ในแวดวงศิลปะการแสดง คำว่า ‘Stage Mother’ มีความหมายตรงไปตรงมาที่หมายถึงแม่ของนักแสดงเด็ก แต่กระนั้นแล้วคำนี้ก็มีความหมายแฝงในแง่ที่ไม่ค่อยจะดีนัก
.
เพราะมันยังหมายถึงแม่ที่เข้ามาควบคุมอาชีพการงานลูกของตน (ซึ่งอาจไม่ใช่เด็กแล้ว) อย่างเข้มงวด อีกทั้งยังกดดันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จ ตลอดจนเรียกร้องให้ลูกได้รับการปฏิบัติพิเศษบางอย่างมากกว่าคนอื่น จนบางทีเกิดเป็นภาวะคุกคามต่อตัวลูกเองรวมถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง และหลายครั้งต้นตอที่แท้จริงของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้ก็เกิดจากการที่ผู้เป็นแม่อยากใช้ชีวิตแบบที่ใฝ่ฝันผ่านลูกๆ ของตนนั่นเอง
.
วันนี้ The Showhopper ชวนคุณมาอำลาเดือนแห่งวันแม่ไปกับหนึ่งใน Stage Mother ที่โด่งดังที่สุดของแวดวงละครเวที กับ “Madame Rose” ตัวละครหลักจากมิวสิคัลระดับตำนานเรื่อง “Gypsy” ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1959 และกำลังจะกลับมาเปิดโปรดักชันใหม่ที่บรอดเวย์ปลายปีนี้กันครับ
.
Gypsy คือละครที่ว่าด้วยเรื่องราวเมื่อร่วมหนึ่งศตวรรษก่อนของ “Gypsy Rose Lee” นักระบำเปลื้องผ้าที่มีตัวตนจริง กับ “Rose Thompson Hovick” ผู้เป็นแม่ และเป็น Stage Mother ‘จากนรก’ (เคยมีบทความชิ้นหนึ่งเขียนเอาไว้แบบนี้จริงๆ ครับ) ผู้แต่งบทละครคือ Arthur Laurents โดยมี Jule Styne ประพันธ์ดนตรี และ Stephen Sondheim ประพันธ์คำร้อง แก่นหลักของละครจะเล่าถึงความพยายามของมาดามโรสที่ทำทุกหนทางเพื่อให้ลูกสาวทั้งสองของเธอประสบความสำเร็จในวงการ Vaudeville*
.
* ‘Vaudeville’ คือโชว์เบ็ดเตล็ดที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก ไม่เน้นเหตุเน้นผลใดๆ และรวมการแสดงหลายๆ อย่างผสมผสานกันไว้ เช่น ร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี แสดงตลก กายกรรม ฯลฯ เป็นที่นิยมมากในอเมริกาช่วงประมาณปลายศตวรรษที่ 19 ถึงยุค 30 และเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาต่อยอดมาเป็นละครมิวสิคัลทุกวันนี้
.
มาดามโรสมีลูกสาว 2 คน คือ “Louise” ลูกสาวคนโต (ซึ่งต่อมาก็คือยิปซี โรส ลี) และ “June” ลูกสาวคนเล็ก จูนนั้นมีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ในด้านการแสดง ซึ่งตรงข้ามกับหลุยส์ที่ดูแล้วคงไม่สามารถเอาดีทางด้านนี้ได้ อย่างไรก็ตามมาดามโรสได้ก่อตั้งคณะโชว์ของตัวเองโดยมีจูนเป็นตัวชูโรง มีหลุยส์เป็นผู้ร่วมแสดง และต่อมาก็รับเด็กชายอีกจำนวนหนึ่งเพิ่มเข้ามาในคณะ ทั้งหมดออกเสนอตัวไปตามโรงละครต่างๆ เพื่อหางานแสดงทั่วอเมริกา
.
วันเวลาผันแปร ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง เด็กๆ เติบโตขึ้น ความคิดอ่านที่เปลี่ยนไปก็เริ่มส่งผลต่อความเป็นอยู่ในคณะ จูนที่มักถูกใครๆ เรียกว่า ‘Baby June’ ไม่อยากมีตัวตนที่ถูกปะหน้าด้วยคำว่า ‘baby’ อีกต่อไป เธอเบื่อกับการอยู่ในกรอบเดิมๆ รับบทบาท (ทั้งบนเวที และในชีวิตจริง) แบบเดิมๆ เบื่อกับการถูกลิดรอนความฝันเพื่อทำตามความต้องการมากมายของผู้เป็นแม่ ส่วนเด็กผู้ชายก็อยากออกเดินตามเส้นทางชีวิตของตนเองหลังเริ่มเห็นแนวโน้มแล้วว่ายุคแห่ง vaudeville กำลังจะสิ้นสุดลงจากการมาของภาพยนตร์
.
ดังนั้นทุกคนจึงตีจากมาดามโรสไป เหลือเพียงหลุยส์ลูกสาวผู้ไร้พรสวรรค์ กับ “Herbie” ชายผู้ร่วมหอลงโรงด้วยกันมาตั้งแต่ต้นและรอวันที่จะได้แต่งงานกับมาดามโรส …เมื่อวิมานในอากาศพังทลายลง หลุยส์จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของโรสซึ่งวาดฝันผลักดันให้เธอมาแทนที่จูน
.
ความผิดพลาดในการจองคิวการแสดงครั้งหนึ่ง ทำให้คณะโชว์ของมาดามโรสมาลงเอยยังโรงละครที่มีการแสดงระบำเปลื้องผ้า แรกทีเดียวโรสไม่ต้องการให้โชว์ของเธอเข้าใกล้วังวนของการแสดงประเภทนี้ เพราะนั่นหมายถึงจุดตกต่ำในการไล่ล่าความฝันที่จะมีชื่อเสียงในแวดวง vaudeville แต่ด้วยสภาวะจำยอมด้านการเงินและสัญญาการแสดงระยะสั้น เธอจึงตกลงให้โชว์รันไปตามเดิม โดยให้คำมั่นสัญญากับเฮอร์บี้ว่า เมื่อการรันโชว์ทั้งหมดจบลงแล้ว เธอจะแต่งงานกับเขา หันเหไปประกอบอาชีพอย่างอื่น และปล่อยให้หลุยส์ได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง
.
อย่างไรก็ตามในคืนสุดท้ายที่โรงละครแห่งนี้ มีเหตุให้นักแสดงระบำเปลื้องผ้าคนหนึ่งไม่สามารถขึ้นแสดงได้ เมื่อได้ยินเข้า มาดามโรสจึงออกปากกับเจ้าของโรงละครว่าจะให้หลุยส์เป็นผู้ขึ้นโชว์แทน หลุยส์ไม่เต็มใจนักแต่ก็ไม่อยากขัดใจแม่ …และแล้วเธอก็ถูกจัดแจงโดยโรสให้อยู่ในลุคของ ‘สุภาพสตรีผู้สูงศักดิ์’ ซึ่งแตกต่างจากสาวเปลื้องผ้าคนอื่นๆ และถูกสอนว่าระบำเปลื้องผ้านั้นไม่ได้เปลือยทั้งหมด กลเม็ดที่ต้องทำก็คือ เปิดนิดยั่วหน่อย ‘เชิญชวนให้คนร้องเรียกขอดูอีก แต่ไม่ต้องให้ดู’
.
นี่เองครับคือจุดเริ่มต้นของยิปซี โรส ลี และทริคเล็กน้อยที่มาดามโรสสอนให้เธอในวันนั้นก็กลายเป็นกิมมิคสำคัญที่ทำให้เธอกลายเป็นนักระบำเปลื้องผ้าชื่อเสียงโด่งดังที่ไม่เหมือนใคร ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณจะได้เจอหากมีโอกาสได้ชมละครเพลงเรื่อง Gypsy
.
ถึงแม้ละครจะตั้งชื่อเรื่องว่า Gypsy ตามชื่อหนังสืออัตชีวประวัติ “Gypsy: A Memoir” โดยยิปซี โรส ลี ในปี 1957 ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการดัดแปลงเป็นมิวสิคัลเรื่องนี้ แต่โฟกัสหลักๆ ทั้งหมดนั้นตกอยู่ที่บุคคลผู้เป็นเบ้าหลอมตัวยิปซีอย่าง ‘มาดามโรส’ เต็มๆ
.
ช่วงเวลาอย่างต้นศตวรรษที่ 20 แบบนั้น ผู้หญิงไม่มีที่ทางมากนักเมื่อว่ากันถึงการก้าวมายืนแถวหน้าในสังคม โรสไม่เคยอยากเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ เหมือนคนอื่น เธออยากมีชื่อเสียง อยากถูกจดจ้องเป็นที่สนใจ และเธอขอยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง แต่เมื่อโชคชะตาไม่สามารถพาเธอไปยังจุดที่ต้องการได้ เธอจึงทุ่มความฝันทุกอย่างลงไปที่ลูกๆ ของตัวเอง เธอไม่นั่งรอโอกาสเฉยๆ แต่พุ่งเข้าใส่และคว้ามันเอาไว้ โดยให้ลูกๆ เป็นผู้โอบอุ้มมันแทนอยู่เสมอ
.
มาดามโรสอาจดูร้าย น่าเกรงขาม ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงวันเวลาอันแร้นแค้นของสังคมอเมริกาขณะนั้น ทั้งความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การผลัดเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจบันเทิง หรือแม้แต่ระบอบปิตาธิปไตยที่ยังแข็งแกร่งอยู่มาก
.
ซึ่งประเด็นหลังสุดนี้แม้ว่าละครไม่ได้โฟกัสตรงๆ แต่เมื่อมองจากมุมที่ว่า – การกำเนิดตัวตนของยิปซี โรส ลี จากการสนับสนุนของมาดามโรสนั้น มันคือการที่ลูกสาวก้าวเท้าสู่อาชีพที่ดูคล้ายเป็นรองในสังคมด้วยการปรนเปรอความบันเทิงให้เพศชาย โดยมาจากแรงผลักดันของมารดาผู้ที่ (เหมือนจะ) อยากทำอะไรๆ เทียบชั้นผู้ชายได้เสียเอง (โดยเฉพาะการที่โรสมีความฝันยิ่งใหญ่แบบ ‘อเมริกันดรีม’) – ก็นับว่าเป็นความย้อนแย้งชวนคิดต่อที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเรื่องราวได้สูงมากทีเดียวครับ
.
มาดามโรสได้พูดโมโนล็อกสำคัญท่อนหนึ่งเอาไว้ เธอบอกว่า “อยากรู้มั้ยฉันทำทั้งหมดนี่ไปทำไม?! ก็เพราะว่าฉันมันเกิดเร็วไป แล้วก็เริ่มต้นสายไปไงล่ะ” – ประโยคสั้นๆ ประโยคนี้น่าจะเป็นวรรคทองที่สะกิดให้ผู้ชมฉุกคิดกันไม่น้อยมาทุกยุคทุกสมัย เพราะใครๆ ก็ล้วนมีความฝัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสานฝันให้เกิดขึ้นจริงได้ และปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญ
.
ฝันบางอย่างของเราอาจเป็นไปไม่ได้ในคนรุ่นเรา แต่มันกลับเกิดขึ้นได้ในคนรุ่นต่อมา หรือความลำบากยากเข็ญบางอย่างในคนยุคเรา สามารถกลายเป็นเรื่องง่ายดายขึ้นมาทันทีในคนรุ่นลูกหลาน ซึ่งสิ่งที่ว่ามานี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่สเกลเล็กๆ อย่างเช่นความอยากมีอยากได้ทั่วไป ไปจนถึงสเกลใหญ่อย่างเช่นการอยากเห็นสังคมที่เปลี่ยนแปลง
.
ความคิดนี้หลอกหลอนมาดามโรสมาตลอดครับ เพราะโอกาสในการคว้าฝันให้ตัวเองนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนชื่อของเธอเลย ดังนั้นเมื่อโอกาสลอยมาถึงมือเมื่อไหร่ เธอจึงไม่ลังเลที่จะคว้ามันไว้แม้ว่านั่นจะไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็นของเธอเลยก็ตาม …นี่คงเป็นคำตอบแล้วว่าทำไมเธอถึงกลายเป็นทั้งแม่จากนรก สตรีที่น่าเห็นใจ มนุษย์ที่ใครๆ อยากออกห่าง ผู้นำที่น่ายกย่อง และยังเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีความซับซ้อนน่าสนใจที่สุดในแวดวงละครเพลงอเมริกัน
.
เมื่อเรามองย้อนกลับมายังผู้คนยุคนี้ เกือบหนึ่งร้อยปีผ่านไปหลังช่วงชีวิตของมาดามโรส เจ้ากรรมนายเวรในรูปแบบบุพการีที่ถูกเรียกว่า stage mother (หรือบางทีก็เป็น stage father) ยังคงมีข่าวให้ได้ยินไม่เสื่อมคลาย ยกตัวอย่างเช่น Ariel Winter อดีตนักแสดงเด็กจากซิทคอม Modern Family (ปัจจุบันอายุ 26 ปี) ที่ถูกแม่ของเธอ Chrisoula Workman คุมเข้มในเส้นทางสายนักแสดงอย่างสุดโต่ง เช่น ไม่ให้ไปเรียนหนังสือแต่จ้างติวเตอร์มาที่บ้านแทน, ให้กินแต่ไก่และแตงกวาเพื่อคุมน้ำหนัก, ตระเวนออดิชันไม่หยุดหย่อน, ให้ไปแต่ปาร์ตี้และบังคับให้แต่งตัวเปิดเผยสัดส่วนที่เกินวัย
.
หรือครั้งหนึ่งในสมัยเริ่มเป็นวัยรุ่น ที่นักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง Brooke Shields (ปัจจุบันอายุ 59 ปี) เคยตกเป็นข้อถกเถียงของสังคมจากการที่ตัวเธอในวัย 12 ปีแสดงบทโสเภณีเด็ก มีฉากเปลือยที่เกินงาม และมีฉากจูบกับผู้ชายที่อายุมากกว่า (แสดงโดย Keith Carradine ขณะอายุ 29 ปี) ในหนังดราม่าย้อนยุคเรื่อง Pretty Baby (1978) …แน่นอนว่าผู้จัดการส่วนตัวที่ปล่อยให้เธอแสดงก็คือ Teri Shields อดีตเมคอัพอาร์ติสท์และอดีตนางแบบซึ่งเป็นแม่ของเธอเอง (ลักษณะแบบนี้ มีคำเรียกอีกคำว่า “momager” ครับ มาจากคำว่า mom ผสมกับ manager)
.
หรือถ้าวนกลับมายังมาดามโรสอีกหน กรณีสุดโต่งของเธอก็มีเช่นกัน อย่างเช่นการที่เธอทำสูติบัตรปลอมๆ ของลูกสาวทั้งสองไว้หลายใบโดยมีจุดประสงค์ในการโกงอายุลูกๆ ให้มากกว่าหรือน้อยกว่าความเป็นจริง ถ้ามากกว่า ก็เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงานเด็ก แต่ถ้าน้อยกว่า ก็เพื่อลดราคาค่าโดยสาร นั่นจึงส่งผลให้ทั้งหลุยส์และจูนไม่รู้อายุที่แท้จริงของตัวเองอยู่นานหลายปี (ในมิวสิคัลไม่มีเล่าถึงพาร์ทนี้ แต่ท่อนหนึ่งในเพลง “Little Lamp” ซึ่งหลุยส์เป็นคนร้อง ก็มีการตัดพ้อว่า ‘I wonder how old I am’)
.
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือส่วนหนึ่งของหลายๆ เหตุผลครับว่าทำไม Gypsy ถึงกลายเป็นมิวสิคัลคลาสสิคที่ถูกหยิบมาปัดฝุ่นแสดงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานานถึง 65 ปี ถ้านับกันตั้งแต่ออริจินอลโปรดักชันจะพบว่า Gypsy กลับมาเปิดโปรดักชันใหม่ที่บรอดเวย์โดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 11-12 ปีเลยทีเดียว โดยแต่ละโปรดักชันที่ผ่านมาล้วนได้ดาราตัว “แม่” ของรุ่นมารับบทมาดามโรสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Ethel Merman, Angela Lansbury, Tyne Daly, Bernadette Peters และ Patti LuPone
.
และในการกลับมาเยือนบรอดเวย์เป็นครั้งที่ 6 นี้ Gypsy ก็ได้นักแสดงตัวท็อปที่สุดของวงการอย่างเจ้าแม่รางวัลโทนี Audra McDonald มารับบทมาดามโรสด้วย โดยจะเปิดม่านการแสดงอย่างเป็นทางการวันที่ 19 ธันวาคมนี้ (เริ่มรอบพรีวิว 21 พฤศจิกายน) ที่ Majestic Theatre อดีตโรงละครประจำของ The Phantom of the Opera นั่นเอง
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
Comments