไม่ลงรอยส่วนตัวระหว่างเขากับลูกชาย Goro Miyazaki ที่เริ่มต้นได้ไม่สวยกับงานกำกับของตัวเองเรื่อง ‘Earwig and the Witch (2020)’ ที่ถูกวิจารณ์ในเชิงลบและไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ จนฮายาโอะถึงกับให้สัมภาษณ์ออกมาตรงๆ ว่าเขาปฏิเสธหลายโปรเจกต์ของลูกชายและคิดว่าอนาคตของจิบลิอาจเหมาะกับคนอื่นมากกว่า ผู้เขียนบทความดังกล่าวเลยมองว่าเขาสร้าง The Boy and The Heron เพื่อส่งสาสน์นั้น ว่าสตูดิโอกำลังมาถึงขาลงและเขากำลังรอคอย ‘มาฮิโตะ’ คนนั้น คนที่เขาจะวางใจฝากสิ่งนี้ไว้ในมือได้
• ยอมรับ ก้าวผ่าน และเติบโต
เดิมทีชื่อภาษาญี่ปุ่นของภาพยนตร์ที่ถูกปล่อยออกมาในหน้าสื่อครั้งแรกมาจากนวนิยายของ Genzaburo Yoshino ชื่อ ‘How Do You Live?’ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1937 และกลายเป็นหนังสือเล่มโปรดของมิยาซากิในวัยเด็ก โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการเดินทางภายในจิตใจของเด็กชายคนหนึ่ง ว่าเขาคนวางตัวหรือมีมุมมองอย่างไรต่อคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน คนงานในบ้าน จนถึงมุมมองต่อตัวเอง เป็นเรื่องราว Coming-of-age เช่นเดียวกันกับมาฮิโตะ ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ตั้งรับไม่ทัน เด็กชายจึงปล่อยตัวเองให้โศกเศร้า เจ็บปวด และบางครั้งก็เกลียดชัง จนท้ายที่สุดมาฮิโตะก็ได้เข้าใจว่าบางสิ่งไม่อาจย้อนคืนมาได้ และเขาต้องปล่อยวาง
“จงเปิดประตูเหล่านั้น เฉกเช่นการเปิดความลับที่ซ่อนเร้น
ทั้งความสุขล้น หรือทุกข์ระทมจากการจากลา
ไม่มีอะไรหยุดผมจากการสร้างภาพฝัน
ดังเช่นโลกที่ยังคงหมุนต่อไป”
- เพลง Spinning Globe (Chikyuugi) 地球儀 – Kenshi Yonezu (ประกอบภาพยนตร์ The Boy and the Heron )
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
ที่มา:
.
コメント