นอกจากจะเป็นวันสิ้นสุดการรอคอยของสาวกดิสนีย์ที่จะได้ชม “The Lion King Live in Concert” คอนเสิร์ตที่จัดฉายภาพยนตร์เต็มเรื่องพร้อมการบรรเลงดนตรีประกอบสดๆ โดยวง Thailand Philharmonic Orchestra แล้ว วันนี้ก็ยังเป็นวันสำคัญของแอนิเมชันขวัญใจผู้ชมทั่วโลกเรื่องนี้ด้วยครับ เพราะว่าเป็นวันที่ The Lion King มีอายุอานามครบ 30 ปีเต็มพอดิบพอดี
.
ย้อนกลับไป 3 ทศวรรษก่อน วันที่ 15 มิถุนายน 1994 คือวันแรกที่ The Lion King ภาพยนตร์การ์ตูนลำดับที่ 32 จาก Walt Disney ได้ออกฉายอย่างเป็นทางการในสหรัฐฯ โดยเป็นการฉายในวงจำกัดก่อนเป็นเวลา 9 วัน ก่อนที่จะขยายเป็นการฉายวงกว้างทั่วประเทศในวันที่ 24 มิถุนายน
.
ความพิเศษของการฉาย The Lion King แบบจำกัดโรงในช่วงแรกนั้นคือ ก่อนการฉายหนังแต่ละรอบจะมีการแสดงสดบนเวทีของเหล่าตัวละครดิสนีย์จากหนังเรื่องต่างๆ เป็นเวลา 20 นาทีให้ชมกันก่อนด้วย โดยตัวละครเหล่านี้ก็จะมาจากหนังอย่างเช่น Snow White and the Seven Dwarfs (1937), Pinocchio (1940), Cinderella (1950), The Little Mermaid (1989), Beauty and the Beast (1991) และ Aladdin (1992) และแน่นอนค่าบัตรเข้าชมก็ถูกอัพราคาขึ้นมาให้เหมาะสมกับความเอ็กซ์คลูซีฟนี้ โดยผู้ที่สนใจต้องจับจองตั๋วกันไว้ก่อนล่วงหน้า
.
โรงละครที่ถูกเลือกให้จัดอีเวนต์พิเศษในครั้งนั้น ก็คือสองโรงละครเก่าแก่ในสองเมืองใหญ่ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของวงการศิลปะบันเทิงอเมริกันอย่าง El Capitan Theatre ที่ฮอลลีวูด ลอสแอนเจลิส และ Radio City Music Hall ที่นิวยอร์กซิตี้ …สำหรับโชว์ที่ Radio City Music Hall นั้น ได้ The Rockettes ซึ่งเป็นคณะนักเต้นประจำโรงละครแห่งนี้เป็นผู้ทำการแสดงให้
.
นี่คือกลยุทธที่น่าทึ่งของดิสนีย์ในครั้งนั้นครับ ดิสนีย์เลือกที่จะเปิดตัว The Lion King โดยหยิบเอาคอนเซปต์ “Roadshow Release” มาใช้ ซึ่งเป็นรูปแบบการเปิดตัวหนังที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงตั้งแต่ยุค 20 ซึ่งเป็นยุคต้นๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เรื่อยมาจนถึงหลังสิ้นสุดยุคทองของฮอลลีวูดเล็กน้อยอย่างยุค 60 นั่นเอง โดยเจ้าคอนเซปต์ที่ว่านี้ก็มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นอย่างเช่น
.
📽️ หนังจะเปิดตัวฉายในวงจำกัดตามหัวเมืองใหญ่ๆ ก่อน
📽️ ฉายแค่วันละไม่กี่รอบ
📽️ ตั๋วที่ขายจะเป็นแบบระบุที่นั่งซึ่งผู้ชมต้องซื้อล่วงหน้า
📽️ ตั๋วมีราคาสูงกว่าตั๋วในรอบฉายปกติซึ่งเป็นรอบที่จะตามมาหลังจากนั้น
📽️ มีสูจิบัตร หรือของที่ระลึกสำหรับผู้ชมจำหน่าย
.
ถ้าใครสังเกตให้ดี น่าจะพอมองออกใช่มั้ยครับว่าลักษณะการฉายแบบนี้คือการเลียนแบบพฤติกรรมของ “Theatre” หรือรูปแบบการออกแสดงของละครเวทีนั่นเอง มันคือการยกบรรยากาศแบบการแสดงสดมามอบให้กับผู้ที่มาดูหนังในโรงหนัง ซึ่งผู้ชมจะรู้สึกตระการตา น่าตื่นเต้น จดจ่อ ต้องไขว่คว้าเล็กๆ (เพราะมีให้ชมแค่ไม่กี่รอบ และต้องดั้นด้นไปแค่โรงที่ฉายเท่านั้น) และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ได้ความรู้สึก ‘พิเศษ’ กลับไปจากการชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ
.
หนังจำนวนมากที่ออกฉายในยุค 50-60 ที่เน้นความยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในแง่เรื่องราวของหนังหรือโปรดักชันงานสร้าง เช่น หนังที่เป็นสไตล์มหากาพย์อย่าง The Ten Commandments (1956), Lawrence of Arabia (1962) หรือหนังที่เป็นแนวมิวสิคัลอย่าง My Fair Lady (1964), The Sound of Music (1965) ฯลฯ ก็มักใช้คอนเซปต์ Roadshow Movie ในการทำการตลาด ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะพิเศษเพิ่มเติมจากที่กล่าวไปข้างต้นด้วย (และเชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับลักษณะเหล่านี้เป็นอย่างดี หากเคยชมหนังในกลุ่มนี้มาก่อน) นั่นคือ
.
📽️ หนังจะมีความยาวมาก เช่น 3-4 ชั่วโมง และถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ โหมโรง (Overture), องก์ที่หนึ่ง (First Act), พักครึ่ง (Intermission), ดนตรีระหว่างองก์ (Entr’acte), องก์ที่สอง (Second Act) และดนตรีส่งท้าย (Exit Music)
.
📽️ ในระหว่างการดำเนินไปของส่วนประกอบต่างๆ ของหนัง จะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นภายในโรงภาพยนตร์ด้วย เช่น ระหว่างโหมโรง ไฟในโรงภาพยนตร์จะยังส่องสว่างอยู่ แต่จะค่อยๆ มืดลงเมื่อดนตรีโหมโรงกำลังจะจบ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ม่านบนจอภาพยนตร์เปิดออก หรือตรงกันข้ามก็คือ เมื่อหนังจบลง และดนตรีส่งท้ายถูกบรรเลงขึ้น ม่านก็จะเลื่อนมาปิดจอภาพยนตร์ และไฟในโรงก็จะค่อยๆ สว่างขึ้น เป็นต้น
.
📽️ หนังบางเรื่องจัดตารางฉายเลียนแบบตารางการแสดงของละครเวทีแบบตรงไปตรงมา เช่น วันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ จะฉายวันละ 2 รอบ ส่วนวันอื่นๆ ของสัปดาห์ฉายวันละรอบเท่านั้น ซึ่งจำนวนรอบที่มีไม่เยอะนี้นอกจากจะสัมพันธ์กับความยาวของหนังบางเรื่อง (ที่ยาวมากๆ) แล้ว ส่วนหนึ่งก็คือเพื่อให้รอบฉายไม่เกร่อ สร้างความรู้สึก ’โหยหา’ ให้กับผู้ชม ให้มีความลำบากเล็กๆ ในการไขว่คว้าจับจองตั๋วนั่นเอง
.
สรุปง่ายๆ ก็คือ ‘Roadshow Release’ เป็นรูปแบบการฉายหนังที่มีความประณีตละเมียดละไมในกระบวนการฉายมากกว่าการฉายโดยปกติทั่วๆ ไป สิ่งนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหนังเรื่องนั้นๆ โดยเอาพฤติกรรมของผู้คนเมื่อเสพละครเวทีเข้ามาประยุกต์ ทุกคนลองคิดตามว่า เมื่อเราไปดูละครเวทีหรือคอนเสิร์ต เรามักจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมพร้อมอะไรบางอย่าง มากกว่าเวลาที่เราเข้าโรงหนังเฉยๆ จริงมั้ยครับ นี่ล่ะคือหัวใจสำคัญของ Roadshow
.
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Roadshow ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมาของนวัตกรรมชิ้นใหม่ของมนุษยชาติอย่าง ‘โทรทัศน์’ ด้วย เมื่อคนสนใจที่จะนั่งจ้องหน้าจอสี่เหลี่ยมที่บ้านมากกว่า เจ้าของโรงหนังและผู้สร้างหนังจึงต้องหาทางดึงคนกลับเข้าโรงหนังให้ได้ ดังนั้นนอกจากการสร้างหนังที่ดึงดูดผู้คนแล้ว การวางหมากด้านการตลาดด้วยกลวิธี Roadshow จึงต้องอยู่ในสมการเสมอ
.
สำหรับ The Lion King แม้ว่าจะเป็นหนังที่มีความยาวเพียง 1 ชั่วโมง 28 นาที แต่ดิสนีย์ก็ใช้กลยุทธสุดคลาสสิคนี้ในการเปิดตัว โดยเริ่มขายตั๋วสำหรับรอบ Roadshow ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 1994 หรือล่วงหน้าก่อนฉายจริงถึง 2 เดือน ซึ่งค่อนข้างเป็นอะไรที่ฉีกแพทเทิร์นฮอลลีวูดในเวลานั้นเป็นอย่างมาก เนื่องจาก Roadshow ในอดีตเท่าที่ผ่านมา การขายตั๋วจะเกิดขึ้นแค่ในระดับไม่กี่สัปดาห์ล่วงหน้าเท่านั้น แต่กระนั้นแล้วก็มีนักวิเคราะห์มองว่ามันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะในขณะนั้นดิสนีย์กำลัง ‘ยิ่งกว่ามั่นใจ’ ว่าพวกเขามีของดีอยู่ในมือ …ซึ่งดิสนีย์ก็คิดถูกจริงๆ!
.
ยอดจำหน่ายตั๋ว Roadshow ของ The Lion King นั้นพุ่งทะยานสุดๆ โดยเฉพาะในฝั่งนิวยอร์กที่รอบฉายช่วงสุดสัปดาห์ต่างก็ sold out กันรัวๆ ทั้งๆ ที่จัดในฮอลล์ยักษ์ระดับ 5 พันกว่าที่นั่งอย่าง Radio City Music Hall และราคาตั๋วก็สูงกว่าปกติ (ผู้ที่มาชมที่ Radio City Music Hall สามารถเป็นเจ้าของโฟโต้บุ๊คขนาดย่อมที่ชื่อว่า ‘The Lion King Commemorative Program’ ได้ด้วย ซึ่งตอนนี้หากใครอยากได้มาครอบครอง สามารถไปตามหาดูได้ใน eBay ครับ)
.
นอกจากนี้คนในวงการต่างคาดการณ์กันว่า The Lion King จะกลายเป็นหนังที่โกยเงินสูงสุดของซัมเมอร์นั้น และเก็บไปได้อย่างต่ำๆ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตัวเลขนี้หมายถึงยอดรายรับเฉพาะในอเมริกาเท่านั้นด้วย
.
ท้ายที่สุด The Lion King ขึ้นแท่นหนังทำเงินสูงสุดประจำปี 1994 ด้วยรายรับเฉพาะในอเมริกามากถึง 295 ล้านเหรียญฯ เมื่อรวมรายรับทั้งหมดตลอดการฉาย (ซึ่งกินเวลาช่วงปี 1995 เข้าไปด้วย) ตัวเลขสุดท้ายก็ขึ้นไปแตะที่ 315 ล้าน และหากรวมรายรับจากตลาดนอกอเมริกาอีก 450 ล้าน เบ็ดเสร็จแล้วหนังทำเงินได้สูงถึง 763 ล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขระดับอภิมหาศาลตระการตาสำหรับช่วงเวลาในยุค 90 เช่นนั้น
.
ความสำเร็จของ The Lion King ก่อให้เกิดการแตกแขนงเป็นผลงานอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังการ์ตูนภาคต่อที่ถูกสร้างเพื่อลง Home Entertainment หรือการถูกนำมาสร้างใหม่ในรูปแบบไลฟ์แอ็คชันเมื่อปี 2019 และกำลังจะมีภาคต่อออกฉายในชื่อว่า “Mufasa: The Lion King” ช่วงปลายปีนี้นั่นเอง ว่ากันว่าภาคใหม่นี้จะมีเส้นเรื่องที่เป็นทั้ง prequel และ sequel ในตัวเองด้วยครับ ถ้าใครเคยดู The Godfather Part II (1974) ซึ่งเล่าสลับไปมา 2 เส้นเรื่องน่าจะพอนึกภาพกันออก
.
หรือจะเป็นการถูกดัดแปลงให้เป็นละครเวทีก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน ตั้งแต่การคว้า 6 รางวัลโทนีรวมในสาขาละครเพลงยอดเยี่ยมเมื่อปี 1998 มาจนถึงการที่ละครยังเปิดแสดงอยู่จนทุกวันนี้ (และกาลครั้งหนึ่งเมื่อปี 2019 ก็เคยมาเปิดแสดงที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ด้วย) ปัจจุบันละคร The Lion King ครองตำแหน่งอันดับ 3 ละครที่เปิดการแสดงยาวนานที่สุดบนบรอดเวย์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยจำนวนรอบการแสดงมากกว่า 10,000 รอบ
.
ที่ฮอลลีวูดเองก็เพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 30 ปี The Lion King ไปครับ โดยใช้ชื่องานว่า “Disney’s The Lion King 30th Anniversary: A Live-to-Film Concert Event” จัดขึ้นที่ Hollywood Bowl เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีนักแสดงที่เคยให้เสียงพากย์ทั้งในฉบับการ์ตูน และไลฟ์แอ็คชัน รวมถึงแขกรับเชิญพิเศษต่างๆ ร่วมขึ้นแสดง ส่วนที่ลอนดอนก็กำลังจะมี The Lion King Live in Concert ที่ Royal Albert Hall ในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้เช่นกัน
.
นับว่าเป็นโอกาสดีมากๆ เลยครับที่ประเทศไทยเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฉลอง 30 ปี The Lion King ด้วย ใครมีบัตรแล้วอย่าลืมมาร่วมดื่มด่ำดนตรีสุดอลังการของ Hans Zimmer รวมถึง 5 บทเพลงสุดไพเราะของ Elton John และ Tim Rice ไม่ว่าจะเป็น “Circle of Life”, “I Just Can’t Wait to Be King”, “Be Prepaed", “Hakuna Matata” และ “Can You Feel the Love Tonight” ไปด้วยกัน อีเวนต์เค้ามาถึงที่แบบไม่ต้องบินไปชมที่ต่างประเทศขนาดนี้แล้ว บอกได้แค่ว่า ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามพลาดเด็ดขาดครับ!
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
Comments