top of page

The Brutalist เจ้าของ 3 รางวัลออสการ์ การเปิดเปลือยของสถาปัตยกรรมและความเป็นมนุษย์

รูปภาพนักเขียน: EGOT Talking ClubEGOT Talking Club


วันนี้เราขอเปิดด้วยคำถามที่คนส่วนใหญ่อาจอยากรู้ก่อนสิ่งอื่นใดเลยนั่นคือ สำหรับใครที่กำลังลังเลว่าควรไปดู The Brutalist ดีหรือไม่ เนื่องด้วยความยาวระดับท้าทายสมรรถภาพร่างกายผู้ชมที่ 3 ชั่วโมง 35 นาที The Showhopper #ไปดูมาแล้ว ขอบอกเลยว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะต่อให้จะมีประเด็นหนึ่งประเด็นใดของหนังที่ไม่ connect กับคุณ แต่สุดท้ายแล้วคุณจะพบว่าหนังมันลื่นไหลและเพลินกว่าที่คิดเอาไว้เลยทีเดียว

.

นี่คือภาพยนตร์ที่กวาด 3 รางวัล OSCAR มาอย่างสมฐานะ ได้แก่ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, การถ่ายภาพยอดเยี่ยม ผลงานกำกับโดย Brady Corbet ที่ได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง Adrien Brody, Guy Pearce, Felicity Jones, Joe Alwyn และ Alessandro Nivola มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวมหากาพย์แห่งชีวิตมนุษย์ จากจุดต่ำสุดสู่การเริ่มต้นใหม่ จากอนาคตสดใสสู่การเปลี่ยนแปลงพลิกผัน จากภาพฝันพร่าเลือนสู่การกลายเป็นตำนานจดจำ

.

เรื่องราวของ The Brutalist กินเวลาอยู่ในช่วงปี 1947-1980 แต่หลักใหญ่ใจความจะโฟกัสอยู่ในช่วงยุค ‘50 อันเป็นทศวรรษแห่งการก่อกำเนิดใหม่ของทุกสิ่งทุกอย่างหลังสงคราม เช่นเดียวกับชีวิตของ László Tóth (Adrien Brody) ชายชาวยิวที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซี และได้อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากใหม่ที่อเมริกา

.

ในเวลาต่อมาเรื่องราวได้เปิดเผยให้เรารับรู้ว่าลาสซ์โลมีทักษะความเป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรม เขาใช้ความสามารถนี้ในการขับเคลื่อนชีวิต เป็นช่องทางให้ได้รับทั้งโอกาสทางตรงอย่างการได้รับหน้าที่สถาปนิกออกแบบสถาบันประจำชุมชนให้กับเมืองดอยล์สทาวน์ และโอกาสทางอ้อมที่มาในลักษณะของการเป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตา ไปจนถึงเส้นสายในการพาภรรยาและหลานสาวมายังอเมริกา

.

นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่พูดถึง ‘คนชายขอบ’ ที่คราวนี้มาในรูปแบบของผู้พลัดถิ่นในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย อาจจะดูมองโลกในแง่ร้ายไปสักหน่อย แต่ระหว่างชมผู้เขียนรู้สึกถึงความไม่ไว้วางใจที่หนังโยนไว้ให้ตลอดเส้นทางการดำเนินไปของตัวละคร ราวกับสัมผัสได้ถึงสัญญาณบางอย่างว่าหนังจะพาเราไปเจอกับบททดสอบที่คาดไม่ถึงหลากหลายมิติซึ่งชีวิตของลาสซ์โลต้องประสบพบเจอ

.

‘สถานะทางสังคม’ บททดสอบที่มักถูกผูกติดไว้เป็นปมชิ้นใหญ่ให้กับตัวละครชายขอบมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวละครในหนังชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้เรื่องอื่นๆ อย่าง Anora หรือ Wicked ก็เป็นหนึ่งในประเด็นเด่นสุดที่ The Brutalist นำเสนอ …และแน่นอนนี่คือหนึ่งในบททดสอบที่หนักหนาที่สุดเสมอเมื่อเราว่ากันถึงคำว่า ‘การอพยพ’ ทุกรูปแบบ

.

แม้จะมีอิสรภาพในดินแดนเสรี แต่ชีวิตของลาสซ์โลก็ถูกฉุดขึ้นฉุดลงตลอดเวลาตามแต่ความต้องการของมหาเศรษฐีเจ้าของโครงการก่อสร้างอย่าง Harrison Lee Van Buren (Guy Pearce) จะฟาดเปรี้ยงลงมา

.

ในจุดหนึ่งเขาคือภาพความสำเร็จของชาวยิวที่ได้ชีวิตใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขารู้ตัวชัดขึ้นทุกชั่วขณะว่ายังคงเป็นได้แค่พลเมืองชั้นสอง ปัญหาต่างๆ รุมเร้าทั้งจากภายนอกและภายใน สิ่งเดียวที่ทำให้เขายืนหยัดต่อไปได้คือการยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ถมลงไปในงานออกแบบอาคารที่เขาสรรสร้าง ประคบประหงมเพื่อให้กลายเป็นสุดยอดงานศิลปะชิ้นเอก

.

ในศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม มีคำว่า ‘Brutalist Architecture’ ซึ่งหมายถึงงานสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือยที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงยุค 50 โดยจะเน้นการเปิดเปลือยวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ฉายภาพความสัตย์จริงตรงไปตรงมา

.

สิ่งปลูกสร้างตามแนวคิดนี้จะมีรูปลักษณ์ใหญ่โต แข็งกระด้าง ให้ความรู้สึกก้าวร้าวดุดันมากกว่าอ่อนช้อยสวยงาม นัยหนึ่งเป็นการสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมือง ระบบความคิดของผู้คนหลังสงครามโลก และแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่กำลังแผ่ขยายในเวลานั้น

.

หนังหยิบเอาความเป็นจริงนี้มาร้อยเรียงเข้ากับตัวละครสถาปนิกของลาสซ์โลได้อย่างน่าสนใจ ชื่อเรื่อง The Brutalist ไม่เพียงหมายความถึงคอนเซปต์ด้านการออกแบบที่สะท้อนความเจ็บปวดซึ่งฝังรากลึก แต่ก็ช่วยนำพาชีวิตของลาสซ์โลให้เดินหน้าไปในเวลาเดียวกันเท่านั้น แต่อีกมุมหนึ่งมันอาจแปลอย่างตรงตัวว่า ‘ผู้ที่โหดร้าย’ ก็ได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้รับบทบาทนี้ …ลาสซ์โล, แฮร์ริสัน, ตัวละครอื่นๆ, ตัวตนสักรูปแบบที่ทุกคนคนึงหา, หรือดินแดนแห่งฝันอย่างอเมริกา

.

The Brutalist มีการใช้สไตล์ต่างๆ แบบหนังยุค 50 จริงๆ มาเป็นลูกเล่นที่ทำให้มันดูน่าสนใจมากขึ้น ตั้งแต่การถ่ายทำด้วยฟอร์แมต VistaVision ซึ่งเป็นฟอร์แมตการถ่ายทำที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น, การทำภาพให้มี grain มีความหยาบ มีความเลอะๆ เหมือนฟิล์มฉายหนังเก่าๆ อยู่สักหน่อย, ไปจนถึงความยาวมากๆ แบบที่หนังมหากาพย์ในสมัยนั้นชอบสร้างกันออกมา โดยยังมีการหั่นหนังออกเป็นสององก์ คั่นกลางด้วย Intermission แบบเดียวกันด้วย (Intermission นี้จะมีความยาว 15 นาที บนจอจะมีตัวเลขนับถอยหลังให้ และเราสามารถออกไปเข้าห้องน้ำ ยืดเส้นยืดสายจริงๆ ได้เลย)

.

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนชอบองก์แรกของหนังมากกว่า เพราะรู้สึกถึงความลื่นไหลกว่า และยังไม่มีประเด็นทับซ้อนที่มากมายเท่าองก์สอง นอกจากนี้ยังชอบจังหวะปิดองก์หนึ่งด้วย แม้ไม่ได้ทิ้งปมหวือหวาอะไรใหญ่โต แต่ก็ให้ความรู้สึกเป็นการตัดเรื่องที่พองามพอดีๆ เหมือนเป็นการจบบทหนึ่งที่สวยๆ ของชีวิตตัวละคร (เป็นความรู้สึกคล้ายๆ กับตอนที่ผู้เขียนรู้สึก ช่วงตัดเข้า Intermission ของ Gone with the Wind (1939) อะไรประมาณนั้น)

.

ส่วนองก์สองมีประเด็นที่ทำให้เกิด conflict ในชีวิตของตัวละครมากขึ้น หลายโมเมนต์ให้ความรู้สึกเหมือนใส่มาเพื่อขายการแสดงมากกว่าเน้นให้เรื่องราวเดินหน้าไป ทำให้บางทีรู้สึกว่าฉากนั้นๆ กินเวลานานเกินไปหน่อย หรือบางทีอาจไม่ต้องมีฉากนั้นเลยก็ได้ ซึ่งน่าจะช่วยให้ความยาวของหนังกระชับลงมากว่านี้ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ยังพอทดแทนได้ด้วยการเล่าที่ลื่นไหล แม้อาจไม่ดีเท่าองก์แรก แต่ก็ยังไม่ถึงกับทำให้กลายเป็นความน่าเบื่อจนเกินไป

.

.

.

เรื่อง: EGOT Talking Club

.


Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page