[มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์]
“เราเคยเห็นตัวละครเหล่านี้ในโรงเรียนมัธยมจริงๆ”
นี่คือความคิดของผู้เขียนระหว่างรับชมหนังเพลงเรื่อง “Mean Girls (2024)” (กำกับโดย Samantha Jayne และ Arturo Perez Jr.) เพราะเวอร์ชันล่าสุดนี้ทำถึงมากในการ ‘ขยาย’ มิติของคาแรกเตอร์ให้เราได้เข้าใจความคิดภายในใจของพวกเขาและเธออย่าง ‘สมจริง’ มากขึ้น เราเห็นความเจ็บแค้นของ “เรจิน่า” (แสดงโดย Reneé Rapp) ตอนบัลลังก์ตัวท็อปโรงเรียนของเธอถูกทำลายว่ามันทำลายเธอในระดับตัวตน เห็นความคลั่งรักชายหนุ่มอย่างไร้เดียงสาแบบกู่ไม่กลับ ของ “เคดี้” (แสดงโดย Angourie Rice) ได้เห็นว่าที่ “เกรทเชน” (แสดงโดย Bebe Wood) ต้องการความรักจากเพื่อนมากแค่ไหน และ “คาเรน” (แสดงโดย Avantika) ชอบที่ตัวเองเป็นแบบนั้นแม้จะโดนเพื่อนหลอกด่าเสมอ
เวลามองตัวละครเหล่านี้ในบริบทของภาพยนตร์ เราอาจมองว่ามันเว่อร์กว่าความเป็นจริง แต่หากลองมองดีๆ ต้องมีสักครั้งในชีวิตวัยเรียนที่เราเคยเห็นเรื่องราวคล้ายกัน เคยได้ข่าวมาไกลๆ ว่าคนนี้นินทาคนนั้น การรวมหัวกันบุลลี ป้ายสีคนอื่นด้วยข่าวเสียๆ หายๆ หรือเยินยอคนคนหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่เราก็อาจเคยมีพฤติกรรมเดียวกันกับตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ความเชื่อมโยงนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะบทภาพยนตร์ต้นฉบับของ Mean Girls สร้างมาจากหนังสือจิตวิทยาวัยรุ่นชื่อ “Queen Bees And Wannabes” โดย Rosalind Wiseman ในปี 2002.. มันถูกเขียนขึ้นมาจากเรื่องจริงของพวกเราเองนี่ล่ะ!
หนังสือ Self-Help เล่มนี้เป็นคู่มือสำหรับผู้ปกครองในการรับมือกับการเติบโตของ ‘ลูกสาว’ เพื่ออธิบายพ่อแม่ว่าโลกในรั้วโรงเรียนอาจส่งผลกับลูกๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งมันเกี่ยวโยงแบบสะท้อนกลับไปมากับการเลี้ยงดูในบ้านด้วย อาทิ หากเด็กสาวถูกเลี้ยงดูมาโดย ‘Hip Parents’ ที่พยายามทำตัวเองให้เหมือนเป็นเพื่อนของลูกและสปอยล์ลูกทุกอย่าง อาจลงเอยด้วยการที่ลูกจะไม่เคารพผู้ปกครองรวมถึงคนรอบข้าง โดยเนื้อหาส่วนนี้นำมาสู่การตีความเป็นตัวละครเรจิน่าและแม่ของเธอ หรือแม่ของเคดี้ ที่ไม่เข้าใจว่าลูกสาวของตัวเองเปลี่ยนจากเด็กน่ารักอ่อนหวานมาวีนเหวี่ยงใส่เธอได้อย่างไร โรซาลินด์ก็อธิบายในหนังสือว่าอาจเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจในตัวเองที่ได้รับมาจากสังคมเพื่อนที่มีการเปรียบเทียบแข่งขัน เป็นต้น
แต่ด้วยความที่หนังสือต้นฉบับเป็น Non-Fiction คือไม่มีตัวละคร ไม่มีเส้นเรื่อง “Tina Fey” ผู้เขียนบทและนักแสดงในภาพยนตร์ Mean Girls (2004) เลยสร้างทุกอย่างขึ้นมาจากประสบการณ์จริงในวัยเรียนของเธอ ประกอบกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ถูกอธิบายไว้ในหนังสือเล่มนั้น ทีน่าเคยให้สัมภาษณ์ว่าในฉากสุด Iconic ที่เรจิน่าชมเคดี้ว่าเธอน่ารัก แล้วเคดี้ขอบคุณ เรจิน่าเลยถามต่อว่า “เธอคิดแบบนั้นหรือ เธอคิดว่าเธอน่ารักจริงๆ ใช่ไหม?” เคยมีคนทำแบบเดียวกันกับเธอจริงๆ แล้วเธอเคยยังเห็นแม่ชมของสิ่งหนึ่งของเพื่อนว่าน่ารัก แต่กลับมาพูดกับเธอลับหลังว่ามันน่าเกลียดเหมือนที่เรจิน่าทำไม่มีผิด หรืออย่างชื่อตัวละคร “เดเมียน” และ “เคดี้” ก็มาจากชื่อเพื่อนวัยเรียนของเธอด้วย
ความน่าสนใจของบทภาพยนตร์ดัดแปลงนี้คือ ทีน่าหยิบวัตถุดิบในหนังสือมาใช้ได้อย่างชาญฉลาด เธอหยิบตัวอย่างบทสนาในหนังสือทั้งที่โรซาลินด์แต่งขึ้น และที่ได้มาจากการทำเวิร์กช็อปแม่และลูกสาว มาใช้เป็นบทของตัวละครจริง อย่างในฉากที่ “ครูนอร์บูรี่” ให้นักเรียนในโรงยิมหลับตาแล้วยกมือว่าใครเคยนินทากันลับหลัง การทิ้งตัวจากเวทีให้เพื่อนๆ รับเพื่อสร้างความเชื่อใจ แม้แต่การจัดผังในพื้นที่โรงเรียนและโรงอาหาร นี่เป็นต้นไม้ที่พวกคู่รักชอบมาจู๋จี๋กัน พวกนักกีฬาจะไปรวมตัวกันตรงนี้ ทั้งหมดล้วนมาจากการเก็บข้อมูลในเวิร์กช็อปที่โรซาลินด์เคยทำจริงๆ และถูกตีความออกมาเป็นภาพแสดงโดยทีน่า รวมถึงการอธิบายสัญชาตญาณของเด็กในโรงเรียนเทียบเคียงกับสัตว์ป่าที่เคดี้ชอบทำก็มาจากวิธีการเขียนในหนังสือต้นฉบับ
แม้ในหนังสือจะเป็นการอธิบายผ่านมุมมองของโรซาลินด์เสียส่วนใหญ่แต่ก็มีนักเขียนนักวิจารณ์หลายสำนักถอดเนื้อหาจากภาพยนตร์ออกมาเล่าผ่านทฤษฎีจิตวิทยาแบบชัดเจนเอาไว้ด้วย ยิ่งพอในหนังเวอร์ชัน 2024 เล่าความคิด ความต้องการ เป้าประสงค์แฝงของตัวละครผ่าน ‘เพลง’ ยิ่งทำให้คำอธิบายเหล่านี้เข้าใจง่ายมากขึ้น
“I've got money and looks
I am, like, drunk with power
This whole school
Humps my leg like a chihuahua”
- เพลง ‘Meet The Plastics’
“I wanna watch the world burn
And everyone turn mean!”
- เพลง ‘World Burn’
ท่อนเพลงเหล่านี้ของตัวละครเรจิน่าแสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีคำเรียกทางจิตวิทยาว่า ‘Relational Agression’
ข้อมูลจากบทความบนเว็บไซต์ Medium และ Psychology Today อธิบายสิ่งนี้ว่าเป็นการปั่นหัว ทำร้ายจิตใจหรือทำลายชีวิตของผู้อื่นผ่านการทำลายหน้าตาทางสังคม หรือความสัมพันธ์ที่สำคัญของเป้าหมาย ซึ่งนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการบุลลี และมักเกิดขึ้นเมื่อผู้กระทำมันต้องการปกป้องอำนาจของตัวเองในสังคมนั้นๆ ผนวกกับความที่วัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อน ภาพลักษณ์ และความเห็นที่ผู้อื่นมีต่อตัวเองเป็นอย่างมาก วิธีการนี้เลยได้ผลกับพวกเขา ตัวละครเรจิน่าเลยทำมันเพื่อแก้แค้นทุกคนหลังจากเธอสูญเสียอำนาจที่ตัวเองเชื่อมั่นว่าจะไม่มีวันถูกโค่นลงได้
เรจิน่าใช้วิธีปล่อยข่าวเสียหายของทุกคนออกไปเพื่อสร้างความขัดแย้งและโยนความผิดให้เคดี้เพื่อทำลายความป็อปของเธอในตอนนั้น แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรจิน่าทำสิ่งนี้ เธอทำมันมาตลอดตั้งแต่สมัยที่ปล่อยข่าวว่าเจนิสคลั่งรักเธอจนเสียสติ รวมถึงการแอบเอาเรื่องไม่ดีของเพื่อนในแก๊งพลาสติกไปเล่าต่อเรื่อยๆ เพื่อรักษาความดีความชอบและแสงสปอตไลต์ฉายมาที่เธอคนเดียว ว่าเมื่อเทียบกับคนเหล่านั้นเธอมีแต่เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับตัวเอง ส่วนคนอื่นมีแต่ข้อบกพร่อง และน่าเศร้าที่การวิจัยพบว่าการกระทำเช่นนี้มักเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มเพื่อนสนิท มากกว่าคนที่ห่างเหิน ทำให้เส้นของการเป็นเพื่อนรักเพื่อนร้ายเลือนลางมากเหลือเกิน
“รากเหง้าของปัญหานี้ที่ผู้หญิงต้องเผชิญในความสัมพันธ์ต่อกัน เกิดจากการที่ผู้หญิงไม่มีวิธีสร้างอำนาจแบบจับต้องได้ และยิ่งเราถูกพรากอำนาจนั้นไป เราจะยิ่งหาวิธีแสดงออกถึงอำนาจทางอ้อมมากขึ้น” - โรซาลินด์กล่าวในบทสัมภาษณ์ของ The New York Times
แล้วเพื่อนๆ ล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับทั้งภาพยนตร์ Mean Girls เวอร์ชันล่าสุดและมุมมองทางจิตวิทยาที่เราเล่าให้ฟังบ้าง สามารถแชร์กันได้ที่ช่องคอมเมนต์เลย ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูภาพยนตร์ ขอแนะนำให้เปิดใจไปลองดูกันจริงๆ
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
ที่มา:
.
Comments