“ดูท่าเต้นแต่ละวงก่อนแก ทำไมบางคนยังคาดหวังให้เขาร้องสด 100% คนนะไม่ใช่ตู้คาราโอเกะ”
“เราว่าคำว่าไอดอลมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องร้อง โวคอลไม่ใช่ทุกอย่าง ภาพรวมของเพิร์ฟสำคัญที่สุด”
“ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ถ้าร้อง Encore ท้ายรายการก็ควรสดเพราะไม่ได้เต้นเต็ม แต่ถ้าหมายถึงระหว่าง Performance เต็ม นี่ไม่ติดนะถ้าไอดอลจะลิปซิงก์”
แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง…
“แต่ไอดอลก็ยังได้ชื่อว่าเป็นนักร้องนะ อย่างน้อยก็ต้องร้องสดโอเค และต้องวิจารณ์เรื่องร้องได้”
“ไอดอลถูกเทรนมาให้ร้องเต้น ถ้าทำได้แค่เต้นก็ควรไปเป็นแดนเซอร์หรือเปล่า”
“จะแกว่ง จะหอบ จะเต้นไม่เต็มบ้างก็ไม่เป็นไร แต่อยากได้ยินเสียงร้องสดๆ ของศิลปินมากกว่าเสียง Pre-record”
ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับฝั่งไหนมากกว่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านิยามของคำว่า ‘ศิลปินไอดอล’ ในศักราชนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10-20 ปีก่อนแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย
หากยังจำกันได้ในช่วงพีคของไอดอล Gen 2 (กลุ่มที่เดบิวต์ในช่วง 2005-2011 เช่น Super Junior, Girl’s Generation, BIGBANG, SHINee) ไปจนถึง Gen 2.5 (กลุ่มที่เดบิวต์ในช่วง 2013-2015 เช่น Apink, Sistar, MAMAMOO) ไอดอลเคป็อปเคยต้องเผชิญหน้ากับความกดดันและตึงเครียด ภายใต้ความคาดหวังจากทั้งแฟนคลับและคนทั่วไปว่า จะต้องไม่เพียงร้องสดได้เท่านั้น แต่ต้องร้องได้ดีด้วย!
ถึงขั้นที่ผู้ติดตามวงการเคป็อปส่วนหนึ่งเริ่มจับผิดเหล่าไอดอลด้วยการเอาคลิปการแสดงบนสเตจมาเข้ากระบวนการ MR Remove เพื่อตัดสินว่าไอดอลวงไหนและเมมเบอร์วงคนใดร้องดีหรือไม่ดี แม้จะมีนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญมากมายออกมายืนยันว่า MR Remove ไม่ใช่เครื่องมือที่น่าเชื่อถือในการนำมาตัดสินหรือการันตีคุณภาพของเสียงร้องเลยก็ตาม
แทบจะไม่ต้องพูดถึงการลิปซิงก์เลย เพราะหากวงไหนพลาดโดนจับได้ ก็จะพบเจอกับการตีตราและกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่รู้จบ
และอาจเป็นเพราะเหตุผลนี้แหละที่ทำให้ไอดอลที่เดบิวต์และเติบโตในยุคนั้น ที่ยังคงมีอิทธิพลในวงการ มักเป็นวงไอดอลที่มีประสบการณ์โชกโชนและเจนจัดด้านการร้องสดอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น SHINee, ฮโยรินแห่ง Sistar หรือ MAMAMOO
หรือแม้กระทั่ง Girls’ Generation ที่ถูกเพ่งเล็งอย่างหนักในยุคนั้น ปัจจุบันเมมเบอร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องร้องอยู่แล้วตั้งแต่ต้นอย่างแทยอน หรือทิฟฟานี ก็ร้องเพลงเก่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่วนเมมเบอร์คนอื่นๆ ก็ต่างพัฒนาฝีมือจนได้รับการยอมรับเรื่องทักษะการร้อง
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น น้องเล็กของวง ซอฮยอน ผู้ที่ยุคหนึ่งเคยถูกวิจารณ์เรื่องเสียงหอบขณะแสดงสด แม้ปัจจุบันจะหันไปโฟกัสกับงานแสดงมากกว่า แต่บนเวที ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเส้นเสียงนิ่งและแข็งแรงขึ้นกว่าแต่ก่อนนี้ ทักษะการร้องสดของเธอน่าจะอยู่ในระดับที่สามารถแบทเทิลกับตำแหน่ง Main Vocalists ของวงไอดอล Gen 3-4 บางวงได้แบบสบายๆ
แต่นั่นจะทำให้เรากล่าวได้ว่าไอดอลยุคก่อน ‘มีความสามารถ’ มากกว่ายุคนี้เลยเชียวหรือ?
ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราแต่ละคนมองว่า ‘ศิลปินไอดอลที่ดี’ ควรเป็นอย่างไร
หากตัดสินจากทักษะการเต้นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโดยรวมแล้ว ไอดอลยุคนี้คงถูกตัดสินว่าดีกว่ายุคก่อน ด้วยศาสตร์ศิลปะการเต้นที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย รวมถึงการที่ค่ายเพลงในอุตสาหกรรมไอดอลให้ความสำคัญกับการออกแบบท่าเต้นขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่การไปตัดสินด้วยเกณฑ์ที่คับแคบ โดยไม่พิจารณาถึงบริบทเช่นนั้น ก็คงไม่ยุติธรรมกับไอดอลยุคก่อนสักเท่าไร?
แน่นอน แม้ค่านิยมจะเปลี่ยนไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนจะต้องเปลี่ยนความคิดไปในทิศทางเดียวกัน อย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วตอนต้นโพสต์ว่าคนส่วนหนึ่งในคอมมูฯ ติ่งเกาหลี ยังคงมองคำว่าไอดอล = ‘นักร้องที่เต้นได้’ พวกเขาจึงมีหน้าที่ต้องร้องสดให้ดี (หรือขั้นต่ำคือ ‘พอฟังได้’)
ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มองว่า นักร้องก็ส่วนนักร้อง ส่วนไอดอลก็คือ ‘ไอดอล’ ภายใต้นิยามที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับคำว่า ‘Performer’ มากกว่า นั่นหมายความว่าไม่ใช่ไอดอลทุกคนจะเป็นนักร้อง ไอดอลบางคนอาจเน้น Perform ด้วยการเต้น บางคนเน้น Perform ด้วยการร้อง/แร็ป บ้างก็เน้น Perform ด้วยวิชวล (หน้าตา รูปร่าง ทักษะการแสดงสีหน้าฯลฯ)
จึงเป็นธรรมดาที่ในวงการที่ใหญ่โตขึ้นทุกวันนี้ ไอดอลบางวงอาจโชคไม่ดีเท่าวงอื่น ไม่มีนักลาก High Note ปอดเหล็กสายดิว่า ที่สามารถรับมือกลับ Key Change ติดกัน 3 รอบได้ประหนึ่งเป็นร่างทรงพระแม่บียอนเซ่ ฉะนั้น หากอยากคีปคุณภาพ Performance ให้ดี การใช้ตัวช่วยอย่าง Backing Track หรือแม้แต่เสียงร้อง Pre-record เข้ามาช่วยให้สามารถโฟกัสกับการเต้น การแสดงสีหน้า และอื่นๆ ได้มากกว่า ก็เป็นตัวเลือกที่ถือว่าแฟร์ (หรือเปล่า?)
แล้วคำว่า ‘ศิลปินไอดอล’ สำหรับคุณล่ะมีนิยามว่ายังไงบ้าง? ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือสุดท้ายแล้ว สกิลการ ‘ร้องสด’ ยังจำเป็นอยู่ไหมในวงการ K-pop?
เรื่อง: Bloomsbury Girl
Comments