top of page
รูปภาพนักเขียนเจนจิรา หาวิทย์

รู้จัก 'Don Quixote' เรื่องราวของชายชราที่ 'อินนิยาย' จนเสียสติ

อัปเดตเมื่อ 2 ต.ค. 2567



“Don Quixote” คือการแสดงบัลเลต์ที่ต้องพูดถึงทั้งในด้านภาพแสดงและเรื่องราว เพราะมัน ‘สุดทุกทาง’ จริงๆ! ในฐานะโชว์นางคือบัลเลต์ที่อยู่ในลิสต์การแข่งขันระดับโลกด้วย ‘การเล่นท่ายาก’ ระดับปราบเซียนนักเต้น ที่ต่อให้มีทักษะทางกีฬาพ่วงมาด้วยก็อาจจะยังเต้นได้ยาก ทำให้ผลงานชิ้นนี้ถือว่า ‘ดูแล้วมันส์’ เลยสำหรับคอบัลเลต์.. ในด้านเนื้อหาก็ครบรสไม่แพ้กัน เพราะการแสดงถูกดัดแปลงมาจากผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกของสเปน โดย Miguel de Cervantes จากศตวรรษที่ 15 ที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง ทั้งตลกร้ายปน ให้แง่คิด จน The Showhopper ต้องหยิบมาเล่าให้แฟนเพจได้อ่านกัน กับเรื่องราวของ “Don Quixote” นิยายแฟนตาซี ที่จริงๆ แล้วไม่แฟนตาซี เพราะทั้งหมดเป็นเพียงแค่อาการเพ้อของชายชราคนหนึ่ง ผู้หยิบเอาทุกถ้อยคำในนิยายอัศวินมาคิดเป็นตุเป็นตะจนเชื่อว่าเป็นความจริง!

.

เชื่อว่าในช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากงานและปัญหาต่างๆ ผู้อ่านไม่น้อยจะต้องใช้ศิลปะและสื่อบันเทิงอย่าง หนังสือ ภาพยนตร์ หรือละคร ในการจรรโลงใจและ‘หลีกหนี’ ความเป็นจริงตรงหน้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนหลายครั้งอาจนำไปสู่ ‘อาการอิน’ โดยไม่รู้ตัว เกิดเป็นความรู้สึกเศร้า ซึ้ง สงสารตัวละคร หรือโกรธแค้นใจแทนเวลาเหล่าตัวละครถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม

.

บางคนถึงขั้นมีความรู้สึกค้างคา คิดถึงผลงานชิ้นนั้นวนๆ อยู่สักเดือนสองเดือนแล้วก็จางไป แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยในโลกนี้เช่นกันที่อาจจะ ‘อินเกิน’ จนไม่สามารถพาตัวเองออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้ เช่นเดียวกันกับ ‘Alonso Quijano’ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นอัศวินผู้เก่งกาจและใช้นาม ‘Don Quixote’ และออกตระเวนสร้างความวุ่นวายไปทั่วเมือง เชื่อว่าโรงเตี๊ยมเป็นปราสาท มองสาวขายบริการเป็นหญิงผู้สูงศักดิ์ ไปจนถึงการปลดปล่อยทาสหลายคนด้วยความเข้าใจผิด ในระดับที่ขนาดถูกทหารจับขังในกรงยังเชื่อว่าตัวเองกำลังถูกเชิญกลับบ้านอย่างสมเกียรติอัศวิน

.

 จากที่ผู้เขียนลองค้นคว้าข้อมูลทางจิตวิทยาเพื่อนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับตัวละครนี้ พบว่าจุดเริ่มต้นของอาการหลอนของ Don เกิดขึ้นจากพฤติกรรมหลีกหนี (Escapism) คือการเสพติดกิจกรรมหนึ่งอย่างมากและใช้สิ่งนั้นหลีกหนีความเป็นจริง ซึ่งสำหรับตัวละครผู้นี้เขาใช้นิยายอัศวินในการหลีกหนีความเบื่อหน่ายในวัยชรา เมื่อทำมากเข้าก็พัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพเสพติดความแฟนตาซี (Fantasy Prone Personality) คือเริ่มคิดต่อยอด จินตนาการ เห็นภาพสิ่งต่างๆ ทะลุออกมาจากหนังสื่อ และหนักสุดคือการก้าวเข้าสู่อาการเพ้อฝันอย่างสมบูรณ์ (Delusional Disorder) จากบทความของ Dr.Adrian Furnham ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยามหาวิทยาลัยลอนดอน บนเว็บไซต์ Psychology Today ได้เขียนบรรยายความผิดปกตินี้ไว้ว่าอาการจิตหลอนประเภทนี้สามารถพัฒนาหนักไปได้ถึงระดับการรับรู้ทางกายภาพ เช่นมองเห็นสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง จินตนาการรสชาติ หรือกลิ่นของบางอย่างขึ้นมาใหม่ อาทิ โดยปกติน้ำตาลมีรสหวาน แต่ผู้ป่วยอาจจะได้รับรสอื่นเพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น และจะหนักจนถึงขั้นที่การเตือนสติจากคนรอบข้างอาจไม่ช่วยอะไร เนื่องจากพวกเขาเลือกที่จะเชื่อไปแล้ว

.

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในตอนท้ายของวรรณกรรมชิ้นนี้คือคนรอบตัวที่รักและเป็นห่วงคุณลุง Alonso จะต้องจำใจเล่นตามน้ำ ท้าดวลเขามาประลองเพื่อขอให้เขาสละยศอัศวินทิ้งเมื่อแพ้ ซึ่งด้วยความเป็นจริงมันยากมากที่ชายชราอย่างเขาจะชนะได้ หลังจากพ่ายในการต่อสู้และบาดเจ็บจนสลบไป ครอบครัวของเขาก็พร้อมใจเผานิยายแฟนตาซีและปิดตายห้องหนังสือของเขาไปตลอดกาล และเป็นโชคดีเมื่อหลังจากฟื้นขึ้นมา อาการหลอนของเขาก็หายไป

.

นอกจากประเด็นทางจิตวิทยาที่น่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ ยังมีแก่นเกี่ยวกับ ‘สัจนิยม’ และ ‘จิตนิยม’ ที่แฝงไว้อย่างมีนัยสำคัญ คือถึงชายชราจะออกไปสร้างเรื่องเพราะความหลงผิด แต่การกระทำของเขาก็ส่งผลดีในหลายๆ ครั้ง เช่น การช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกคุกคาม หรือช่วยปลดปล่อยทาสที่กำลังถูกลงโทษ เมื่อเป็นเช่นนี้เขายังถือเป็นผู้ผิดอยู่หรือไม่

.

ซึ่งพอเราได้รู้ว่ากำลังจะมีการแสดงนี้ในรูปแบบบัลเลต์ โดย Novosibirsk Ballet คณะบัลเลต์ตัวปังจากรัสเซียมาให้พวกเราได้ชมกันในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะมาป้ายยาต่อ เพราะขนาดผลงานต้นฉบับยังเรื่องราวแน่นปึ๊ก ครบรส ขนาดนี้ การได้เห็นภาพแสดงผ่านการเต้นมันจะเล่าโลกในจินตนาการของ Don Quixote ได้อลังขนาดไหน อีกทั้งผลงานเรื่องนี้ยังนับเป็นบัลเลต์ปราบเซียนนักเต้น ในระดับที่นักกีฬายิมนาสติกยังต้องทึ่ง กับการหมุนตัวบนขาเดียว 32 รอบ โดยไม่มีหยุดพักและเทคนิคท้าทายอีกมากมายที่อยากให้แฟนเพจได้มารับชม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่เคยชิมลางการแสดงแขนงนี้มาก่อน ด้วยเนื้อหาที่ตลกชวนหัว เส้นเรื่องที่น่าติดตามจะทำให้เป็นโชว์ที่สนุกสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน!

.

“Don Quixote”

โดย Novosibirsk Ballet

.

ออกแบบท่าเต้น: Mikhail Messerer

อํานวยเพลง: Evgeny Volynsky

บรรเลงดนตรี: Royal Bangkok Symphony Orchestra

.

 รอบการแสดง

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 (19.00 น.)

ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

.

 สำรองที่นั่งทาง: https://bit.ly/3Ws61HV

.

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

.

ที่มา:

.

.

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page