สำหรับคนที่เคยผ่านช่วงเวลาโหดร้ายในชีวิตมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยความลำบากตรากตรำทางกาย หรือภาวะแตกสลายย่อยยับทางใจ คุณเคยถามตัวเองมั้ยครับว่าเรารอดพ้นพันธนาการแห่งความมืดมิดยาวนานเหล่านั้นมาได้อย่างไร? คำตอบคงมีเป็นล้านอย่าง หลายคนอาจเลือกเก็บเกี่ยวกำลังใจจากคนรอบข้าง บางคนใช้วิธีเกาะกุมของสำคัญบางอย่างไว้แนบกาย และอีกไม่น้อยก็คงจดจ่อทำสิ่งที่รักโดยไม่ว่อกแว่กไขว้เขว แต่สำหรับผู้หญิงที่ชีวิตระหกระเหินตามแต่โชคชะตาจะพาไปอย่าง Celie นั้น การยึดมั่นอย่างแรงกล้ากับ 'ศรัทธาในพระเจ้า' คือคำตอบของเธอ
.
'Celie' คือตัวละครเอกจาก The Color Purple นวนิยายเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์โดย Alice Walker ที่ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกเมื่อปี 1982 มันเล่าเรื่องราวมหากาพย์อันเข้มข้นขมขื่นของหญิงผิวดำคนหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ต้องฟันผ่ากระแสถาโถมแห่งชีวิต และขานรับบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งทางจิตใจมากมาย หลายคนรู้จัก The Color Purple เป็นอย่างดี เพราะครั้งหนึ่งเมื่อปี 1985 นิยายเรื่องนี้เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดย Steven Spielberg มาแล้ว แต่สำหรับการดัดแปลงครั้งล่าสุดนี้ The Color Purple ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบภาพยนตร์มิวสิคัล
.
การที่ต้องสัมผัสความพลัดพรากซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่วัยเด็ก แม้กระทั่งเติบใหญ่ก็รู้สึกไม่เห็นคุณค่าของตัวเองเหมือนเป็นเบี้ยล่างของทุกสิ่งทุกอย่างมาตลอดชีวิต ทำให้ซีลี่ต้องหาที่ยึดเหนี่ยวอย่าง 'พระเจ้า' เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีลมหายใจต่อไป หนังทั้งสองเวอร์ชันไม่ลืมหัวใจสำคัญข้อนี้และบอกเล่าแก่เราว่า หากจะมีความผูกพันใดยิ่งใหญ่ไม่ต่างไปจากความผูกพันระหว่างเธอกับน้องสาวที่เธอรักสุดหัวใจอย่าง Nettie แล้ว มันก็คือความผูกพันระหว่างตัวเธอกับพระเจ้านี่เอง
.
'ข้าแต่พระเจ้า หนูอายุ 14 ปี เป็นเด็กดีมาตลอด บางทีพระองค์อาจแสดงนิมิต ให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนู' ซีลี่เวอร์ชัน 1985 บอกกับผู้ชมด้วยท่าทีสงสัยในเส้นทางชีวิตที่รออยู่ข้างหน้า หลังหนังเริ่มเรื่องไปได้ไม่ถึงอึดใจ
.
ในขณะที่เวอร์ชันภาพยนตร์เพลงหนนี้ก็ไม่รอช้าที่จะอธิบายผ่านเพลง "Mysterious Ways" ซึ่งเป็นฉากมิวสิคัลเปิดเรื่องที่คล้ายเป็นการตอบคำถามเด็กหญิงผิวดำในหนังเวอร์ชันแรกว่า 'พระผู้เป็นเจ้าทรงมีวิถีลึกลับของพระองค์เองในการขีดเขียนชีวิตของเรา' (ที่เราไม่อาจหยั่งรู้) แถมยังเซตโทนให้หนังกลายๆ ทันทีเลยด้วยว่า หนังเวอร์ชันนี้จะไม่หดหู่เท่าเวอร์ชันก่อน
.
แน่นอนว่าด้วยประเด็นตึงเครียดหลายๆ อย่างที่แฝงตัวอยู่ในเส้นทางชีวิตของตัวละคร ทำให้หนังเวอร์ชันที่แล้วซึ่งเล่าในรูปแบบดราม่าจริงจังนั้น ให้ความรู้สึกมืดมนมากกว่าในเวอร์ชันนี้ที่ใช้เสียงเพลงเข้ามาขับเน้นความรู้สึก การใช้เพลงทำให้หลายฉากแปรสภาพไปเป็นฉากในจินตนาการที่เข้าไปขยายความในจากสมองของซีลี่ ออกมาเป็นภาพที่เธอมองเห็นการได้ชีวิตของตัวเองกลับมาและมีรักที่บริสุทธิ์
.
ด้วยเหตุนี้บรรยากาศมวลรวมของหนังจึงเหมือนแสงทองอ่อนๆ ที่อบอวลไปด้วยความสดใสมากกว่าหนังครั้งก่อน แม้จะอยู่ท่ามกลางเรื่องราวหนักอึ้งที่พร้อมจะพาดิ่งสู่ความหม่นหมองได้ตลอดเวลาอย่างเช่น ความรุนแรงทั้งทางกายและใจใต้ชายคาบ้าน การถูกกดขี่ของเพศหญิงโดยระบอบชายเป็นใหญ่ หรือประเด็นระดับสังคมอย่างเรื่องสิทธิที่ด้อยกว่าของคนแอฟริกัน-อเมริกัน และประเด็นเคลือบแคลงที่ต้องถูกกดเอาไว้อย่างความรู้สึกเกินเลยต่อเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่แหกขนบสังคมอย่างรุนแรงในช่วงปี 1900
.
หนึ่งฉากที่อธิบายหัวใจของหนังเรื่องนี้ได้อย่างงดงาม เป็นฉากการสนทนาผ่านบทพูดธรรมดาๆ ครับ ฉากนี้เกิดขึ้นกลางทุ่งดอกไม้สดสวย Celie (แสดงโดย Fantasia Barrino) กำลังเดินคุยกับ Shug Avery ซึ่งเป็นผู้หญิงที่เธอเทิดทูน (แสดงโดย Taraji P. Henson) และเป็นครั้งแรกในหนังที่มีการพูดถึงคำว่า 'the color purple' หรือ 'สีม่วง' ขึ้นมา
.
สีม่วงนั้นเป็นสีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เนื่องจากมันเป็นสีที่เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณ พลังอำนาจ ความภาคภูมิ อิสระเสรี และมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นเชื้อพระวงศ์ในชนชั้นกษัตริย์ (ในช่วงต้นของหนัง ซิลี่และเน็ตตี้คุยเล่นกันว่า 'พวกเราเองก็เป็นเชื้อพระวงศ์เหมือนกัน') ดังนั้นในบริบทของ The Color Purple สีม่วงที่เป็นชื่อเรื่องจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณของซีลี่ ซึ่งสะท้อนถึงความซับซ้อนและรุ่มรวยแห่งชีวิตที่เริ่มจากความเจ็บปวดทุกข์ทรมานสู่ความปรีดาผาสุข
.
ในฉากนั้นชู้กบอกกับซีลี่ว่า "เธอดูสิ่งสวยงามที่พระเจ้าสร้างสรรค์ขึ้นมาพวกนี้สิ รู้มั้ยพระเจ้ารักในการสรรเสริญยินดี และพระองค์อยากแบ่งปันแต่สิ่งดีๆ ฉันคิดว่าพระองค์คงโมโหถ้าใครเดินเหยียบดอกม่วงๆ ในทุ่งพวกนี้โดยไม่สังเกตเห็นมัน"
.
"คุณหมายความว่า พระเจ้าก็ต้องการความรักเหมือนที่บอกไว้ในไบเบิลน่ะเหรอ" ซีลี่ถามกลับ
.
"ใช่จ้ะ ทุกๆ อย่าง ทุกๆ คนล้วนต้องการความรัก โดยเฉพาะพระเจ้านั่นล่ะ นี่คือเหตุผลที่มีพระเจ้าอยู่ในทุกสิ่ง ดังนั้นเมื่อเธอรักในสิ่งที่พระเจ้าสร้าง เธอก็กำลังรักพระเจ้าอยู่ และพระเจ้าก็กำลังรักเธอตอบด้วย ดูสิ พระเจ้าอยู่ในเสียงดนตรี อยู่ในสายน้ำ อยู่ในแสงแดด พระองค์ยิ่งใหญ่ดั่งพระอาทิตย์ แต่ก็เล็กพอที่จะใส่เข้าไปในหัวใจเราให้เต็ม"
.
สำหรับเวอร์ชันละครบรอดเวย์ (ซึ่งเป็นต้นฉบับการดัดแปลงของเวอร์ชันหนังในครั้งนี้) ฉากดังกล่าวถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเพลง โดยใช้ชื่อเพลงตามชื่อเรื่องเลยว่า "The Color Purple" และร้องโดยตัวละครชู้ก เอเวอรีเช่นกันครับ เป็นฉากที่ซีลี่รู้สึกโกรธเคืองในพระเจ้า และชู้กร้องเพลงนี้เพื่อดึงความศรัทธาของซีลี่กลับมาอีกครั้ง ในเวอร์ชันภาพยนตร์ เราจะได้ยินเมโลดี้ของเพลงนี้เล่นคลอเป็นดนตรีแบ็กกราวด์ไปตลอดในระหว่างบทสนทนาข้างต้นของฉากดังกล่าว
.
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ยินชู้กร้องเพลงนี้ในหนัง แต่ก็จะยังมีเพลง "The Color Purple (Reprise)" ให้ได้ยินแทนในฉากจบครับ เพลงนี้ปรากฎอยู่ในเวอร์ชันละครเวทีเช่นกัน (แต่ในภาพยนตร์จะเรียกชื่อเพลงนี้ว่า "The Color Purple" เฉยๆ) ซีลี่ได้พบกับความสุขของชีวิตในที่สุด เธอเข้าใจถึงพลังของมิตรภาพ การให้อภัย การแบ่งปันความรัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'การหวนคืน' เมื่อทุกชีวิตที่สอดประสานและส่งผลลัพธ์ต่อกันและกันมาอยู่พร้อมหน้า เพลงอันแสนงดงามนี้ก็ถูกร้องขึ้น...
.
"Rising...rising...rising like the sun
Is the hope that sets us free
Your heartbeat make my heart beat
When we share love
.
Like a blade of corn
Like a honeybee
Like a waterfall
All a part of me
.
Like the color purple
Where do it come from?
Now my eyes are open
Look what god has done"
.
ใช่ครับ ซีลี่ไม่เคยสิ้นศรัทธาในพระเจ้า เธอเลื่อมใสในสิ่งที่ดีงามของโลกใบนี้ตลอดมา ตราบที่เธอยังมีพระองค์อยู่ในหัวใจ เธอจะไม่มีวันจมลงสู่ก้นบึ้งแห่งเงามืด มนุษย์เดินดินอย่างเราทุกคนก็เช่นกัน ความเชื่อมั่นในคุณงามความดีจะเป็นพลังใจที่ฉุดให้เราขึ้นจากหุบเหวที่กัดกินชีวิตเราได้เสมอ ต่อให้มันจะกลายเป็นมหากาพย์ที่ยาวนานทั้งชีวิตเหมือนซีลี่และทุกๆ คนใน The Color Purple ก็ตาม
.
ในประโยคสุดท้ายของหนัง (และนิยาย) ซีลี่ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ชีวิตบอกกับผู้ชมว่า เธอไม่คิดว่าทุกคนแก่ชราเลย กลับกัน หลังจากทุกสิ่งที่ผ่านพ้นและเหมือนการได้เริ่มต้นใหม่ เธอคิดว่านี่คือความอ่อนเยาว์ที่สุดที่เคยรู้สึกได้เลยทีเดียว แล้วเธอก็ย้ำถึงแรงศรัทธาต่อเบื้องบนอีกครั้งด้วยคำพูดสั้นๆ ...'อาเมน'
.
The Color Purple ฉบับภาพยนตร์เพลงเข้าฉายแล้วที่ Doc Club & Pub. ครับ เหลือเพียง 4 รอบเท่านั้น เซ็ครอบฉายได้ที่ https://ticket.docclubandpub.com/movie/376?sid=3135
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
#TheShowhopper #TheColorPurple #หนังใหม่ #แนะนำหนัง
Comments