top of page
รูปภาพนักเขียนธาริน ปริญญาคณิต

ร้อง ‘Encore’ ตอนโอเปร่าแสดงได้หรือไม่?คำถามสำคัญหลัง Diva ฉุนหนัก ตะโกนห้ามกลางโอเปร่า "Tosca" ที่เกาหลี



"ขอโทษนะ นี่มันการแสดง ไม่ใช่งานร้อง recital...ให้เกียรติฉันด้วย!" Angela Gheorghiu ซุปตาร์โซปราโนชาวโรมาเนียตะโกนลั่นเวทีที่ Sejong Center for the Performing Arts กรุงโซล ประเทศเกาหลี ระหว่างการแสดงโอเปร่า "Tosca" เรื่องราวที่ว่าด้วยดีว่าเลือดร้อนขี้หึงผู้จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย!

.

เรื่องจริงดุเดือดยิ่งกว่าโอเปร่า หนังสือพิมพ์ The Korea Times รายงานว่าช่วงองก์ 3 ของการแสดง "Tosca" วันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา พระเอกเสียงเทเนอร์ชาวเกาหลี Alfred Kim กำลังร้อง "encore" หรือ "การร้องแถม" ตามเสียงเรียกร้องของผู้ชม ในกรณีนี้คือการแถมซ้ำเพลงเอกของเรื่องอย่าง "E lucevan le stelle" แต่ระหว่างผู้ชมกำลังยินดีที่ได้ฟังเพลงไพเราะนี้ซ้ำ Gheorghiu ผู้รับบท Tosca รีบบึ่งออกมาจากหลังเวทีเพื่อตัดจบการ "encore"! เธอส่งสัญญาณให้คอนดักเตอร์ Jee Joong-bae หยุดวงออร์เคสตราไม่ให้บรรเลง ส่วนสื่อ Korea JoongAng Daily รายงานเสริมด้วยว่า Gheorghiu "โบกไม้โบกมือและชี้ไปที่นาฬิกา" ก่อนที่สุดท้ายจะตะโกนวลีข้างต้นลั่นโรง!

.

การร้อง "encore" หรือร้องเพลงแถมให้ผู้ชมเป็นเรื่องปกติธรรมดาในบริบทของคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกทั่วไป เมื่อผู้ชมปรบมือโหมกระหน่ำเรียกร้องให้นักร้อง "แถมเพลง" อีกสักหน่อย! แต่สำหรับการแสดง "โอเปร่า" หลายคนกลับเสียงแตก บ้างมองว่า "encore" ระหว่างการแสดงโอเปร่านั้นบาปมหันต์! เพราะแม้คนดูจะปรบมือเรียกให้ "ตัวละคร" ในเรื่องร้องเพลงเอกอันไพเราะให้ฟังเป็นบุญหูอีกสักรอบ แต่นั่นหมายถึงการหั่นอารมณ์ความต่อเนื่องของท้องเรื่องที่ดำเนินอยู่...แน่นอนว่าซุปตาร์ Gheorghiu เห็นด้วยกับทีมนี้แน่นอน

.

ในทางกลับกัน อีกทีมโต้ว่า "encore" ในการแสดงที่มีท้องเรื่องดำเนินอยู่ก็ทำได้ ยิ่งเสริมให้คนดูอยู่ในห้วงอารมณ์ ตกอยู่ในภวังค์ของเพลงที่กำลังแถมให้ฟังอยู่ด้วยซ้ำไป จะเสียหายอะไร! เทศกาลโอเปร่ากลางแจ้งชื่อดังอย่าง Arena di Verona ในอิตาลีมีธรรมเนียมการร้อง "encore" ระหว่างการแสดงโอเปร่าเป็นกิจลักษณะเมื่อผู้ชมปรบมือเรียกร้องให้ซ้ำเพลงไหน ทั้งนี้ จะชอบหรือไม่ การ "encore" ในโอเปร่าก็มีมาไม่ต่ำกว่าสองศตวรรษแล้ว และเป็นที่ถกเถียงเรื่อยมาจนปัจจุบันในแง่ความเหมาะสม แต่ดีว่าโรมาเนียไม่ขอเถียงด้วยและ "คุมกำเนิด encore" เองกับมือที่เกาหลีครั้งนี้!

.

Gheorghiu ไม่ได้ "แผลงฤทธิ์" แค่ในเอเชียเท่านั้น แต่เคยฉาวประเด็น "encore" มาแล้วในยุโรป เมื่อปี 2016 ณ โรงโอเปร่ากรุงเวียนนา เรียกว่า "déjà vu" คงไม่ผิด เพราะเหตุเกิดในโอเปร่า "Tosca" และเป็น "encore" เพลง "E lucevan le stelle" เหมือนกันเป๊ะ! ทว่า แทนที่เธอจะโผล่มาขัดจังหวะ "ช็อตฟีล" เทเนอร์แบบที่กรุงโซล ที่เวียนนาตัวแม่หายตัวไปเลย...ปล่อยให้ซุปตาร์เทเนอร์ Jonas Kaufmann เคว้งคว้างคนเดียวแม้ถึงคิวของเธอต้องออกมาแล้วก็ตาม จน Kaufmann ต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้นสดขายขำ แต่งเนื้อร้องใหม่สอดทำนองในโอเปร่าว่า "Non abbiamo il soprano" หรือ "เราไม่มีโซปราโน" นั่นเอง! (ชมคลิปหลักฐานสุดฮาประกอบได้: https://www.facebook.com/share/v/cZWUwHGPu5jzvXvn/?mibextid=oFDknk) แม้สุดท้าย Gheorghiu จะออกมาเล่นต่อจนจบ แต่ก็ช้าผิดสังเกตจนหลายคนมองว่าเป็นการจงใจแก้เผ็ดเพราะ "ต่อต้าน encore" ส่วน "แอนตี้แฟน" มองว่าตัวแม่อิจฉาเทเนอร์ที่ "คนเรียกให้ encore" แต่เธอกลับถูกเมิน!

.

เรื่องนี้เป็นที่สนใจข้ามชาติถึงขนาดที่ ณ ขณะนั้น สื่อใหญ่ของอเมริกาอย่าง The New York Times ลงทุนเจาะหาข้อเท็จจริง และได้คำแก้ต่างจากโฆษกโรงโอเปร่าเวียนนาที่อธิบายเหตุเข้าฉากสายว่า "ดูจะไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ" และ "พอคุณ Gheorghiu เห็นว่าคุณ Kaufmann จะร้องอาเรียซ้ำอีกรอบเธอเลยกลับไปที่ห้องแต่งตัว" โฆษกแจงต่อว่าอาจเกิดความสับสนกันเพราะ "หลัง encore ไม่มีจังหวะหยุดให้ปรบมือเหมือนรอบก่อนหน้า จึงชัดว่าทำให้คุณ Gheorghiu เข้าฉากช้า" ทั้งนี้ The New York Times ได้ติดต่อไปทางตัวแทนของดีว่าเพื่อไขความกระจ่างจากประเด็นนี้ด้วย แต่ทางนั้นไม่ติดต่อกลับ!

.

คราวล่าสุดนี้จึงนับว่าเป็นการประกาศซึ่งๆ หน้าของ Gheorghiu ว่าเธอไม่ทน "encore" ระหว่างการแสดงสดจริงๆ และแม้สุดท้ายดีว่าตัวแม่จะเล่นต่อจนจบเช่นเคย แต่ก็ออกมาโค้งหน้าม่านช้ากว่านักร้องคนอื่นๆ เธอโดนคนดูร้องโห่ "บู" ไม่พอใจเมื่อเดินออกมาจนเธอ "ไม่โค้ง" และเดินกลับเข้าไปดื้อๆ เห็นได้ชัดว่าการกระทำของเธอในครั้งนี้ล้ำเส้นกว่า "การประท้วงเงียบ" ที่เวียนนาเมื่อปี 2016 มาก แถมเป็นการปิดกั้นจังหวะเฉิดฉายใน "encore" ของเทเนอร์เกาหลีที่ "บ้านเกิดตัวเอง" ด้วย!

.

หนังสือพิมพ์ Korea Herald รายงานว่า คนดูบางท่านออกความเห็นว่า Gheorghiu "แสดงพฤติกรรมที่ไม่เคารพผู้ชมเกาหลี" และบางคนถึงขนาดขอเงินคืนจาก Sejong Center หรือคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากดีว่าตัวมัม แม่งานอย่าง Seoul Metropolitan Opera และ Sejong Center จึงออกแถลงการณ์ขอโทษผู้ชม และเรียกร้องคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากฝ่าย Gheorghiu

.

แม้จากประวัติที่ผ่านมาดูจะยากที่ตัวแม่จะออกมาขอโทษ แต่สามวันหลังเหตุอื้อฉาวที่เกาหลีบริษัทผู้จัดการของดีว่าออกแถลงการณ์ว่า "คุณ Gheorghiu รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่นำไปสู่เหตุที่ Sejong Arts Center เมื่อวันอาทิตย์ ได้มีการตกลงและยืนยันจากคอนดักเตอร์และทีมโปรดักชั่น 'Tosca' ก่อนแล้วว่าจะไม่มี 'encore' ในรอบการแสดงไหนทั้งนั้น คุณ Gheorghiu เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า 'encore' นอกเหนือบริบทของคอนเสิร์ตจะทำลายความลื่นไหลในการดำเนินเรื่องของโอเปร่า" แถมเสริมว่าทางคอนดักเตอร์เสนอ “encore” ให้เธอร้องอยู่ดีและเธอก็ปฏิเสธไปตามเดิม แต่เทเนอร์กลับร้องตามที่เห็นกันไปทำให้ Gheorghiu รู้สึกถูกดูหมิ่น ทีมผู้จัดการเป็นห่วงคำก่นด่าดีว่าในโลกโซเชียลที่อาจเป็นการฟังความข้างเดียว และยืนยันว่าเธอเคารพผู้ชมเกาหลีมาก

.

ความอีกข้างสวนทันควัน วันถัดมาตัวแทนของ Sejong Arts Center โต้ผ่าน The Korea Times ว่า Gheorghiu “เพียงบอกความประสงค์เธอผ่านผู้จัดการเท่านั้นว่าไม่ให้นักร้องคนไหนร้อง ‘encore’ รวมตัวเธอด้วย อย่างไรก็ตาม คำบอกนี้ไม่สามารถถือเป็นข้อตกลงทางการได้” และเสริมว่า “การตัดสินใจขึ้นกับคอนดักเตอร์ และไม่สามารถเอาความชอบของนักร้องเพียงคนเดียวมาเป็นมาตรกำหนด”

.

จริงๆ "ดราม่า" รายล้อมดีว่าโรมาเนียรายนี้มาก่อนยุคโซเชียลแล้ว The New York Times เคยรายงานว่า Gheorghiu สำแดงฤทธิ์ "ไม่ยอมใส่วิกผมบลอนด์" ตอนรับบท Micaëla ในโปรดักชั่นโอเปร่า "Carmen" ของ Metropolitan Opera แห่งนครนิวยอร์กครั้งไปแสดงทัวร์ที่ญี่ปุ่น ปี 1997 ผู้จัดการคณะโอเปร่าจึงยื่นคำขาดว่า "วิกยังอยู่ ไม่ว่าคุณจะอยู่หรือไป" ทำให้การแสดงคืนนั้นวิกอยู่แต่ Gheorghiu ไป! กระนั้น คืนต่อมาทั้งวิกและดีว่าก็กลับมาจับมือสมานฉันท์

.

บางทีทั้งหมดอาจเป็นการสวมบทบาทตัวละครดีว่า Tosca ที่มีอารมณ์ร้อนเป็นเอก บทที่แฟนๆ รู้กันว่าเป็นบทโปรดของ Gheorghiu สุดท้ายคงต้องเชื่อคำที่เธอเคยให้สัมภาษณ์กับช่อง BBC เกี่ยวกับ Tosca ว่า "ฉันเล่นเป็นตัวเอง"

เรื่อง : ธาริน ปริญญาคณิต

.

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page