top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

ละคร ≠ ซีรีส์ และซีรีส์ ≠ ละคร?

อัปเดตเมื่อ 8 มี.ค. 2567




เคยสังเกตกันไหมว่าเวลาได้ยินใครสักคนพูดว่า “พล็อตแบบละครหลังข่าว” ความหมายที่ผู้พูดเจตนามักเป็นไปในเชิงลบ ในขณะที่หากเปลี่ยนเป็น “เหมือนหลุดออกมาจากซีรีส์” โทนของคำพูดจะกลายเป็น Positive ขึ้นมาแบบทันตาเห็น?


ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง คำว่า ‘ละคร’ กับ ‘ซีรีส์’ ที่เดิมทีน่าจะมีความหมายคล้ายคลึงเสียจนแยกจากกันไม่ขาด ในวันนี้กลับเกิดปรากฏการณ์ในทำนองของ ‘การแบ่งชนชั้น’ แบบกลายๆ ระหว่างสื่อบันเทิงไทยประเภทละครและซีรีส์ขึ้นมา


หากอ้างอิงตามความหมายดั้งเดิม ละคร (โทรทัศน์) คือรายการโทรทัศน์ประเภทบันเทิงรูปแบบหนึ่งของไทย แบ่งออกเป็นตอนๆ ตามลำดับเรื่องราว โดยใช้นักแสดงชุดเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง


ส่วนมากคำว่าละครมักถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘TV Drama’ หรือ ‘Soap Opera’ ที่แฝงความหมายของพล็อตที่มีความ ‘น้ำเน่า’ หากอิงตามลักษณะของละครไทยในยุคแรกๆ ที่ส่วนมากมีเนื้อหาเกี่ยวกับชนชั้นสูงในสังคมไทย พล็อตที่เดาทางง่าย และจุดจบแบบสุขนาฏกรรม (Happy Ending) ดังนั้น จะแปลเป็น Soap Opera หรือ Drama ก็ไม่ผิดนัก


ส่วนคำว่า ซีรีส์ (Series) ที่มาจากภาษาอังกฤษ ก็คือรายการโทรทัศน์ประเภทบันเทิงที่แบ่งเผยแพร่เป็นตอน (Episode) หลายตอนต่อเนื่องกัน โดยใช้นักแสดงและรูปแบบเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง แม้จะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘ละคร’ และมีความหมายคล้ายกับคำว่าละครโทรทัศน์ที่ฉายต่อกันเป็นตอนๆ แต่คำนี้กลับถูกดึงจากภาษาอังกฤษมาใช้เรียกทับศัพท์ด้วยนัยยะที่ต่างออกไป


สันนิษฐานว่าคนไทยเพิ่งใช้คำว่าซีรีส์กันอย่างแพร่เป็นวงกว้างหลายได้ไม่เกิน 20 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงยุค 2545 เป็นต้นมา หลังจากที่สถานีโทรทัศน์หลายช่องได้นำ ‘ละครซีรีส์’ ของเกาหลีใต้ (และจีนบ้างประปราย) มาฉายออกอากาศในช่วงสายของวันหยุดเสาร์อาทิตย์จนได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้ง Autumn in My Heart ที่มาของคำว่า ‘พี่ชาย’ ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง Winter Love Song ที่ปลุกกระแสเที่ยวเกาะนามิ ไปจนถึง Full House ที่ทำให้ เรน และ ซง เฮคโย ดังเป็นพลุแตก


หลังจากนั้นเราก็เริ่มได้ยินคำว่าซีรีส์ในภาษาไทยบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์เกาหลี ซีรีส์จีน ซีรีส์ฝรั่ง ฯลฯ ทำให้ (อาจ) กล่าวได้ว่าในช่วงแรก ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่าง ‘ละคร’ และ ‘ซีรีส์’ ก็คือแหล่งที่มาของละครเรื่องนั้นๆ หากเรียกว่าละครก็คือละครไทยทั่วๆ ไป ส่วนคำว่าซีรีส์นั้นสงวนไว้ใช้กับรายการของต่างประเทศเท่านั้น


แต่แล้วจู่ๆ เส้นขีดแบ่งนิยามในภาษาไทยของทั้ง 2 คำก็เริ่มเบลอลง เมื่อไทยเราเองก็เริ่มหันมาผลิต ‘ซีรีส์’ เป็นของตัวเองบ้าง โดยในช่วงแรกมีทั้งเรื่องที่รีเมกจากบทละครของเกาหลี ไปจนถึงเรื่องที่มีบทละครออริจินัลเป็นของไทยเอง แต่เดิมคำว่า ‘THE SERIES’ เข้าไปท้ายชื่อ คาดว่าเพื่อเปลี่ยนกลุ่มผู้ชมเป้าหมายและทำการ Market Positioning ตนเองเสียใหม่


กลายเป็นว่าปัจจุบัน เมื่อผู้ชมได้ยินคำว่า ‘ซีรีส์’ รายการนั้นๆ จะให้ภาพของโปรดักชันที่ทันสมัยและเน้นความสมจริงคล้ายกับละครของต่างประเทศ ด้วยพล็อตที่มีความสัจนิยม (Realistic) กว่า และผู้ชมกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มประชากรที่อายุลดหลั่นลงมา เมื่อเทียบกับละครทั่วไป


น่าแปลกที่ประเทศต้นทางของสื่อกลุ่มที่เราเรียกว่า ‘ซีรีส์’ อย่างเกาหลี ไม่ว่าจะซีรีส์หรือละครก็ต่างถูกเรียกแบบทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ‘ดราม่า’ (드라마) ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า ‘ละคร’ ในภาษาไทยมากกว่า และไม่มีคำศัพท์อื่นใดที่ใช้เรียกรายการโทรทัศน์ลักษณะนี้อีกแล้ว


ไม่ว่าพล็อตหรือรูปแบบของละครเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไร ในภาษาเกาหลี ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้ร่มเดียวกันคือดราม่า แล้วค่อยไปแยกย่อยอีกทีว่าเป็นละครประเภทไหน เช่น ละครย้อนยุคเรียกว่า ‘ซากึกดราม่า’ (사극 드라마) หรือ ละครเย็นทุนต่ำพล็อตเชยๆ เรียกว่า ‘มักจังดราม่า’ (막장 드라마) เป็นต้น


พัฒนาการทางภาษาที่แบ่งแยก ‘ละคร’ และ ‘ซีรีส์’ ออกจากกันในภาษาไทย จึงถือเป็นปรากฏการณ์เอกลักษณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกภาษา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้มีบัญญัติคำแยกกันอย่างชัดเจนอย่างเป็นทางการ เส้นแบ่งนิยามจึงยังค่อนข้างพร่าเบลออยู่มาก ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นี่น่าจะเป็นประเด็นสนุกๆ ยังต้องครุ่นคิดและถกเถียงกันต่อ


แล้วลูกเพจ The Showhopper ล่ะ? ในมุมมองของทุกคน คิดว่าความแตกต่างที่แท้จริงของละครกับซีรีส์คืออะไรบ้าง?


เรื่อง: Bloomsbury Girl


ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page