top of page
เจน หาวิทย์

เล่าประวัติ 'บาร์บี้แหกขนบ' เมื่อ Mattel เชื่อว่า บาร์บี้ควรเป็นตัวแทนความงามทุกรูปแบบ!

อัปเดตเมื่อ 1 ต.ค. 2567




สำหรับบริษัทผลิตของเล่น การสร้างสินค้าตัวท็อปติดตลาดที่คนทั่วโลกจดจำได้เหมือนจะเป็นความสำเร็จสูงสุดของทุกแบรนด์ ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นพวกเขาจะต้องผลิตซ้ำสิ่งเดิมไปเรื่อยๆ เปลี่ยนชุด สร้างคอนเซปต์เรื่องเล่า ออกคอลเลคชันพิเศษ ขยายจักรวาลให้ ‘คาร์แรคเตอร์ประจำแบรนด์’ ไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกเล็กเด็กแดงทั่วโลกจะรักมันจนต้องรบเร้าให้พ่อแม่ซื้อไว้สักตัว เช่นเดียวกันกับ ‘Mattel’ บริษัทผู้สร้าง ‘Barbie’ ตุ๊กตาหญิงสาวสมบูรณ์แบบ (สำหรับค่านิยมในยุคนั้น) ขายาว ผมบลอนด์สลวย หุ่นนาฬิกาทราย และใบหน้าเรียวเล็กเป๊ะปังทุกองศา

.

แม้ ‘Barbie’ จะถูกจดจำในฐานะตุ๊กตาที่สนับสนุนค่านิยมความงามแบบเฉพาะเจาะจง แต่พื้นฐานของมันกลับมาจากความตั้งใจที่จะสร้าง ‘ความหลากหลาย’ ของ Ruth Handler คุณแม่ชาวอเมริกันที่อยากให้เด็กผู้หญิงมีของเล่นให้เลือกมากขึ้นจากแต่ก่อนที่มีแค่ตุ๊กตาเด็กทารก หรือตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ ในปี 1959 บาร์บี้ตัวแรกเลยถือกำเนิดขึ้น โดยเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘Bild Lilli’ ตุ๊กตาหญิงสาวสุดแซ่บจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และชื่อของลูกสาว ‘Barbara’ ออกมาเป็นบาร์บี้รุ่นชุดว่ายน้ำสีขาวดำในตำนาน แต่ต่อมา หลังจากที่ Mattel เดินทางผ่านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย พวกเขาก็อยากที่จะเติบโตตามไปด้วยเพื่อ ‘แหกขนบตัวเอง’ จากแรงต้านของสังคมที่คิดว่าบาร์บี้กำลังกำหนดบรรทัดฐานและความคาดหวังให้เด็กหญิงทั่วโลกจนหลงลืมความหลากหลายที่ตั้งใจไว้ในตอนต้น

.

วันนี้ The Showhopper เลยจะมาเล่าประวัติของเหล่า ‘บาร์บี้ตัวแรกจากทุกความหลากหลาย’ ที่ Mattel สร้างขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของการถูกนำเสนอ (The Power of Representation) และเป้าหมายที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนทุกเจเนอเรชั่น จนทางแบรนด์สามารถเคลมได้ว่า Barbie เป็นไลน์ตุ๊กตาที่มีความหลากหลายที่สุดในโลก!

.

จะมีเรื่องราวของบาร์บี้รุ่นไหนบ้าง คลิกอ่านต่อในอัลบั้มได้เลย

.

หมายเหตุ: รุ่นของตุ๊กตาที่หยิบยกมาพูดถึงในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดที่แบรนด์เคยผลิตขึ้นมา เพราะในปัจจุบัน Mattel มีการสร้างบาร์บี้รุ่นที่เป็นตัวแทนความหลากหลายทั้งรูปร่าง เพศ เชื้อชาติ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

.

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

ภาพ: Mattel

.

ที่มา:




บาร์บี้เอเชียตัวแรก Oriental Barbie (1981)


“ฉันมาจากฮ่องกง เกาะแห่งหนึ่งบนแผ่นดินจีน จากดินแดนตะวันออกอันไกลโพ้นที่มีอีกหลายประเทศอยู่ในนั้น อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และมาเลเซีย”


นี่คือคำโปรยหลังกล่อง “Oriental Barbie” ตุ๊กตาหนึ่งในคอลเลคชัน “Dolls of The World” ที่ปล่อยออกมาในปี 1981 ทำให้เธอถือเป็นบาร์บี้เชื้อสายเอเชียตัวแรกในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ โดยต่อมาจึงกลายเป็นต้นแบบของตุ๊กตารุ่น “Dana” “Miko” “Kira” “Lea” และ “Raquelle” ที่ขยายกรอบออกไปจากการนำเสนอความเป็นเอเชียจากชุดประจำชาติ เป็นการถูกนำเสนอในบทบาทของหญิงสาวที่มีไลฟ์สไตล์แบบร่วมสมัยมากขึ้น


กระแสตอบรับของคอลเลคชัน “Dolls of The World” เป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น เพราะเด็กๆ จากทั่วโลกได้จับจองบาร์บี้ที่เป็นตัวแทนของประเทศตัวเอง อีกทั้งเด็กๆ ในอเมริกาเองก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของประเทศต่างๆ ผ่านเรื่องเล่าหลังกล่องที่มีความยาวถึง 2 ย่อหน้า อย่างเช่นกับบาร์บี้รุ่นนี้ Mattel ได้เล่าเรื่องวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ วัด ผ้าไหม เครื่องเทศ และการสัญจรโดยเรืออีกด้วย


ที่มา:





บาร์บี้ผิวดำตัวแรก Talking Christie (1968)


ในปี 1967 Mattel วางจำหน่ายตุ๊กตาผิวเข้มชื่อ “Francie” ผู้รับบทเป็นเพื่อนสาวของบาร์บี้ แต่กลับไม่ตอบโจทย์เรื่องความหลากหลายให้กับคนผิวดำมากนักเนื่องจากเธอมีลักษณะเหมือนบาร์บี้เกือบทุกประการ แตกต่างกันแค่สีผมและสีผิว (นับเป็น ‘Colored’ แต่ยังไม่ใช่ ‘Black’) ทำให้หลังจากสิ้นสุด การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน หรือ Civil Rights Movement ในปี 1968 ทางแบรนด์ก็ผลิต “Talking Christie” ออกมาในไลน์ของตุ๊กตาที่มีเสียงพูดจากการดึงกลไกที่ซ่อนอยู่ด้านหลัง โดย Mattel ก็แก้ไขการออกแบบให้คริสตี้มีเครื่องหน้าแบบคนผิวดำ และสีผิวที่ซื่อตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้เธอถูกนับเป็นบาร์บี้ผิวดำจริงๆ ตัวแรกของแบรนด์ ถึงอย่างนั้นกระแสสังคมก็ยังคงตั้งคำถามถึงบทบาทของคริสตี้และแฟรนซี ที่เป็นเพียงเพื่อนสาวเท่านั้นแต่ไม่ได้ใช้ชื่อ “Barbie” เลยสักครั้ง ทำให้ในที่สุด เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1980 บริษัทก็วางจำหน่าย “Black Barbie” อย่างเป็นทางการ


ที่มา:





บาร์บี้ผู้พิการ Share-a-Smile Becky (1997)


นอกจากเชื้อชาติ ความหลากหลายทางร่างกายก็เป็นสิ่งที่ Mattel ไม่มองข้าม ในปี 1997 พวกเขาเลยไปจับมือกับบริษัทของเล่นชื่อดังอย่าง Toy “R” Us และ เครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติด้านความพิการ (National Parent Network on Disabilities - NPND) ที่นำร่องผลิตของเล่นเพื่อผู้พิการอยู่แล้ว เพื่อสร้างตุ๊กตา “Share-a-Smile Becky” สาวน้อยผมบลอนด์ยิ้มสดใส โบกมือทักทายเด็กๆ จากวีลแชร์สีชมพูของเธอ พร้อมสร้อริบบิ้น 2 เส้นแถมมาในกล่องให้ผู้ซื้อได้แบ่งปันรอยยิ้มกับเพื่อนรัก ด้วยความตั้งใจว่าบาร์บี้จะไม่ได้นำเสนอเพียงแค่ความงดงามในอุดมคติ แต่ต้องเป็นความงามที่หลากหลายตามโลกความเป็นจริงด้วย ส่งให้เบ็คกี้เป็นตุ๊กตาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเธอ SOLD OUT หมดแสนตัวภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งต่อมา Mattle ได้บริจาครายได้ส่วนหนึ่งให้ NPND และ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและผู้ปกครองผู้มีความต้องการพิเศษ (National Lekotek Center) อีกด้วย


ที่มา:




บาร์บี้พลัสไซส์ Fashionistas Collection (2016)


นี่เป็นครั้งแรกที่ทั่วโลกได้พบกับบาร์บี้รูปร่างหลากหลาย ทั้งสูง เตี้ย อวบ และตัวบางเล็กกว่าไซส์ที่เคยผลิต กับคอลเลคชัน “Barbie Fashionistas” ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา (มีคอลเลคชันชื่อเดียวกันในปี 2009 - 2015 แต่ยังไม่มีความหลากหลายเรื่องหุ่นของตุ๊กตา) ซึ่งนอกจากความต่างเรื่องรูปร่างแล้ว บาร์บี้แต่ละตัวยังถูกออกแบบมาให้มีสไตล์ที่แตกต่างกัน เพื่อสะท้อนความอิสระทางแฟชัน กับคำโปรย “Just like you do!” มีการทำให้บางตัวมีเท้าเรียบแบนเพื่อรับการใส่รองเท้าผ้าใบ มีทรงผม และโทนสีการแต่งหน้าหรือเสื้อผ้าที่ต่างกันชัดเจน


ที่มา:




บาร์บี้ Queer Barbie BMR1959 (2019)


“Barbie BMR1959” เป็นชื่อคอลเลกชันของ Signature Barbie ที่วางจำหน่ายในปี 2019 โดยมีที่มาจากชื่อเต็มของบาร์บี้ (Barbara Millicent Roberts) และปีที่บาร์บี้รุ่นแรกวางจำหน่าย เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปี และนำเสนอแนวคิดที่วางบาร์บี้โอบรับอิทธิพลทางแฟชันอย่างทันยุคทันสมัยเสมอมา ทำให้เราได้ห็นกับบาร์บี้ Queer เป็นครั้งแรก กับตุ๊กตาโมเดล “GHT96” ในคอลเลกชันนี้ที่มาในร่างกายกำยำ ผิวแทน ผมสกินเฮดสีเขียวสะท้อนแสง การแต่งหน้าแบบ Feminine และรองเท้าส้นตึกสีส้ม


จริงๆ แล้ว ที่ผู้เขียนเรียกบาร์บี้รุ่นนี้ว่า Queer เป็นเพียงการสันนิษฐานและแง่มุมที่ผู้บริโภคมองเท่านั้น เนื่องจาก Mattel เป็นแบรนด์ที่ไม่เคยยืนยันเพศของตุ๊กตาอย่างเป็นทางการ มาตั้งแต่สมัยที่คนตั้งคำถามกับ “Allan” และเสื้อเชิ้ตสีรุ้งของเขา แต่จากการแสดงออกผ่านการแต่งกายของ “GHT96” ก็ทำให้สื่อหลายสำนักมองว่าเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)


ที่มา:



ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page