top of page
รูปภาพนักเขียนTheeranai S.

‘อรุณใต้’ | LIVING CINIMA ตามหาความทรงจำกับ อัด-อวัช, เอม-ภูมิภัทร และ ณัฏฐ์ กิจจริต



‘อรุณ’ ชายสามคนผู้ตามหาความทรงจำที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่ในย่านเมืองเก่าสงขลา ต่างคนต่างมีความทรงจำที่ทั้งผูกพันและไม่คุ้นเคยกับที่นี่ แต่สถานที่เหล่านี้ได้สะท้อนบางอย่างในชีวิตที่พวกเขาอาจลืมไปแล้ว หรือยังหลงเหลืออยู่ …

.

นี่คือคำโปรยของ 𝐋𝐈𝐕𝐈𝐍𝐆 𝐂𝐈𝐍𝐄𝐌𝐀 ‘Southern Dawn : อรุณใต้’ การแสดงสดของ อัด-อวัช รัตนปิณฑะ, เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ และณัฏฐ์ กิจจริต ในพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมของ 𝗺𝗶𝗰𝗿𝗼𝗪𝗔𝗩𝗘𝗙𝗜𝗟𝗠𝗙𝗘𝗦𝗧𝗶𝘃𝗮𝗹 เทศกาลรวมคลื่น ~ หนังเคลื่อน ภายใต้เทศกาลสร้างสรรค์ประจำปีของภาคใต้อย่าง “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2024” (Pakk Taii Design Week 2024) หรือ PTDW2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ระหว่างวันที่ 17-25 สิงหาคมนี้ ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา, หาดสมิหลา, หาดใหญ่, จะนะ จังหวัดสงขลา, และจังหวัดปัตตานี

.

เรื่องราวของสาม ‘อรุณ’ โลดแล่นอยู่ในสามพื้นที่ปักษ์ ‘ใต้’ เมืองเก่าจังหวัดสงขลา ภายใต้การกำกับของ พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับภาพยนตร์และคลุกคลีอยู่ในวงการนี้เรื่อยมาด้วยผลงานอย่าง 'นคร-สวรรค์' (2561) ครั้งนี้เธอทดลองลงมากำกับการแสดงสดในแบบที่เธอไม่เคยทำมาก่อน เป็นการทำงานร่วมกันกับพื้นที่และผู้คนในท้องถิ่น โดยหยิบจับวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วอย่างอัตลักษณ์ของย่านเมืองเก่าสงขลา เขียนเป็นโครงเรื่องขึ้นมาและวางตัวละครไว้คร่าว ๆ พร้อมชักชวนนักแสดงที่เราคุ้นชินกันดีในจอภาพยนตรให้กระโดดลงมาร่วมปล่อยของ พร้อมพัฒนาบทและตัวละครไปด้วยกัน จนกลายมาเป็นอรุณ 3 แบบใน 3 พื้นที่แห่งความทรงจำ ได้แก่ ลานในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลาวัดยางทอง และโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น

.

1) อรุณ (หยาง) | หลานชาย ลูกครึ่งไทย-จีน | ลานในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

.

อรุณในร่างของอัด-อวัช เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่เติบโตมากับอากงซึ่งเป็นนักแสดงงิ้วมาก่อน อรุณคลุกคลีอยู่ในโรงงิ้ว มีชีวิตผูกติดอยู่กับศาสตร์และศิลป์ของการแสดงอุปรากรจีนเรื่อยมา ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักแสดงให้ได้ในสักวัน จนกระทั่งเขาย้ายเข้ามาในกรุงเทพ และพบกับบทเรียนที่ว่า ชีวิตและการเป็นนักแสดง มันไม่ได้สวยงามอย่างที่เขาเคยคิดและเฝ้าฝันหา

.

“ผมจะลบหน้าทุกวัน เพื่อเติมหน้าใหม่ทุกวัน และผมจะทำมันต่อไป”

.

การแสดงในจุดที่หนึ่งนี้เต็มไปด้วยห้วงแห่งอารมณ์และความรู้สึก ค่อย ๆ ไล่เรียงจากสภาวะฝันกลางวันถึงความทรงจำในอดีตจนถึงคราที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง และเมื่อประกอบเข้ากับเพลงจีนและบรรยากาศของลานในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ยิ่งช่วยขับเน้นให้คนดูรู้สึกตามไปกับอรุณได้เป็นอย่างดี ด้วยประเด็นที่ทุกคนสามารถเชื่อมโยงได้ว่าด้วยเรื่องความทรงจำและความฝันที่แต่ละคนเคยวาดไว้ ถึงแม้ฝันของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปแต่ก็คงใจสลายไม่น้อยถ้าฝันที่เราวาดไว้มันไม่เป็นอย่างที่คิด

.

2) อรุณ | วิญญาณ | ศาลาวัดยางทอง

.

“เมื่อเราตายไป เราจะมีความทรงจำแบบไหน?”

.

วิญญาณผีตนหนึ่ง (เอม-ภูมิภัทร) สิงสถิตอยู่ในวัดเรื่อยมา เขาจำไม่ได้ว่าตนเองเคยเป็นใคร ชื่ออะไร และมีตัวตนอยู่ได้ด้วยการยืมชื่อคนอื่นทีละคน ๆ วนไปเช่นนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งเขาตัดสินใจว่าจะลองเป็น ‘อรุณ’ ยืมชื่อและวิถีของอรุณ เขาพยายามจะเลียนแบบเป็นอรุณให้ได้ และพบว่าเขาคงไม่มีทางที่จะเป็นอรุณได้เลย แต่นั่นกลับทำให้เขาได้ลองค้นและพบหัวใจของเขาอีกสักครั้งหนึ่ง

.

การแสดงในจุดที่สอง นอกจากเอม-ภูมิภัทรที่รับบทเป็นผีตนนี้แล้ว ยังมีตัวละครอรุณที่วิญญานอยากจะเลียนแบบ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้มีความเชี่ยวทางด้านการรำมโนราห์กึ่ง Contemporary Dance มารับบทเป็นภาพแสดงของอรุณ รวมทั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและอาจารย์ในพื้นที่ที่เข้ามาเติมเต็มการแสดงผ่านเสียงขลุ่ยและเสียงซอ ทำให้การแสดงในจุดนี้มีมิติและขับเน้นสภาวะของตัวละครได้เป็นอย่างดี

.

3) อรุณ | นักแสดง | โรงสีแดง

.

เนื่องจากจุดที่สามนี้เป็นการแสดงสุดท้ายในพื้นที่ฉายหนังกลางแปลง ซึ่งมีฉากหลังเป็นทะเลสาบสงขลาและพระอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้า คล้ายกับวัฐจักรของนักแสดงที่มีเกิดแล้วก็มีดับเป็นธรรมดา จุดที่สามนี้ ณัฏฐ์ กิจจริต จึงเล่าเรื่องของอรุณ นักแสดงคนหนึ่งที่อาจไม่ได้เก่งกาจแต่พยายามส่งต่อความคิด ความทรงจำ ความสำคัญของรางวัล และความเชื่อของการเป็นนักแสดงที่คน ๆ หนึ่งต้องแบกรับไว้ ซึ่งคนดูไม่จำเป็นต้องเข้าใจหรือเห็นด้วยทั้งหมดก็ได้

.

“ฟังดูเหนื่อยนะ แต่ทำไงได้ ก็ในเมื่อไม่มีใครอยากดูอรุณเล่น”

.

ระหว่างที่นักแสดงผู้นี้กำลังเผชิญกับการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ทั้งหลายแหล่ของการเป็นนักแสดง แขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่างน้องหมาสีน้ำตาลที่คงจะใช้ชีวิตอยู่ในละแวกนั้น ก็มาส่งเสียงแสดงท่าทีให้ความสนใจหรือไม่ก็อาจจะเห็นต่างแบบสุด ๆ ทำให้บรรยากาศของการชมการแสดงสดในจุดนี้คึกคักขึ้นมาทันควัน ซึ่งสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้เหล่านี้นี่เองคือเสน่ห์ของการแสดงสด โดยเฉพาะการแสดงในย่านที่มีหลากหลายชีวิตและผู้คนในท้องถิ่นกำลังดำเนินไป

การข้ามศาสตร์ของนักแสดงและผู้กำกับสายหนังที่กระโดดลงมาทำการแสดงสดให้คนทั่วไปในพื้นที่ได้เดินชมไปตามจุดต่าง ๆ ใกล้บ้านคนสงขลา นับเป็นประสบการณ์และความทรงจำใหม่ ๆ สำหรับคนดู รวมทั้งตัวผู้กำกับและนักแสดงเอง ด้วยความคุ้นชินในการทำงานสายภาพยนตร์ที่ทำงานผ่านกล้อง ไม่เคยทำงานกับพื้นที่และคนดูเป็นร้อยคนเช่นนี้มาก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวเล็ก ๆ ที่น่าประทับใจของศิลปะการข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary) ระหว่างวงการภาพยนตร์และศิลปะการแสดง

.

สามารถรับฟัง Soundtrack of อรุณใต้ ได้ทาง https://www.youtube.com/@puangsoiroseaksornsawang345/

.

เรื่อง: Theeranai S.

ภาพ: Pakk Taii Design Week

.

ดู 33 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page