top of page
รูปภาพนักเขียนเจนจิรา หาวิทย์

"ม่าให้เอ็มเป็นที่เท่าไหร่" ภาพยนตร์ 'หลานม่า' กับมิติทับซ้อนแห่ง 'ลูกรัก - ลูกชัง' ในครอบครัวใหญ่



[มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์]

.

คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีพ่อแม่คนไหนรักลูกไม่เท่ากัน” น่าจะเป็นหนึ่งในข้อความที่มีคนขอยกมือค้านมากที่สุดในโลก เพราะในมุมมองของคนเป็น ‘ลูก’ ความไม่เท่าเทียมเพียงเล็กน้อยในบ้าน สามารถปรากฏเด่นชัดในใจได้ไม่ยากนัก เมื่อพ่อแม่เป็นมนุษย์คนแรกๆ ที่พวกเขาเฝ้ามอง ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวชม ติติง หรือแม้แต่การตักอาหารให้พี่น้องไม่เท่ากัน ก็ล้วนกลายเป็นรายละเอียดที่เก็บมากังวลใจได้ทั้งสิ้น ฝังรากลึกไปเป็นความน้อยใจ การแข่งขันแย่งชิงความรักและการเป็นที่หนึ่งไปโดยไม่รู้ตัว

.

หนักเข้าไปอีกกับครอบครัวที่ส่งต่อความคาดหวังและความกดดันกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ‘ลูกคนโตต้องเลี้ยงครอบครัว’ ‘ต้องเรียนเก่ง’ ‘พี่ต้องดูแลน้อง’ ‘ลูกสาวต้องทำงานบ้าน แต่งงานหาสามีดีๆ’ ขีดเส้นชัยให้ลูกหลานตั้งแต่พวกเขายังไม่ลืมตาดูโลก รู้ตัวอีกทีก็ต้องแบกสิ่งเหล่านั้นไว้ล้นบ่า โชคดีหน่อยถ้าทำสำเร็จตามที่ผู้ใหญ่คาดหวัง แต่ถ้าไม่ พวกเขาก็อาจจะมองตัวเองเป็นคนล้มเหลว ยอมแพ้ และโบยตีตัวเองด้วยความเกลียดชังในที่สุด

.

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องคุ้นชินระดับโลก ที่ไม่ว่าใครที่เกิดมาในครอบครัวมีพี่น้องย่อมเคยประสบพบเจอ แต่เรื่องราวธรรมดาเดียวกันนี้ถูกนำเสนออย่างละเอียดอ่อนอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ผลงานล่าสุดจากค่ายหนังอารมณ์ดี ‘GDH 559’ กำกับโดย “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” ที่ขอบอกเลยว่าหลังจากผู้เขียนได้ร่วมรับชมในรอบสื่อมวลชนในวันที่ 1 เมษายน มุมมองต่อเรื่องที่กล่าวไปข้างต้นก็พลิกผันไปไม่น้อย เพราะครั้งนี้เราได้มองมิติทับซ้อนในครอบครัวผ่านบุคคลที่เป็นทั้ง ‘ผู้ถูกกระทำ’ และ ‘ผู้ส่งต่อโดยไม่รู้ตัว’ อย่าง “อาม่าเหม้งจู” (แสดงโดย อุษา เสมคำ)

.

ที่ว่ามันเป็น ‘มิติทับซ้อน’ เพราะทั้งปัจจัยที่ทำให้ลูกหลานแต่ละคนได้รับการปฏิบัติจากอาม่าไม่เหมือนกัน และความเข้าใจว่าตัวเองเป็น ‘ลูกรัก-ลูกชัง’ ของเหล่าทายาทต่างชนกันชุลมุนวุ่นวายจนเกิดเป็นรอยร้าวระหว่างกัน กล่าวคือพวกเขาเข้าใจสถานการณ์ในครอบครัวตนผิดไปหมด

.

‘โส่ย’ (แสดงโดย พงศธร จงวิลาส

) ไม่ได้กินทับทิมที่แม่ปลูก ก็พลางคิดไปว่าเพราะตัวเองไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบ ‘เคี้ยง’ (แสดงโดย สัญญา คุณากร) เฮียใหญ่ของบ้าน ที่เชื่อว่าการทำตัวให้ประสบความสำเร็จและสนับสนุนเรื่องเงินให้ครอบครัวได้คือการเสียสละสูงสุด เลยส่งมอบภาระทั้งหมดในการดูแลแม่ไปให้ ‘สิ้ว’ (แสดงโดย สฤญรัตน์ โทมัส) ที่แอบน้อยเนื้อต่ำใจกับตัวเองอยู่เสมอ ว่าได้ความรักจากแม่น้อยที่สุด เพราะตนเป็นลูกสาวที่ล้มเหลว หนำซ้ำยังมี ‘เอ็ม’ (แสดงโดย พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) ลูกชายที่ห่างเหินกับทุกคนจนคิดไปว่าตัวเองไร้ตัวตนในครอบครัวนี้ แถมด้วยสถานะการเป็นลูกชาย ของลูกสาวคนเล็กในบ้านคนจีน ที่ทำให้เขารู้สึกตัวลีบเล็ก เลยนึกอยากจะไต่อันดับไปเป็นเบอร์หนึ่ง เป็น ‘หลานเต็มเวลา’ ให้อาม่าในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อหวังสมบัติชิ้นใหญ่ ตามคำแนะนำของ ‘มุ่ย’ (แสดงโดย ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ลูกพี่ลูกน้องดีกรีพยาบาลขวัญใจญาติๆ

.

ทั้งที่ความจริงแล้ว คำว่า ‘รักไม่เท่ากัน’ ไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรมของอาม่า เพราะเธอเพียงเลือกจะให้หรือไม่ให้สิ่งต่างๆ กับลูกหลานตาม ‘ความเหมาะสม’ ต่อแต่ละคน โดยมีรากฐานมาจาก ‘ความหวังดี’ ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เธอได้รับมาเมื่อครั้งที่ยังเป็น ‘ลูกสาว’ เช่นกัน ได้รับมาพร้อมๆ กันกับการไม่ค่อยสื่อสาร พูดบอกความรู้สึกแบบตรงไปตรงมา ก้อนความไม่เข้าใจระหว่างกันเลยขยายใหญ่ขึ้นจนยากที่จะแก้ไข ในขณะที่เวลาค่อยๆ หมดไป..

.

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้ ‘ความสมจริง’ ฟาดใส่คนดูอย่างหนักแน่นตลอดทั้งเรื่อง ผ่านความธรรมดาของบ้านตึกแถวในย่านชุมชน แสงแดดของตลาดเช้า เตียงไม้ หมอนมุ้ง และตู้เก็บกับข้าวที่คุ้นตา นำด้วยตัวละครกับเรื่องราวที่เราทั้งเคยเห็นและเคยเป็น ทำให้เราในฐานะผู้ชมได้นึกย้อนกลับไปมองโยงใยความสัมพันธ์อันวุ่นวายซับซ้อนของครอบครัวได้กระจ่างชัดมากขึ้น กลั่นออกมาเป็นน้ำตาที่ยากจะหยุดไหลตลอดทั้งเรื่อง “หลานม่า” เลยเป็นหนังฟีลกู๊ดโทนแซดๆ ที่อยากแนะนำให้แฟนเพจ The Showhopper ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง

.

ยิ่งถ้าใครคิดถึงบรรยากาศอบอุ่นแบบนี้จากผลงานค่าย GDH 559 ภาพยนตร์เรื่องนี้คืออีกเรื่องที่จะทำคุณใจฟูได้แน่นอน

.

รับชม “หลานม่า” ได้ทุกโรงภาพยนตร์ในวันที่ 4 เมษายน เป็นต้นไป..

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page