top of page
รูปภาพนักเขียนGaslight Café

ประวัติศาสตร์วันปล่อยหนังชนโรง จนกลายเป็นคู่หูสุดเพอร์เฟค!



 การ “จับคู่ภาพยนตร์” (Movie Pairing) เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่หลายคนรู้จักจากเทรนด์ดังอย่าง ‘Barbenheimer’ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากการที่หนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มดีสองเรื่องที่ดูแตกต่างกันสิ้นเชิงอย่าง Barbie กับ Oppenheimer เปิดตัวฉายในวันเดียวกัน และถูกคาดหมายว่าจะโกยรายรับถล่มทลายเหมือนๆ กัน

.

Barbenheimer ก่อให้เกิดพลวัตหลายอย่างในวงการ ตั้งแต่ลำดับขั้นบนๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อย่างเช่นตัวเลขรายรับมหาศาลทั่วโลกจากหนังทั้งสองเรื่อง การเข้าชิงและชนะรางวัลใหญ่ๆ มากมายรวมถึงออสการ์ รวมไปถึงกระแสตื่นรู้ทางสังคมที่หนังนำเสนอ (โดยเฉพาะกับ Barbie)

.

มาจนถึงพลวัตลำดับล่างๆ อย่างคอมมูนิตี้ของคนรักหนัง ที่เกิดเป็นซับคัลเจอร์น่ารักๆ อาทิ การซัพพอร์ตซึ่งกันและกันของผู้ที่ชื่นชอบหนังสองเรื่องนี้ หรือการต้องเลือกว่าจะดูเรื่องไหนก่อนกัน ระหว่างงานคราฟต์สุดเนี้ยบของเสด็จพ่อโนแลนกับโลกชมพูสุดคูลของเกรต้า เกอร์วิค หรืออาจเป็นความคาดหวังว่าหลังจากกระแส ‘Barbenheimer’ แล้ว คอหนังจะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์สนุกๆ ของ movie pairing แบบนี้อีกมั้ย

.

แน่นอนว่าปีนี้เรามี ‘Glicked’ จากการจับคู่ของสองหนังน้ำดีอย่าง “Gladiator II” กับ “Wicked” ซึ่งความโดดเด่นของคู่นี้ก็ยังคงเป็นการ ‘ตัดกัน’ อย่างชัดเจนในแนวทางของหนัง เรื่องหนึ่งว่าด้วยไฟสงคราม การล้างแค้น โลกแห่งนักสู้ ตัวละครเพศชาย อีกเรื่องอุดมไปด้วยจินตนาการสดใส บทเพลง มิตรภาพ ตัวละครเพศหญิง

.

อย่างไรก็ตาม ฮอลลีวูดไม่เคยบอกว่าการจับคู่หนังที่ดีจะต้องมาจากหนังคนละขั้วเท่านั้น (อันที่จริงมันไม่เคยมีใครนิยามใดๆ เกี่ยวกับ movie pairing เหล่านี้ไว้เลยด้วยซ้ำ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องนิยามว่าด้วยว่าดีหรือไม่ดี) และ Barbenheimer กับ Glicked ก็ไม่ใช่ movie pairing เพียง 2 คู่ที่ฮอลลีวูดเคยมีมา วันนี้ The Showhopper จะพาทุกคนไปสำรวจรูปแบบต่างๆ ของเทรนด์ movie pairing สนุกๆ (ที่เราพอจะจับแพทเทิร์นได้) กันครับ



Pattern A: หนังในตำนานที่ออกฉายวันเดียวกัน แต่ contrast กันสุดๆ!!

ใช่แล้วครับ Barbenheimer กับ Glicked คือตัวอย่างของ movie pairing ในกลุ่มนี้ มันคือหนังดังต่างแนวที่แฟนๆ ให้การตอบรับเป็นอย่างดี และเมื่อเวลาผ่านไป มันก็กลายเป็นตำนานอันน่าจดจำครั้งหนึ่งของโลกภาพยนตร์

.

ในอดีตเคยมี movie pairing ประเภทนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เพียงแต่ ณ เวลานั้นยังไม่มีกระแสจับคู่ชื่อเรื่องมา ‘สมาส-สนธิ’ กันดังเช่นทุกวันนี้ โลกในตอนนั้นคือ เรื่องที่ดัง ก็ต่างคนต่างดัง หากแต่เมื่อเรามองย้อนกลับไปแล้ว สถานการณ์ของหนังเหล่านั้นอาจไม่ต่างอะไรกับ Barbenheimer หรือ Glicked ในยุคนี้เลย

.

ตัวอย่างของ movie pairing ในกลุ่มนี้

.

🎬 Up – แอนิเมชัน/ครอบครัว/ผจญภัย

🎬 Drag Me to Hell – ระทึกขวัญ/ตื่นเต้น/เหนือธรรมชาติ

เปิดตัวในอเมริกา: 29 พ.ค. 2009

.

🎬 The Dark Knight – ซูเปอร์ฮีโร่/อาชญากรรม/ระทึกใจ

🎬 Mamma Mia! – มิวสิคัล/ครอบครัว/เฮฮาปาร์ตี้

เปิดตัวในอเมริกา: 18 ก.ค. 2008

.

🎬 WALL-E – แอนิเมชัน/น่ารัก/อบอุ่นใจ

🎬 Wanted – แอ็คชัน/บ้าดีเดือด/ระห่ำสะใจ

เปิดตัวในอเมริกา: 27 มิ.ย. 2008

.

🎬 Casino Royale – แอ็คชัน/เจมส์ บอนด์/แฟรนไชส์ขึ้นหิ้ง

🎬 Happy Feet – แอนิเมชัน/ครอบครัว/สนุกสนาน

เปิดตัวในอเมริกา: 17 พ.ย. 2006

.

🎬 The Matrix – แอ็คชันไซไฟ/วิชวลล้ำ/ตัวละครเท่

🎬 10 Things I Hate About You – รอมคอม/วัยรุ่นคูลๆ

เปิดตัวในอเมริกา: 31 มี.ค. 1999

.

🎬 Titanic – มหากาพย์/ความรัก/น้ำตาแตก

🎬 Tomorrow Never Dies – แอ็คชัน/เจมส์ บอนด์/แฟรนไชส์ขึ้นหิ้ง

เปิดตัวในอเมริกา: 19 ธ.ค. 1997



Pattern B: หนังในตำนานที่ออกฉายวันเดียวกัน และ “ทางหนัง” แบบเดียวกัน

ในบางครั้ง movie pairing ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังที่ต่างขั้วกัน มีอยู่ไม่น้อยที่เป็นหนังที่ดึงความรู้สึกคนดูให้ไปในทางเดียวกัน หรือมีมู้ดที่ส่งเสริมกัน แม้ว่าหนังทั้งสองเรื่องอาจไม่ได้มีธีมใกล้เคียงกันเลยด้วยซ้ำ

.

ตัวอย่างของ movie pairing ในกลุ่มนี้

.

🎬 The Twilight Saga: New Moon – โรแมนติก/แฟนตาซี/ขวัญใจวัยรุ่น

🎬 The Blind Side – สปอร์ตดราม่า/ให้กำลังใจ/ไม่ซับซ้อน

เปิดตัวในอเมริกา: 20 พ.ย. 2009

.

🎬 Love Actually – รอมคอม/ฮอลิเดย์/ชุ่มชูใจ

🎬 Elf – ตลก/ครอบครัว/ฮอลิเดย์

เปิดตัวในอเมริกา: 7 พ.ย. 2003

.

🎬 Free Willy – ครอบครัว/ดราม่า/อบอุ่นใจ

🎬 Hocus Pocus – ตลกเบาสมอง/แฟนตาซี/ครอบครัว

เปิดตัวในอเมริกา: 16 ก.ค. 1993

.

🎬 Beauty and the Beast – แอนิเมชัน/มิวสิคัล/โรแมนติกแฟนตาซี

🎬 The Addams Family – ตลกร้ายเสียดสี/แฟนตาซี/เหนือธรรมชาติ

เปิดตัวในอเมริกา: 22 พ.ย. 1991

.

🎬 Ghostbusters – ตลก/แฟนตาซี/เหนือธรรมชาติ

🎬 Gremlins – ตลกร้าย/แฟนตาซี/ปีศาจ

เปิดตัวในอเมริกา: 8 มิ.ย. 1984

.

🎬 Blade Runner – ไซไฟ/อนาคต/ดิสโทเปีย

🎬 The Thing – ไซไฟ/สยองขวัญ/สัตว์ต่างดาว

เปิดตัวในอเมริกา: 25 มิ.ย. 1982



Pattern C: หนัง “ฝาแฝด” ที่ออกฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

สำหรับ movie pairing ประเภทนี้จะเป็นหนังที่มีพล็อตเรื่องใกล้ๆ กัน หรือว่าด้วย ‘บางสิ่งบางอย่าง’ ที่ใกล้เคียงกัน จนบางทีอาจทำให้เราเอะใจได้ว่า “นี่เค้าลอกการบ้านกันมาหรือเปล่า?” ยิ่งไปกว่านั้นมันมักออกฉายในช่วงเวลาห่างกันไม่นานซะด้วยสิ …เอ้อ สู้กันไปเลย!!

.

ตัวอย่างของ movie pairing ในกลุ่มนี้

.

🎬 Everything Everywhere All at Once – เปิดตัวในอเมริกา: 25 มี.ค. 2022

🎬 Doctor Strange in the Multiverse of Madness – เปิดตัวในอเมริกา: 6 พ.ค. 2022

ความใกล้เคียงกัน: แม้ว่ามู้ดโทนของทั้งสองเรื่องจะต่างกัน แต่ก็ว่าด้วยเรื่องวุ่นวายจากพหุจักรวาลอันทับซ้อนยุ่งเหยิงเหมือนๆ กัน

.

🎬 Dunkirk – เปิดตัวในอเมริกา: 21 ก.ค. 2017

🎬 Darkest Hour – เปิดตัวในอเมริกา: 22 พ.ย. 2017

ความใกล้เคียงกัน: เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีส่วนเกี่ยวข้องกับ Winston Churchill นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเวลานั้น เหมือนๆ กัน

.

🎬 The Illusionist – เปิดตัวในอเมริกา: 18 ส.ค. 2006

🎬 The Prestige – เปิดตัวในอเมริกา: 20 ต.ค. 2006

ความใกล้เคียงกัน: เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของนักมายากลในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เหมือนกัน

.

🎬 United 93 – เปิดตัวในอเมริกา: 28 เม.ย. 2006

🎬 World Trade Center – เปิดตัวในอเมริกา: 9 ส.ค. 2006

ความใกล้เคียงกัน: ถ่ายทอดเหตุวินาศกรรมช็อกโลกเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 เหมือนกัน แต่เลือกโฟกัสคนละเหตุการณ์

.

🎬 Antz – เปิดตัวในอเมริกา: 2 ต.ค. 1998

🎬 A Bug’s Life – เปิดตัวในอเมริกา: 20 พ.ย. 1998

ความใกล้เคียงกัน: เป็นแอนิเมชันที่มีตัวละครมด สัตว์จำพวกแมลง และเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความพยายามปกป้องอาณานิคมของมดเหมือนๆ กัน

.

🎬 Deep Impact – เปิดตัวในอเมริกา: 8 พ.ค. 1998

🎬 Armageddon – เปิดตัวในอเมริกา: 1 ก.ค. 1998

ความใกล้เคียงกัน: ว่าด้วยพล็อตเกี่ยวกับการรับมือของมนุษยชาติกับเหตุการณ์ที่อุกกาบาตกำลังจะพุ่งชนโลกเหมือนๆ กัน

.

🎬 Independence Day – เปิดตัวในอเมริกา: 3 ก.ค. 1996

🎬 Mars Attacks! – เปิดตัวในอเมริกา: 13 ธ.ค. 1996

ความใกล้เคียงกัน: ว่าด้วยสถานการณ์เอเลี่ยนบุกโลกเหมือนกัน เรื่องแรกมาในแนวหายนภัยจริงจัง ส่วนเรื่องหลังมาในโทนตลกร้าย



Pattern D: หนังที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย ไม่ได้ฉายใกล้กัน แต่คอหนังวิเคราะห์ว่ามี ‘ธีม’ หรือ ‘ฟีล’ บางอย่างที่ชวนให้นึกถึงกันและกัน

โลกเรามีหนังเป็นล้านเรื่อง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีหนังที่บอกเล่าเรื่องราวหรือคอนเซปต์ที่คล้ายคลึงกัน นั่นจึงเป็นที่มาของ movie pairing ในกลุ่มนี้ ซึ่งโดยมากมักมาจากการเลือกสรรกันเองของคนรักหนัง บางเรื่องอาจไม่ได้คู่กับอีกเรื่องเพียงเรื่องเดียว แต่ยังสามารถไปคู่กับเรื่องอื่นๆ ได้อีกด้วย เพราะอาจมีเลเยอร์ของการนำเสนอที่ไปทับซ้อนกันกับเรื่องนั้นนั่นเองครับ

.

ตัวอย่างของ movie pairing ในกลุ่มนี้

.

🎬 Babylon – เปิดตัวในอเมริกา: 23 ธ.ค. 2022

🎬 Singin’ in the Rain – เปิดตัวในอเมริกา: 11 เม.ย. 1952

ความใกล้เคียงกัน: ว่าด้วยวันเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของฮอลลีวูด เมื่อนวัตกรรม ‘หนังเสียง’ ได้ถือกำเนิดขึ้น

.

🎬 Singin’ in the Rain – เปิดตัวในอเมริกา: 11 เม.ย. 1952

🎬 Sunset Boulevard – เปิดตัวในอเมริกา: 10 ส.ค. 1950

ความใกล้เคียงกัน: สะท้อนถึงผลกระทบของ ‘หนัง’ ต่อ ‘ดาราหนัง’

.

🎬 Joker – เปิดตัวในอเมริกา: 4 ต.ค. 2019

🎬 Taxi Driver – เปิดตัวในอเมริกา: 8 ก.พ. 1976

ความใกล้เคียงกัน: ว่าด้วยผลกระทบของระบบ สังคม และเมืองใหญ่ ที่หล่อหลอมให้ชายคนหนึ่งแปรเปลี่ยนไปเป็นวายร้าย

.

🎬 Marriage Story – เปิดตัวในอเมริกา: 6 พ.ย. 2019

🎬 Kramer vs. Kramer – เปิดตัวในอเมริกา: 19 ธ.ค. 1979

ความใกล้เคียงกัน: พาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวของสามีภรรยาที่กำลังจะหย่าร้างกัน

.

🎬 13 Going On 30 – เปิดตัวในอเมริกา: 23 เม.ย. 2004

🎬 Big – เปิดตัวในอเมริกา: 3 มิ.ย. 1988

ความใกล้เคียงกัน: เล่าเรื่องเด็กวัยรุ่นที่วันหนึ่งพบว่าตัวเองได้สลับมาอยู่ในร่างผู้ใหญ่

.

🎬 The Shining – เปิดตัวในอเมริกา: 23 พ.ค. 1980

🎬 The Amityville Horror – เปิดตัวในอเมริกา: 27 ก.ค. 1979

ความใกล้เคียงกัน: เล่าเรื่องครอบครัวๆ หนึ่งที่ย้ายเข้าไปอยู่ในสถานที่หลอน และผู้เป็นพ่อถูกผีสิง



เรื่อง: Gaslight Café

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page