📺🦑 แฟนเพจที่ได้ดู Squid Game ซีซัน 2 มีใครเอ็นดู ‘คู่หูนาวิก’ ผู้เล่นเบอร์ 388 และ 390 หรือ ‘ธานอส’ ผู้เล่นตัวดีดหมายเลข 230 เหมือนเราบ้าง? หรือถ้าให้พูดถึงด่านที่ชอบที่สุดของผู้เขียนก็คงขอยกให้ ‘เกมหกขา’ ที่ผู้เล่นร่วมด้วยช่วยกันสนุกไปกับเกมตรงหน้า ส่งเสียงเชียร์ โห่ร้องยินดีกันจนลืมกลัว
.
จริงๆ แล้วโมเมนต์หรือตัวละครติดตลกเหล่านี้ถูกเพิ่มเข้ามาอย่างตั้งใจ ประหนึ่งเป็นน้ำตาลตัดรสขมให้กับเรื่องราว ที่มีให้เห็นทุกที่ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม บทภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครเวที โดยสิ่งนี้มีคำเรียกว่า ‘Comic Relief’ หมายถึง การคลายความตึงเครียดทางอารมณ์ในบทละครที่ใช้องค์ประกอบของความตลกและสนุกสนานแทรกเข้ามาในบางช่วง (อ้างอิงจากเว็บไซต์ Merriam-Webster)
.
ซึ่งซีรีส์ Squid Game น่าจะเป็นตัวอย่างที่ผู้เขียนน่าจะเอามาใช้ยกตัวอย่างได้อย่างเห็นภาพมากที่สุด เพราะหากตัดองค์ประกอบเหล่านี้ออกไปซีรีส์เรื่องนี้คงจะเหลือเพียงแต่โศกนาฏกรรมแห่งความเหลื่อมล้ำที่หดหู่และน่ากลัวเอาเสียมากๆ กับการที่กลุ่มผู้ชม VIPs จับคนหลายร้อยมาเล่นเกมเอาชีวิตรอดแลกเงินรางวัลด้วยจุดประสงค์สุดหวังดีว่านี่คือ ‘การมอบโอกาส’ ให้กับคนที่พวกเขามองว่าสมควรได้และการตายก็กลายเป็นของขวัญแด่อิสรภาพจากโลกทุนนิยม (เห็นได้จากโลงศพผูกโบว์สีชมพูหวานสดใส) ลองคิดดูว่าถ้าทีมเขียนบทของซีรีส์เรื่องนี้ตัดสินใจไม่สร้าง Comic Relief ให้กับเรื่องราวนี้เลย ผู้ชมอย่างเราๆ คงซึมกันไปอีกนานหลังดูจบ หรืออาจจะไม่สามารถดูมันให้จบได้เสียด้วยซ้ำ
.
‘Comic Relief’ เลยเป็นจุดพักเบรกที่จำเป็นระหว่างเส้นทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดจบเรื่องที่ทำให้ผู้ชมจดจ่ออยู่กับโชว์ได้ และสามารถทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ‘ตัวละคร’ ที่มีนิสัยขี้เล่น คิดบวก ชอบปล่อยมุขฮา อย่างผู้เล่น 388 และ 390 หรือ คุณแม่คังเอซิมและลูกชาย ที่ดุด่ากันอยู่ตลอด รวมถึงตัวละครสุดแปลก ที่ไม่ได้ตั้งใจตลก แต่แค่มองหน้าก็ขำแล้ว แบบอปป้าธานอส หรือแม่หมอเทพธิดาพยากรณ์หมายเลข 044 นอกจากนี้ความขบขันยังสามารถนำมาแฝงในบทพูดเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการทำให้ทั้งช่วงตอนของเรื่องราวเป็นฉากคลายเครียดใหญ่ๆ อย่างเกมหกขาที่ผู้เขียนพูดถึงก่อนหน้าเลยก็ได้ โดยนอกจากการตั้งใจ ‘คลายเครียด’ ให้ผู้ชมแล้ว ยังมีจุดประสงค์ที่น่าสนใจอีกสามอย่างคือ
.
🤡 ใช้เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ชม และพาผู้ชมเข้าสู่ข้อมูลสำคัญของเรื่อง
.
เชื่อเลยว่าตัวละครที่ดูงงๆ ก่งก๊งกับเกมตรงหน้าจะทำให้ผู้ชมคิดถึงตัวเองว่าถ้าฉันเข้าไปเล่นเกมฉันคงจะงง มีการตอบสนอง หรือตัดสินใจอะไรไม่ต่างจากตัวละครเหล่านี้ แล้วหลังจากนั้นผู้ชมก็จะได้คำตอบต่างไปพร้อมกับตัวละครผ่านการเดินเรื่อง
.
🤡 ใช้เพื่อเตรียมใจผู้ชมก่อนเกิด Plot Twist
.
หลายครั้งฉากสุขสมอารมณ์เชิงบวกส่วนใหญ่ มักจะถูกใส่มาเพื่อให้ผู้ชมตายไม่ใจ ไม่ก็เพื่อให้ได้พักก่อนเกิดเหตุสะเทือนใจ อย่างในซีรีส์เรื่องนี้เกมหกขาก็เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดการสูญเสียตัวละครที่หลายคนรักและเชียร์ในเกมม้าหมุน แล้วลากยาวไปจนถึงความหดหู่จากการจลาจลในห้องน้ำไปจนจบ
.
🤡 ใช้เพื่อหลอกล่อผู้ชมให้ลดการ์ดทางความรู้สึก
.
ส่วนนี้จะผูกโยงกับข้อก่อนหน้าแบบใจร้ายกว่าหน่อย เพราะหากผู้ชมกำลังเพลิดเพลินกับความรู้สึกดี เริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว จากที่จะเป็นเทคนิคที่ถูกใช้เพื่อเตรียมใจอาจเป็นสิ่งที่จะทำให้ความเสียใจที่จะเกิดขึ้นตามมามีน้ำหนักมากกว่าเดิม ซึ่งประโยชน์ที่ผู้เขียนบทจะได้คือความอินขั้นสุดจากผู้ชมนั้นเอง เป็นการเล่นกับใจอย่างแท้จริง
.
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการทำความรู้จัก ‘Comic Relief’ ในวันนี้ แฟนเพจคนไหนร้องอ๋อแล้วนึกถึงโมเมนต์หรือตัวละครประเภทนี้จากผลงานเรื่องไหนที่คอนเฟิร์มค่าได้ผลของการใช้เทคนิคติดตลกนี้ ก็มาแบ่งปันกันได้ที่คอมเมนต์ด้านล่างเลย 👇
.
และสามารถรับชมซีรีส์เรื่อง Squid Game ทั้งสองซีซันได้ฉ่ำๆ ดูซ้ำวนไปอยู่อย่างนั้น ได้ทาง Netflix
.
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
.
.
ที่มา: https://www.mometrix.com/academy/comic-relief/
.
コメント