![](https://static.wixstatic.com/media/8bfaf6_8d2459dfdeda40d6a282043cffcb1793~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_1225,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/8bfaf6_8d2459dfdeda40d6a282043cffcb1793~mv2.jpg)
เชื่อสนิทใจเลยว่า 'ความทรงจำที่ผูกพันกับบทเพลง' นั้นต้องเป็นประสบการณ์ร่วมอย่างหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนได้แชร์ร่วมกัน พูดให้ง่ายก็คือ ประสบการณ์แบบที่พอเราได้ยินเพลงนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ภาพเหตุการณ์บางอย่างจะต้องฉายซ้ำขึ้นมาในหัวทันที ผมเองก็เพิ่งมีประสบการณ์นี้อีกครั้งหลังได้ดู The Greatest Hits หนังโรแมนติกแฟนตาซีเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้า Disney+ Hotstar ไปเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาเหมือนกันครับ และนี่ก็คือหนังที่หยิบเอาประสบการณ์แบบข้างต้นที่ว่านี้มาเป็นธีมหลักของเรื่องเสียด้วย
.
“The Greatest Hits” เป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องของ Harriet Gibbons โปรดิวเซอร์หญิงวงการเพลงคนหนึ่ง (แสดงโดย Lucy Boynton) ที่หลังจากสูญเสียแฟนหนุ่มในอุบัติเหตุ (แสดงโดย David Corenswet) เธอก็สามารถย้อนเวลากลับไปยังเหตุการณ์ในอดีตได้ผ่านเพลงต่างๆ ที่ทั้งคู่เคยฟังด้วยกัน โดยทุกๆ ครั้งเธอจะย้อนกลับไปยังโมเมนต์ที่เธอและคนรักได้ฟังเพลงนั้นเป็นครั้งแรก ความสามารถพิเศษนี้กลายเป็นเหตุผลที่แฮร์เรียตต้องสวมหูฟังตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้อย่างการได้ยินเพลง 'ย้อนอดีต' ทั้งหลายโดยไม่ได้ตั้งใจตามที่สาธารณะ ซึ่งอาจไปสับสวิตช์ความทรงจำเธอ และทำให้เธอแสดงอาการแปลกๆ ต่อผู้คนรอบข้าง
.
ผมไปสะดุดเข้ากับเพลงนึงครับ เป็นฉากที่ David Park (แสดงโดย Justin H. Min) ซึ่งเป็นชายหนุ่มที่แฮร์เรียตได้รู้จักจากกลุ่มบำบัด ชวนเธอไปนั่งรถเปิดประทุนของเขาชมเมืองแอลเอเล่น ระหว่างนั้นเดวิดหมุนคลื่นวิทยุไปเจอเพลง "I'm Like a Bird" เขาจึงเริ่มฮัมเพลงนี้ขึ้นมา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นร้องตามโดยมีแฮร์เรียตร้องคลอไปด้วยกัน จนกลายเป็นฉากน่ารักชวนให้อมยิ้ม และส่งผลกับผมสองอย่าง
.
อย่างแรกคือ ‘ความรู้สึกใจฟู’ ครับ การได้ยิน “I’m Like a Bird” อีกครั้ง ทำให้หัวใจพองโตแบบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เพลงนี้เป็นซิงเกิลเปิดตัวของศิลปินหญิงชาวแคนาเดียน Nelly Furtado จากอัลบั้ม Whoa, Nelly! เมื่อปี 2000 และการที่ The Greatest Hits หยิบเพลงอายุ 24 ปีเพลงนี้มาใส่ไว้ในหนัง สำหรับผมก็นับว่าเป็นเซอร์ไพรส์อยู่ไม่น้อย
.
“I’m like a bird
I’ll only fly away
I don’t know where my soul is
I don’t know where my home is”
.
ท่อนฮุกที่มีเมโลดี้ติดหูท่อนนี้ นอกจากชวนให้ผมนึกถึงมู้ดโทนของตัวมิวสิกวิดีโอที่เต็มไปด้วยความรู้สึกสบายๆ ไม่ต้องวิตกกังวลกับสิ่งใด ท่ามกลางบรรยากาศต้นไม้ใหญ่ซึ่งห้อมล้อมไปด้วยทุ่งหญ้ากับไอแดดอุ่นๆ แล้ว มันยังทำให้ภาพจำจากเอ็มวีที่เป็น ‘สภาพไร้แรงโน้มถ่วง’ ของเนลลี เฟอร์ทาโด และการ ‘ทิ้งตัว’ ของเธอในช่วงท้ายเพลง (ที่คล้ายกับเป็นภาพแทน ‘การโบยบินอย่างเสรีดั่งวิหค’) ผุดกลับขึ้นมาในสมองอย่างรวดเร็ว
.
เหนือสิ่งอื่นใด เพลงนี้ทำให้ผมหวนรำลึกถึงวันเวลา ความสุข ความทุกข์ และการรับมือสิ่งต่างๆ ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ยังมีไม่มากนักในช่วงนั้นครับ จำได้แม้กระทั่งสเปกตรัมของชีวิตตัวเอง ณ จุดนั้น ว่ากำลังรู้สึกอยู่ในโทนสดใสอุ่นใจแค่ไหน หรือหม่นหมองหนาวเหน็บอย่างไร
.
พูดแบบนี้อาจฟังดูกว้างไปสักหน่อย ถ้าจะให้เห็นภาพชัดกว่านี้อีกนิด คงต้องยกป็อปคัลเจอร์มาสักหนึ่งเหตุการณ์อย่างเช่น การที่มันชวนให้นึกถึงภาพวันวานเมื่อครั้งที่ตัวเองและเพื่อนๆ ในกลุ่ม รวมตัวไปนั่งดูช่อง MTV พลางลุ้นผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปพร้อมๆ กันที่บ้านเพื่อนอีกคน อะไรทำนองนั้น
.
น่าทึ่งใช่มั้ยครับ? ที่เพลงๆ หนึ่งมีอานุภาพในการหวนคืนความทรงจำให้เราได้ถึงเพียงนี้
.
งานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้อธิบายเอาไว้ว่า ความทรงจำที่หวนคืนจากการฟังเพลงหรือดนตรีนั้นเป็น ‘ความทรงจำอัตโนมัติ (involuntary memory)’ ซึ่งเกิดขึ้นในทันทีโดยที่เราไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือสั่งให้นึกถึง โดยนอกจากการฟังเพลงแล้ว การได้สัมผัสรสอาหาร หรือการได้กลิ่น ก็สามารถเรียกความทรงจำอัตโนมัติขึ้นมาได้เช่นกัน (ตัวอย่างของการเรียกความทรงจำอัตโนมัติจากการลิ้มรสอาหารที่หลายคนน่าจะนึกออก ก็คือฉากที่นักวิจารณ์อาหารนึกถึงวัยเด็กของตัวเองหลังได้ชิมอาหารแสนอร่อยในช่วงไคลแมกซ์ของ Ratatouille (2007) นั่นเองครับ)
.
อย่างไรก็ตาม การส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ และร่างกาย ที่ชัดเจนกว่าของดนตรี ทำให้บ่อยครั้งดนตรีสามารถดึงดูดความสนใจของเราได้มากกว่าตัวชี้นำทางอารมณ์แบบอื่นๆ ดังนั้นดนตรีจึงมีโอกาสถูกเข้ารหัสบันทึกร่วมไปกับความทรงจำที่เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้ง่ายกว่านั่นเอง
.
ยิ่งไปกว่านั้นการฟังเพลงที่ชื่นชอบยังเป็นกิจกรรมที่ถูกทำกันซ้ำๆ ในสัดส่วนที่มากกว่ากิจกรรมอย่างการดูหนังในดวงใจหรืออ่านหนังสือเล่มโปรด นั่นเท่ากับว่าการฝากรอยร่วมกันในความทรงจำ (รวมทั้งการนึกถึงขึ้นมาใหม่) ระหว่างเรื่องราวในชีวิตเราและบทเพลงเหล่านั้นก็ถูกทำซ้ำๆ ไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ดนตรีจะมีส่วนสำคัญในฐานะกุญแจไขตู้ความหลังที่สามารถพาเราหวนรำลึกวันวานกลับไปได้แม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายปีก็ตาม
.
ด้วยเหตุนี้ “I’m Like a Bird” ใน The Greatest Hits จึงเป็นเหมือนการฝากรอยใหม่ของเพลงโปรดเพลงเดิม เพิ่มเติมด้วยการเกาะเกี่ยวฉากแสนน่ารักนี้เข้าไปในความทรงจำผมแล้วเรียบร้อย และเกิดเป็นผลลัพธ์อย่างที่สองขึ้นมานั่นคือ ‘ความประทับใจ’ ครับ แม้จะเป็นแค่ซีนสั้นๆ ไม่กี่วินาที แต่สำหรับคนที่เคยมีช่วงเวลาที่ดีกับเพลงนี้มาก่อน การประทับรอยของฉากนี้ลงในหน่วยความจำสมองถือว่าเป็นความยอดเยี่ยมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย
.
เราจึงเห็นหนังแทบทุกเรื่องมักใช้เวทมนตร์ของดนตรีและบทเพลงเข้ามาสร้างความจดจำให้ผู้ชมเสมอ อันเนื่องมาจากพลานุภาพในการช่วยสลักความประทับใจของหนังเรื่องนั้นลงสู่ความทรงจำนั่นเอง ลองนึกถึงเสียงอันเสียดแทงของเครื่องสายจากดนตรีประกอบหนังเรื่อง Psycho (1960) ที่พาให้เราเสียวสันหลังทันทีที่ได้ยิน หรืออาจเป็น “Hedwig’s Theme” จาก Harry Potter (2001-2011) ที่สร้างความรู้สึกอยากผจญภัยและทำให้เราอยากไปเป็นเด็กอีกครั้ง หรืออย่างเพลง “She” ของ Elvis Costello ที่เชื่อเลยว่าเมื่อพยางค์แรกของเพลงถูกร้องขึ้นมา ใครต่อใครก็เห็นภาพรอยยิ้มกว้างสดใสของ Julia Roberts และบรรยากาศอุ่นไอรักของ Notting Hill (1999) ขึ้นมาในพริบตา …นี่คือความน่าพิศวงของบทเพลงที่ทำงานกับความทรงจำของเราครับ
.
ศักยภาพของเสียงเพลงที่แสนน่าทึ่งนี้ถูกยกระดับให้เป็นรูปธรรมในสไตล์แฟนตาซีขึ้นมาใน The Greatest Hits แฮร์เรียตไม่เพียงเปิดหีบความทรงจำได้ แต่เธอยังสามารถย้อนเวลาไป และควบคุมการกระทำบางอย่างในอดีตได้ด้วย เมื่อเธอต้องการกลับไป นั่นหมายความว่าเธอกำลังพยายามหาวิธีรักษาชีวิตคนรักเอาไว้เพื่อเป็นการทลายปมในใจลง กระนั้นแล้วเธอก็ไม่รู้ตัวว่าความพยายามนี้กำลังรั้งชีวิตเธอไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่ๆ เช่นกัน ในแง่หนึ่งหนังเหมือนโยนคำถามมาให้คิดเหมือนกันว่า บทเพลงร้อยพันที่ลากแฮร์เรียต (หรือตัวเราเอง) กลับไปยังโมเมนต์ต่างๆ ของชีวิตนั้น แท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่… ‘การยิ้มไปกับอดีต’ หรือ ‘การจมอยู่กับความหลัง’?
.
มีประโยคหนึ่งในหนังที่ผมชอบมากครับ (โดยเฉพาะถ้าฟังบทพูดภาษาอังกฤษไปด้วย) ฉากนั้นจิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มที่แฮร์เรียตเข้าบำบัด เล่าให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนฟังว่า…
.
ก่อนที่สามีฉันจะเสีย เขาพูดบางอย่างที่ฉันไม่มีวันลืม
(My husband, before he died, said this thing that stuck with me.)
.
เขาพูดว่า “ใช้ชีวิตให้สุดขีด”
(He said, “Live your dash.”)
.
บนศิลาหน้าหลุมฝังศพ มีวันที่เขาเกิด แล้วก็วันที่เขาเสีย
(On his tombstone is the date of his birth and the date of his death.)
.
คั่นกลางด้วย “ขีด”
(And in between is the “dash.”)
.
ฉันว่ามันเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ดี
(I always thought there were pretty decent words to live by.)
.
เป็นความหมายแฝงที่มหัศจรรย์ทีเดียวครับ “dash…ขีดกลางระหว่างวันเกิดและวันตาย”
.
ชีวิตยังมีเรื่องงดงามอีกมากมายรออยู่เสมอ จงใช้มันให้สุดขีดอย่างที่หนังบอกเอาไว้แล้วก้าวไปข้างหน้า อดีตที่ผ่านไปแล้วเราเก็บเอาไว้ในลิ้นชักความทรงจำที่ดี หากคิดถึงขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ใช้เสียงเพลงเป็นกุญแจวิเศษไขเข้าไปดูมัน แค่นี้ก็สุขใจแล้ว จริงมั้ยครับ
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
#TheShowhopper #Music #เพลง #แนะนำซีรีส์ #ซีรีส์ใหม่ #TheGreatestHits #DisneyPlusHotstar
Comments