
หากตำนานเรื่องหนึ่งเป็นแค่เครื่องมือของผู้เล่า แล้วในยุคที่มนุษย์เราผูกติดกับคอนเทนต์มากมาย เราจะยังคงเชื่อทุกเรื่องเล่าขานได้หรือไม่ คำถามนี้ผุดเข้ามาในใจหลังรับชม ‘กมล’ ละครเวทีเรื่องนี้จบ..
.
ก่อนอื่นต้องขอชมก่อนเลยว่า “กมล” เป็นละครเวทีที่ครบรสมากตั้งแต่การหยิบตำนานรักต่างชนชั้นอย่าง ‘มะเมี๊ยะ’ มาเล่าใหม่ที่ใส่ความเป็น Achillean (ความรักแบบชายรักชาย) เข้าไปอย่างแนบเนียน นำเสนอผ่านบทพูดสละสลวยแต่ทิ่มแทงใจ ซึ่งนักแสดงทั้ง 4 คนก็ถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก ส่วนการตีความใหม่ของกมลนั้นจะเป็นอย่างไร คอลันม์ ‘ไปดูมาแล้ว’ ขอรวบรวมมาให้อ่านกัน (อาจมีสปอยนิดหน่อย ถ้าใครอยากไปดูละครก่อนก็อดใจไว้อ่านหลังดูได้นะคะ)
.
ผู้เขียนต้องขอเล่าตำนานรักให้ฟังก่อนว่า ‘มะเมี๊ยะ’ หญิงพม่าที่มีอาชีพขายบุหรี่ยาสูบ พบรักกับ เจ้าศุขเกษม เจ้าชายแห่งเมืองล้านนา ที่เดินทางเข้ามาเรียนต่อยังเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องกลับล้านนา มะเมี๊ยะยอมปลอมตัวเป็นผู้ชาย เพื่อกลับไปกับเจ้าศุขเกษมด้วยในฐานะเพื่อน แต่ความรักของทั้งคู่ก็ต้องจบลงเมื่อถูกจับได้ และที่ร้ายแรงกว่าคือมะเมี๊ยะมีสัญชาติเป็นอังกฤษ ส่วนอนาคตของเจ้าศุขเกษม นอกจากจะมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ก็ต้องขึ้นเป็นเจ้าปกครองล้านนาด้วย ดังนั้นความรักนี้เป็นผลเสียต่อความมั่งคงของสยามแน่นอน มะเมี๊ยะจึงต้องลาจากเจ้าศุขเกษมโดยกลับพม่าไปตลอดกาล หลังจากทั้งคู่แยกจากกันเจ้าสุขเกษมก็เสียชีวิตลง ส่วนมะเมี๊ยะออกบวชชีตลอดชีพก่อนสิ้นลมหายใจในที่สุด
.
นี่คือความรักต้องห้าม เพราะมีเรื่องของสถานะ ชนชั้น เชื้อชาติและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้รักครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาเล่าอีกครั้งด้วยมุมมองที่ใหม่ใน เวอร์ชั่นของ กมล โดยละครได้แบ่งการเล่าออกเป็น 2 พาร์ท ในพาร์ทแรก เป็นการนำตำนานที่ได้กล่าวไปข้างต้นมาเล่าเหมือนเดิม เปลี่ยนแค่ชื่อตัวละคร จาก ศุขเกษม เป็น กมล (รับบทโดย วิศรุต หิมรัตน์) รักกับ เมียท (รับบทโดย กานดา วิทยานุภาพยืนยง) เล่าขานกับผู้ชมผ่านมุมมองของเฟื่องฟ้า (รับบทโดย ลูกหว้า พิจิกา จิตตะปุตตะ) คู่หมั้นสุดระทมของกมลที่เธอได้บอกกับผู้ชมตั้งแต่แรกเลยว่า ในตำนานนี้ตัวเธอเองก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย พร้อมทิ้งนัยยะคำถามถึงการเย็บผ้าของเธอนั้นเป็นเปรียบเหมือนการพยายามสร้างหรือซ่อมความรักของเธอหรือเปล่า ก็ยิ่งชวนให้อยากฟังเธอที่กำลังยืนอยู่ในฐานะ ‘ผู้เล่าเรื่อง’ เล่าต่อ
.
กระทั่งละครเฉลยปมแรกกับการที่เฟื่องฟ้าล่วงรู้แล้วว่า เมียทที่เธอรู้จักในฐานะเพื่อนชายของกมล เป็นผู้หญิงและเป็นคนที่คู่หมั้นเธอรักที่ทำเอาคนดูและผู้เขียนเองเผลอน้ำตาไหลไปกับรักสามเศร้านี้ แต่สิ่งที่เรียกเสียงเซอร์ไพรส์จากคนดู ซึ่งต้องบอกเลยว่า บางคนถึงกลับยกมือปิดปาก บางคนถึงกลับต้องหันไปมองคนนั่งข้างๆ ราวกับอยากเช็คสายตาและหูของตัวเองว่าไม่ได้ฟัง และไม่ได้เห็นอะไรผิดไป ก็คือการที่ กมลลุกขึ้นมาโต้ตอบกลับเฟื่องฟ้าว่า สิ่งที่เล่าให้ผู้ชมฟัง ไม่ใช่ตำนานของตน หรือรอวันที่ได้ตะโกนออกไปดังๆ สักทีว่า ไอ้เรื่องเล่าที่พวกคุณได้ยินกันหนาหูน่ะ มันไม่ใช่เรื่องรักต้องห้ามระหว่างชายหญิงต่างชนชั้น แต่มันคือความรักของอคิลเลียนต่างฐานะต่างหาก
ในตอนนั้นตัวละคร เมียท ก็ได้เดินจากเวทีไป ส่วนทางกับการปรากฏตัวขึ้นของตัวละครใหม่อย่าง ‘จายวิน’ (รับบทโดย วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) ชายหนุ่มคนรักของกมลเข้ามาแทนที่ เพื่อพาผู้ชมเข้าสู่พาร์ทที่ 2 ของละครที่จะเล่าเรื่องต่อและเล่าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของความรักต้องห้าม ผ่านมุมมองเจ้าของเรื่องเอง
.
เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร เราอยากชวนทุกคนไปรับชมด้วยตนเอง แม้ กมล จะเน้นเล่าเรื่องความรักมากกว่าความยัดแย่งระหว่างสยามกับพม่า แต่สิ่งที่ทำงานกับผู้เขียนมากๆ เลยคือการที่ผู้กำกับอย่าง ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น และเขียนบทโดย ‘ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น’ และ ‘จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ’ นำเสนอประเด็น ‘อำนาจ’ ที่แฝงมากับตำนานและเรื่องเล่า ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากๆ ผ่าน ‘มะเมี๊ยะ’ เอาจริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของรับรู้ตำนานรักที่ว่านี้อย่างกว้างขวางก็มาจาก “เพ็ชร์ลานนา” หนังสือที่เขียนโดยคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง จัดอยู่ในหมวดสารคดีชีวประวัติบุคคลสำคัญของล้านนา ที่ต่อมาก่อเกิดข้อถกเถียงมากมายว่า นี่คือเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งกันแน่
อย่างไรก็ตามมาการปลุกสำนึกให้คนดูเริ่มเฝ้าระวังต่อว่า เนื้อหาในพาร์ทที่ 2 นั้นจะถูกสับขาหลอกอีกหรือไหม พร้อมกับเริ่มเห็นใจตัวละคร จายวิน ที่เพิ่งจะมามีบทบาทในช่วงหลังนี้เอง หรือต้องเรียกว่า เพิ่งจะได้พูดเรื่องตัวเอง
.
หลังจากที่ถูกเรื่องเล่าของเฟื่องฟ้ากลบลบเลือนตัวตน เหมือนเขาไม่เคยมีชีวิตอยู่เลยแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ทำให้ผู้เขียนเห็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า นอกจากเรื่องเล่าจะสามารถสร้างกฏเกณฑ์ความเชื่อในสังคมได้แล้ว
“นี่สินะคือชะตากรรมของคนชายขอ” ที่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน หากคุณคือคนที่แปลกแยก ไปจากคนกลุ่มใหญ่ หรือทำอะไรสักอย่างที่ดูจะผิดทํานองคลองธรรมของสังคมนั้นๆ แย่หน่อยคุณอาจจะโดนห้าม หนักสุดก็คือการถูกทำให้หายไปหรือสูญหายไปเลยก็ได้ ทั้งที่จริงแล้ว เขาคือเหยื่อที่ถูกสังคมผลักออกเสียด้วยซ้ำ
.
ในโลกยุคปัจจุบันที่เราต่างผูกติดกับการเสพคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ หรือตามอ่านเธรดทวิตชีวิตใครสักคนที่พร้อมป้อนข้อมูลด้วยการใช้ภาษาดูน่าเชื่อถือมากมายให้เราเชื่อ หรือเอียนเอียงไปกับเรื่องเหล่านั้นจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่นำมาซึ่ง ‘Hate Speech’ ไปจนถึงการตามหาคนผิดอยู่ตลอดเวลา กมล จึงเป็นละครที่เข้ามาตอกย้ำเราอีกครั้งว่า การมีอยู่ของเรื่องเล่าหรือตำนาน เกิดขึ้นจากมุมมองหนึ่งของผู้เล่า และมันย่อมเปลี่ยนไปเมื่อเจอผู้เล่าคนใหม่ แต่เมื่อไหร่ที่มีเรื่องเล่าก็ย่อมมีเหยื่ออยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวละครในเรื่องเล่าเองก็ดีที่อาจเผลอขาดการคิด วิเคราะห์จนแยะไม่ได้ระหว่างความจริงหรือความลวง
.
ละครเวทีเรื่อง “กมล” ยังมีรอบการแสดงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 รอบ 19:30 น. / 15 และ 16 กุมภาพันธ์ 2568 รอบ 14:30 น.
.
*รอบวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 มี Post-show Talks หลังการแสดงจบ
**จัดแสดงเป็นภาษาไทย พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษทุกรอบการแสดง
จัดแสดงที่ โรงละคร กาลิเลโอเอซิส บัตรราคา 950 บาททุกที่นั่ง (ไม่มีการระบุเลขที่นั่ง)
.
จองบัตรได้ที่ Ticketmelon https://bit.ly/Kamoltheatre
.
เรื่อง: Nostalgia Woolf
.
#TheShowhopper #ไปดูมาแล้ว #Kamol #Kamoltheplay #รีวิว #GalileOasis #ละครเวที
Comments