จากข่าวผับฉาวของศิลปินดัง การคุกคาม บุลลี่ ไปจนถึงข่าวฉ้อโกงที่ผู้กระทำเป็นบุคคลอันเป็น ‘ที่รัก’ ของหลายๆ ด้อม ถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราชาวติ่ง จะต้องเริ่มมาตรการการ ‘เผื่อใจ’ อย่างจริงจัง
.
ในสายตาคนไม่เคยเป็นติ่ง ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเมื่อต้องตัดใจ ‘เลิกติ่ง’ อาจฟังดูเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว หรือดูตลกขำขัน แต่สำหรับคนเป็นติ่ง ต่างรู้ดีว่านี่เป็นประสบการณ์ที่ชวนใจสลายไม่ต่างจากการอกหัก หรือการสูญเสียคนที่เรารักและห่วงใยไป
.
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะความรู้สึก ‘รัก’ อย่างมากมายและลึกซึ้ง เกินจะนิยามด้วยคำว่าความ ‘ชื่นชม’ ธรรมดาๆ แบบที่แฟนคลับมีให้กับศิลปินนั้น เป็นความรักรูปแบบที่ยังคงแปลกใหม่อยู่มากสำหรับโลกใบนี้
.
เมื่อเทียบกับความรักรูปแบบอื่นๆ อย่างความรักโรแมนติก มิตรภาพ หรือความกตัญญูต่อบุพการี ที่มีมาตั้งแต่อรุณรุ่งของมนุษยชาติ คนทั่วไปเพิ่งจะเริ่มคุ้นเคยกับความหลงใหลได้ปลื้มของแฟนคลับต่อไอดอล (ที่แปลว่าแบบอย่างในชีวิตนะ ไม่ได้แปลว่าศิลปินเกาหลี) มากขึ้นหลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหลังโลภาภิวัตน์ทางสังคมเมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 นี้เอง ระลอกแรกคือหลังระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยีถ่ายทอดทางไกลเริ่มแพร่หลาย ผู้คนจึงเริ่มเป็นแฟนคลับคนดังได้ง่ายขึ้น และระลอกต่อมาที่ติดปีกบินถึงจุดพีคหลังการมาถึงของอินเตอร์เน็ต)
.
ความรักของพวกเราจึงดูเบาเสมอ ว่าเป็นความรู้สึกที่ไร้สาระ ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ใช่ของจริง และไม่ยั่งยืน เพราะเช่นนี้เอง เมื่อเกิดเหตุน่าสลดที่ทำให้กลุ่มแฟนคลับต้องตัดใจจากศิลปินคนใดคนหนึ่ง ภาวะเศร้าโศกของพวกเขาในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงโดนดูถูกจากผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมแฟนด้อมว่าไร้สาระเช่นกัน บางครั้งก็ถึงขั้นด่าว่าเป็นการอุปทานหมู่กันไปเอง
.
ในฐานะที่ผู้เขียนเติบโตมาโดยผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับวัฒนธรรมแฟนด้อม เคยเรียกตัวเองด้วยชื่อด้อมนั้น ชื่อด้อมนี้ ผ่านเมนมามากมายหลายคน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินไทย ตัวละครอนิเมะ ดาราฝรั่ง หรือไอดอลเกาหลี เราไม่เคยเห็นด้วยกับมุมมองที่ไร้หัวใจแบบนี้เลย จริงอยู่ ห้วงรักที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคอาจไม่ได้เกิดมาจากความสัมพันธ์สองทาง หากแต่เกิดจาก parasocial relationship ที่ดาราศิลปินเหล่านั้นไม่เคยมารับรู้ตัวตนของเรา แต่ทุกครั้งที่เรารัก เราเองก็ผ่านสเตจต่างๆ ของความรัก ตั้งแต่การรู้สึกถูกดึงดูดทางสายตา (หรือทางการได้ยิน) การตกหลุมรัก การทำความรู้จัก หรือการสร้างความทรงจำ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการตกหลุมรักผู้คนที่เราพบหน้าในชีวิตจริงเลย
.
ฉะนั้นแล้ว เมื่อไรก็ตามที่ศิลปินที่เรารักทำให้เราผิดหวัง ไม่ว่าจะด้วยความจริงที่ถูกเปิดเผย หรือด้วยการกระทำใดของตัวเขาเองก็ตาม คนเป็นติ่งก็ต้องผ่าน 5 stages of grief ผ่านระยะช็อก ปฏิเสธความจริง ผ่านความโกรธ ผ่านการต่อรองกับความสูญเสีย ผ่านความเศร้าซึม กว่าจะมาถึงระยะที่สามารถยอมรับความจริงและเดินต่อได้ ย่อมไม่ง่ายและอาศัยแรงใจมหาศาล
.
กระนั้นก็ตาม ถึงเราจะไม่เห็นด้วยกับทัศนคติดูแคลนความรู้สึกของชาวติ่งให้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘stan culture’ หรือวัฒนธรรมติ่งนั้นมีด้านเทาๆ (ไปจนถึงดำมืด) อันไม่น่าดูชมอยู่ ภายใต้แรงชักจูงของภาพลักษณ์เชิงบวกของตัวศิลปินคนนั้น บวกกับแรงขับเคลื่อนของ Mob Mentality บางครั้ง พฤติกรรมร่วมและความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นท่ามกลางฝูงคนที่ชื่นชอบคนคนเดียวกัน ก็สามารถกลืนกินสติสัมปชัญญะและสามัญสำนึกด้านศีลธรรมของเราไปได้เช่นกัน
.
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นตัวอย่างของกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่กรณีผับ Burning Sun และ Nth Room ที่หางเลขไปโดนศิลปินชายมากมาย มาจนถึงกรณีล่าสุด นั่นคือคดีล่วงละเมิดทางเพศของเมมเบอร์ภาพลักษณ์แสนดีจากบอยแบนด์ชื่อดังแห่งวงการเคป็อป
.
หากเทียบเคียงสถานการณ์กับ 5 stages of grief ก็คงเรียกได้ว่ามีแฟนคลับมากมายของคนเหล่านี้ที่ติดอยู่ในระยะปฏิเสธความจริง (denial) มาอย่างเนิ่นนานจนทางออกไม่เจอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปรากฏการณ์ echo chamber ที่เกิดขึ้นในหมู่แฟนคลับที่คิดแบบเดียวกัน ปลอบใจกันเอง และคาดหวังไปในทางเดียวกันว่า สักวันเรื่องเลวร้ายที่ได้รับรู้มาจะได้รับการแถลงไขว่าไม่ใช่เรื่องจริง
.
นี่แหละคืออันตรายที่แฝงมากับ stan culture เมื่อเราพบรักกับคนธรรมดาในชีวิตจริง หากได้ค้นพบในภายหลังว่าคนรักของเราเป็นปีศาจร้าย ต่อให้เราจะถูกความรักที่มีต่อคนคนนี้บดบังจนตามืดบอดขนาดไหน แต่สุดท้ายหากเราโชคดีพอ ก็อาจมีคนอื่นๆ ที่ห่วงใยเราคอยเข้ามาเตือนสติและพยายามดึงเราออกไปจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนี้
.
แต่เมื่อไรก็ตามที่ปีศาจร้ายที่เรารักเป็นคนดังที่ได้รับความนิยม ต่อให้จะมีกระแสตีกลับโจมตีคนคนนี้มากมาย แต่เมื่อมองไปอีกด้าน ก็จะมีฝูงชนกลุ่มหนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงความรู้สึกอยากปฏิเสธความจริงของเราเสมอ นั่นก็คือแฟนคลับคนอื่นๆ ที่ตกหลุมรักศิลปินคนเดียวกับเรา
.
ในยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้คนตระหนักรู้ถึงประเด็นความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมต่างๆ มากขึ้น และในขณะเดียวกัน พฤติกรรมของคนดังก็เริ่มได้รับการตรวจสอบมากขึ้น เราคิดว่ามาตรการที่ดีที่สุดที่ชาวติ่งสามารถทำได้คือการตั้งสติแล้วทบทวน ‘วิธีการ’ ที่ตนเองใช้ในการมอบความรักให้ศิลปินให้ดี
.
เช่นเดียวกับที่เราต้องรักตัวเอง เพื่อไม่ให้คล้อยตามรูปแบบความสัมพันธ์อัน toxic ในชีวิตจริง ชาวติ่งเองก็ควรเคารพตัวเองให้มากๆ และเผื่อใจเอาไว้เสมอว่าเราไม่รู้จักตัวตนจริงๆ ของคนดังเหล่านี้ ไม่ว่ามันจะร้ายหรือดีก็ตาม
.
และเช่นเดียวกับที่ใครหลายๆ คนตัดสินใจพักเรื่องรักๆ พักการมีแฟนในชีวิตจริงไปแบบยาวๆ การติ่งเองก็อาจไม่ได้เหมาะกับคนทุกคนเช่นกัน หากชาวติ่งคนไหนรู้ตัวว่าเป็นคนอ่อนไหวและใช้เวลาฮีลใจนาน บางทีเราอาจลองพักใจสักหน่อย ด้วยการถอยออกมาจากวัฒนธรรมติ่งสักหนึ่งก้าว ลดการเสพคอนเทนต์ที่มีความ personal สูงอันนำไปสู่ความผูกพันกับศิลปินในระดับลึกจนถอนตัวยากเกินไป แล้วหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของศิลปินคนนี้ในด้านอื่นๆ ที่เราไม่ต้องเสี่ยง ‘เอาใจไปลงเล่น’
.
เตือนตัวเองเสมอว่าสาเหตุที่เรามาเป็นติ่งในวันนี้ ก็เพื่อเพิ่มเติมความสุข ความชุ่มชื้นให้กับชีวิต ไม่ใช่เพื่อเอาชีวิตมาผูกติดกับการติ่งเพียงอย่างเดียว จนหลงลืมแง่มุมอื่นของชีวิตที่สำคัญไม่แพ้กันไป
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
.
Commentaires