หลังจากจบลงไปหมาดๆ กับเทศกาลละครกรุงเทพ 2024 (Bangkok Theatre Festival 2024) ที่อัดแน่นไปด้วยการแสดงคุณภาพจากศิลปินและคณะละครมากหน้าหลายตาที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานมาโชว์ของกัน เชื่อว่าทุกคนที่ได้ไปไล่เก็บไล่ดู คงจะมีเรื่องที่ประทับอยู่ในใจกันไม่น้อย และต้องมีมากกว่าหนึ่งเรื่องแน่ๆ ไม่ว่าจะชอบด้วยบท ประเด็น การออกแบบโปรดักชันหรือการแสดง
.
วันนี้พวกเรา The Showhopper ก็มีละครหนึ่งเรื่องจากเทศกาลนี้ที่อยากหยิบมาพูดถึง อย่างเรื่อง The Sound Of Isan จากคณะละครม่านมอดินแดง ที่ชวนให้ผู้ชมขบคิด ตั้งคำถามกับความเป็น “อีสาน” ในสายตาของคนกรุง ที่แม้แต่ชาวอีสานเองก็ไม่เคยเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของมัน
.
เรื่องราวว่าด้วย “วิไล” สาววัยกลางคนที่เป็นพนักงานดีเด่นของบริษัทโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบของบริษัท เสมือนเป็นผู้รักษาหน้าตาของบริษัทและโรงแรมแห่งนี้ และทำหน้าที่ของตนมาอย่างดีในทุก ๆ วัน แต่กลับมีสิ่งหนึ่งที่แทรกเข้ามาในความรู้สึกของเธอ คือความเบื่อหน่ายและชินชา ต่อกิจวัตรเดิม ๆ ในการทำงาน จนกระทั่งเริ่มหมดไฟไปทีละนิดกับการตั้งคำถามถึงเป้าหมายของตนในการใช้ชีวิตไปแต่ละวัน จนกระทั่งได้พบกับ “แพรวา” บัณฑิตสาวจบใหม่ชาวอีสานที่เข้ามาสมัครงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับของโรงแรมที่วิไลทำงานอยู่ แพรวาเต็มไปด้วยความสดใส ความฝัน และความหวังที่จะได้งานในบริษัทนี้ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และหลุดพ้นจากความยากจน แต่สิ่งที่ทำให้เธอกลัวว่าอาจจะไม่ได้งานนี้ คือกฎแปลก ๆ ที่เคยได้ยินมาจากรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่บริษัทนี้ว่า “ถ้าอยากทำงานในบริษัทนี้ ต้องห้ามพูดไทยตกลาวเด็ดขาด!”
.
ความประทับใจแรกที่ผู้เขียนได้รับจากการรับชมละครเวทีเรื่องนี้ คือวิธีการนำเสนอแบบ Immersive ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของละคร โดยตัวละครวิไลจะเป็นคนเดินแจกเอกสารประเมินการสัมภาษณ์งานให้กับเหล่าผู้ชม จึงทำให้สถานะของผู้ชม ณ ขณะนั้นเป็นเหมือนกับหนึ่งในทีมประเมินการสัมภาษณ์ ซึ่งการตัดสินใจของผู้ชมเองก็จะมีส่วนในการทำให้แพรวาได้หรือไม่ได้งานนี้ รวมไปถึงการจัดที่นั่งของคนดูแบบ Arena ที่ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นแบบรอบด้าน และสามารถเพลิดเพลินไปกับละครได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของที่นั่งก็ตาม นอกจากนี้ การจัด stage ที่มี “ม่าน” กั้นระหว่างวิไลและแพรวา ยังให้ความรู้สึกที่ต่างกันออกไปในความรู้สึกของคนดูที่นั่งในฝั่งใดฝั่งหนึ่งของสองตัวละคร ทำให้การรับรู้ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไป
.
แต่สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือการฉายภาพความคิดที่อยู่ภายในหัวของแพรวาในระหว่างการสัมภาษณ์ผ่านโปรเจคเตอร์ ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเอาใจช่วยและลุ้นไปพร้อม ๆ กัน มีไม่น้อยเลยที่ความคิดของแพรวาทำให้ผู้ชมสามารถรู้สึก related กับเธอ ทั้งความตื่นเต้นในการสัมภาษณ์งานครั้งแรก ความกลัวที่จะถูกปัดตกเพียงเพราะเผลอ “พูดตกลาว” ในขณะสัมภาษณ์ หรือแม้แต่การตระหนักถึงบางสิ่งที่บาดลึกไปถึงจิตใจของเธอและคนดู
.
คามแตกต่างของวิไลและแพรวาถูกทำให้ชัดเจนขึ้นด้วยม่านที่กั้นระหว่างคนสองคน อีกทั้งยังมีการจัดแสงที่ชวนให้รู้สึกถึงความขัดแย้งกันของทั้งสองตัวละคร ที่ฝั่งของแพรวาจะดูมีความสดใสและชีวิตชีวา ในขณะที่ฝั่งของวิไลจะให้ความรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย หรือแม้แต่กดดัน มองเห็นความต่างของสองช่วงวัยและสิ่งที่สังคมการทำงานได้พรากไปจากวิไล ที่ในปัจจุบันไม่หลงเหลือความสดใสในแบบที่แพรวามีอยู่อีกแล้ว
.
แม้บรรยากาศจะดำเนินไปด้วยความอึดอัด แต่สิ่งที่ทำให้แพรวาสามารถผ่อนคลายได้ คือการได้พูด “อีสาน” หลังจากพยายามอย่างมากที่จะไม่หลุดพูดออกมาแต่ก็กลับเป็นเรื่องยากเหลือเกิน เมื่อได้เป็นตัวของตัวเอง ความมั่นใจของแพรวาก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมไปด้วยชีวิตชีวาที่ทำให้แม้แต่ตัววิไลเองก็เกือบหลงลืมไปว่าตนก็เคยมีช่วงเวลาแบบนั้น พวกเขาได้คุยถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่หัวข้อการสัมภาษณ์งาน แต่ยังเป็นเรื่องของการยอมรับกับสิ่งที่ไม่อาจเป็นดั่งใจที่อาจจะเข้ามาในชีวิต
.
และการตามหาความหมายของการมีชีวิต ที่แม้แต่วิไลก็รู้สึกสะอึกเหมือนกันจากการได้ยินสิ่งเหล่านี้ผ่านมุมมองของเด็กสาวจบใหม่ ในตอนท้ายของละคร เมื่อการสัมภาษณ์จบลงและแพรวากลับไปเรียบร้อยเพื่อรอแจ้งผลการพิจารณาอีกที วิไลกลับเดินไปนั่งยังเก้าอี้ของแพรว่า ในท่าทีที่เต็มตื้นไปด้วยความรู้สึกอันอัดแน่น และผมทรงเดียวกันกับเด็กสาวที่เพิ่งจะเดินออกไป…
.
แท้จริงแล้ว การสัมภาษณ์นี้อาจจะไม่เคยมีอยู่จริงเลยก็ได้ แม้แต่แพรวาเองก็เช่นกัน ทุกอย่างอาจเป็นสิ่งที่วิไลสร้างขึ้นมาในหัวเพื่อกลับมาระลึกถึงสิ่งที่ตัวเองเคยเป็น และสิ่งที่ได้หลงลืมไปเพื่อพยายามกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองกรุง เหมือนได้ย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่ตัวเองยังเป็นเด็กสาวจากต่างจังหวัดที่หอบความสดใสและความหวังมายังเมืองใหญ่แห่งนี้ แต่ก็ถูกความโหดร้ายสังคมหล่อหลอมและพรากความไร้เดียงสานั้นไปเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นหญิงวัยกลางคนที่เริ่มตามหาเป้าหมายของการมีชีวิตไม่เจออีกต่อไปแล้ว ราวกับได้ทำมันหล่นหายไปที่ไหนสักแห่ง
เช่นเดียวกันกับตัวตนที่ยอมทิ้งไปเพื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่มักจะพรากความเป็นตัวเองของผู้คนไปเสมอ โดยแลกมันเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ หรือเพื่อให้กลายเป็นแกะขาวเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ
.
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจจากการรับชม คือการที่ทีมงานฉายบทสัมภาษณ์จากชาวบ้านในภูมิภาคอีสาน ที่เล่าถึงความภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง และมาถึงประเด็นที่เป็นจุดเริ่มต้นของละครเวทีเรื่องนี้ คือคำถามที่ว่า “แล้วอีสานแท้คืออะไรกันแน่” ในสายตาของคนกรุง เพราะแม้แต่ชาวอีสานเองก็ไม่อาจหาคำตอบให้มันได้ อาหาร? ดนตรี? วัฒนธรรม? หรือวิถีชีวิต? จนได้พบว่าแท้จริงแล้ว ความเป็นอีสานที่คนกรุงมักจะพูดกัน ไม่ใช่การกล่าวถึงสิ่งที่ข้างต้นมาเลย แต่คำว่า “อีสาน” หรือ “คนอีสาน” กลับถูกใช้เรียกในเชิงบริบทของการ “เหยียด” หรือ “ดูถูก” ในสิ่งที่คนอีสานเป็น ทั้งเรื่องของภาษา หรือแม้แต่วิถีชีวิตของพวกเขา โดยมีคำว่า “บ้านนอก” เป็นการขยายภาพของความเป็นอีสานอีกทีในมุมมองของคนกรุง ดังที่ปรากฏในละครเวที แพรวากังวลว่าความเป็นชาวอีสานของตนจะทำให้ถูกปัดตกจากตำแหน่งงานนี้จากการถูกพูดกรอกหูด้วยข่าวลือที่ประโคมผ่านรุ่นพี่ที่ทำงานที่นี่มาก่อน
.
เพราะภาพที่คนกรุงมองพวกเขาเป็นไปในเชิงของการดูถูกมากกว่าการชื่นชม แต่แม้ว่าแพรวาจะพยายามแค่ไหนที่จะข่มกลั้นสิ่งที่เธอเป็น แต่ในเมื่อมันไม่ใช่ตัวตนของเธอ สุดท้ายก็จบที่การขออนุญาตวิไลในการพูดภาษาบ้านเกิดของตนในระหว่างการสัมภาษณ์ และนั่นทำให้แพรวาสามารถเรียกความมั่นใจของตนกลับมาได้ และเป็นตัวของตัวเองในที่สุด
.
สำหรับผู้เขียนเองที่เคยพบเห็นบริบทของคำว่า “อีสาน” ถูกใช้ไปในเชิงเหยียดหยามหรือดูถูกก็รู้สึกสะเทือนใจไม่น้อยเช่นกันหลังจากรับชมละครเวทีเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ชาวอีสานนั้นภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น และมองว่าเป็นเป็นเรื่องปกติที่จะใช้ภาษาท้องถิ่นหรือมีวิถีชีวิตแบบทั่ว ๆ ไป แต่คำว่า “อีสาน” กลับถูกนำไปใช้ในแง่ลบหรือกดผู้อื่นเสียเยอะ ซึ่งสารที่ได้รับจากผู้กำกับละครอย่างคุณ รุ่งรัตน์ บรรจง ก็ทำให้ผู้เขียนสะอึกไม่น้อยเลยทีเดียว
.
“สุดท้ายเราก็ได้เข้าใจว่าอีสานแท้มันไม่ได้มีอยู่จริง มันก็แค่วาทกรรมหนึ่งที่คนกรุงใช้ในการ stereotype คนต่างจังหวัดในแง่ลบเท่านั้นเอง”
.
The Sound Of Isan จึงเป็นหนึ่งในละครเวทีที่ผู้เขียนไม่ผิดหวังเลยที่ได้ไปรับชมในปีนี้ ด้วยบริบททางสังคมที่นำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียมด้านคุณภาพชีวิต หรือแม้แต่การเหยียดความเป็นต่างจังหวัด ก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างครบรสและเสียดแทงหัวใจผู้ชมไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีกำหนดการแสดงรอบอื่น ๆ ประกาศออกมา แต่ก็หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะได้มีโอกาสรับชมการแสดงที่แสนน่าประทับใจนี้ และกลับไปพร้อมกับความอบอุ่นหัวใจจากข้อคิดที่ได้รับหลังรับชม เช่นเดียวกับผู้เขียนที่ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในละครเวทีเรื่องนี้ที่กลับออกมาพร้อมความรู้สึกอันท่วมท้นยากจะบรรยาย
.
สามารถติดตามช่องทางของคณะละครม่านมอดินแดง ได้ที่
เพจ Facebook : ม่านมอดินแดง
เพจ Instagram : @mhanmordindaeng
.
ผู้เขียน: กัญญาภัค ร่มรื่น (Intern)
.
#TheShowhopper #GeekedOut #Theatre #ซาวTheSoundOfIsan #ม่านมอดินแดง #เทสกาลละครเวทีกรุงเทพ #bangkoktheaterfestival2024 #BTF2024
Комментарии