ช่วงปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นคลิปสั้นจากการแสดงสดของเหล่า Stand-up Comedian ชาวไทยตามแพลตฟอร์ม TikTok กันมากขึ้น บ้างก็เป็นช่วงตอนที่ฮาจนไหล่สั่น บ้างก็มีเนื้อหาเชื่อมโยงโดนใจ จนทำให้มหรสพประเภทนี้เข้ามาอยู่ในการรับรู้และความคุ้นชินของสังคมไทยมากขึ้น
ก่อนหน้านี้หากให้นึกถึงงานแสตนด์อัพ ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นมาคงจะเป็นโชว์ใหญ่อย่าง ‘เดี่ยว’ ของโน๊ต อุดม แต้พานิช ที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง และจะต้องซื้อบัตรเข้าไปดูในฮอลใหญ่ หลายคนไม่คิดว่าบ้านเราจะมีบาร์จัดแสดงแสตนด์อัพจริงจังเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นโชคดีที่ความบันเทิงแขนงนี้เริ่มผลิบานในประเทศไทยมาสักระยะแล้ว
The Showhopper จึงได้โอกาสชวน ‘แตงโม - กิตติพร โรจน์วณิช’ นักแสดงอิสระและ Stand-up Comedian มากประสบการณ์มาพูดคุยกันถึงการมาของคลื่นลูกใหม่แห่งธุรกิจบันเทิงนี้ เพื่อให้เราได้รู้จักโลกของการยืนเดี่ยวมากขึ้น
แตงโมเริ่มต้นฝึกฝนเป็นคอมีเดียนตั้งแต่สมัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาจากการเข้าร่วมงาน Open Mic ตามบาร์ต่างๆ อยู่ประปราย จนกระทั่งบินกลับมาประเทศไทยก็ได้สานต่อสิ่งนี้ด้วยการขึ้นแสดงกับ ‘คณะยืนเดี่ยว’ และ ‘อกตัญญู คอเมดี้คลับ’ กลุ่มคนไทยใจรัก Stand-up Comedy อยู่หลายครั้ง ต่อมาจึงจัดโชว์ของตัวเองชื่อ ‘Tangmo Bless America เหวห่า ล่าฝัน มะกันแลนด์’ ซึ่งทำให้คนได้รู้จักเธอในบทบาทนี้มากขึ้น จนกระทั่งล่าสุดแตงโมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Welcome to Thailand โชว์แสตนอัพภาษาอังกฤษสุดปั่น ที่อยากเชิญผู้ฟังมารู้จักไทยแลนด์แบบโคตรเรียล
พี่แตงโมคิดยังไงกับ ‘ความเริ่มแมส’ ของแสตนด์อัพคอเมดี้้ในไทย เพราะมันค่อนข้างเกิดขึ้นเร็วมาก จากที่คนไทยหาดูงานแนวนี้ไม่ได้เลย และรู้จักแค่งานใหญ่ๆ แบบงานเดี่ยวของพี่โน๊ต พี่คิดว่า ‘อะไร’ ที่ทำให้มันโตได้?
: ตอนแรกฉันก็ไม่รู้เยอะ รู้แค่ว่ามันมีอะไรมากกว่าพี่โน๊ต จริงๆ มีพี่พิง ลำพระเพลิง ด้วยนะ ที่เขาก็ทำมานานแล้ว เนี่ย บางคนยังไม่รู้เลย สมัยก่อนก็มีพี่โน๊ตเป็นไอดอลของทุกคน
ฉันกลับไทยปี 2021 แล้วเพื่อนบอกว่ามีเปิด Stand Up ได้เงินรางวัลด้วยนะเลยไป ก็เลยรู้ว่าที่นี่มีคนทำอะไรแบบนี้ด้วย วันก่อนนัดกินข้าวกับพี่โน๊ต แกก็ตกใจว่าเดี๋ยวนี้คอมมูนิตี้เรามีคนเยอะขนาดนี้แล้วหรอ ซึ่งเราดีใจมากนะที่มันเริ่มแพร่หลายขึ้น เพราะตอนอยู่เมืองนอกเราก็เห็นว่ามันมีเยอะ มันมีคลาสเรียนเป็นเรื่องเป็นราว มันมีผับที่เปิด Open Mic Sign-up แบ่งเป็นสล็อตว่าวันนี้รับกี่คน มีคิดเงิน 5 นาที 5 เหรียญ คนที่เขาจริงจังมากๆ วันหนึ่งเขาไปหลายที่นะ จบที่นี่แล้วไปอีกบาร์หนึ่งต่อ เป็น 3-4 ที่เพื่อฝึกฝน
สำหรับต่างประเทศเราคิดว่าที่ Stand-up Comedy รุ่งเรือง เพราะคนมันทำเป็นอาชีพกันได้ แล้วมันก็เป็นวัฒนธรรมที่เขาชิน อย่างวันนี้นัดเพื่อนมาเที่ยวดูแสตนด์อัพกัน
แสดงว่าเมื่อก่อนวัฒนธรรมบ้านเราต่างกับเมืองนอกมาก จนทำให้แสตนด์อัพโตยาก?
: เราอยู่ไทยเคยอยู่ดีๆ ชวนเพื่อนไปดู แสตนด์อัพไหมล่ะ? คือคนไทยที่ไม่คุ้นชินกับการมีแสตนด์อัพมาก่อน ก็จะไม่แน่ใจว่าถ้ามาดูมันจะดีไหม จะคุ้มค่าบัตรไหม สมมติเขาเกิดลองซื้อบัตรมาเจอวันที่คอเมเดียนทุกคนเล่นพลาดหมด บรรยากาศไม่ดี เขาก็จะพาลไม่ชอบดูโชว์แบบนี้ไปเลย
มันเป็นวัฒนธรรมแหล่ะ จะจ่ายค่าบัตร 350 แล้วคาดหวังโชว์แบบเดี่ยว 7 ก็คงไม่ได้ มันเป็นเอนเตอร์เมนท์คนละแบบ เหมือนเวลาไปฟังเพลงในร้านเหล้า มันก็ต้องมีทั้งเพลงที่มึงชอบและไม่ชอบ แต่มึงก็เอนจอยบรรยากาศโดยรวมไปได้ การมาดูงาน Open Mic หรืองานยืนเดียวก็เป็นแบบนั้น
อย่างเราคือก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่ามันมี พอได้รู้ก็ เออ ดีจัง มีเหมือนเมืองนอกเลย ตอนนี้ก็คิดว่าอยากให้มีคนดูมากขึ้นอีก ทำ ขยายไปเรื่อยๆ เราก็เป็นกำลังใจ อย่างพี่ยู ที่เขาเป็นเจ้าของที่ อกตัญญู คอเมดี้้คลับ เขาก็เริ่มทำของเขาเองจนเปิดเป็นยืนเดี่ยวได้ เหมือนพี่โน๊ตที่เริ่มทำเองจนดัง เนี่ย! พี่ยูแต่ก่อนเปิดทุกวันเลย แต่มันก็มีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ถ้าคนดูยังน้อย ทุกอย่างก็จะกร่อยไปหมด เลยเริ่มเปิดแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ พยายามจัดอีเวนต์วันเสาร์ อาทิตย์ ที่ให้คอเมเดียนอาชีพมาโชว์ เขาก็ต้องขยายให้มันอยู่ได้
แล้วพี่หลงเสน่ห์อะไรในการทำแสตนด์อัพคอเมดี้ จนทำให้อยู่กับมันมาได้?
: จะเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวในไทยคอมมูนิตี้นี้มัน Niche ขึ้นมากนะ ล่าสุดไปที่บาร์คอเมดี้คลับ เจอคนมาจากหลายที่เลย ทั้งคนที่ทัวร์ต่างประเทศ หรือคนที่ลองมา Open Mic ครั้งแรก ตายไมค์ไปเลยก็มี คนดูก็ปรบมือให้กำลังใจ
มันอาจจะฟังดูเหมือนแสตนด์อัพคอเมดี้เป็นเวทีที่คนขึ้นมาด่ากัน ขึ้นมาพูดมาพูดแย่ๆ ประชดประชัน เราไม่ได้มาท่องกลอนเพราะๆ มันแล้วแต่ศิลปะของแต่ละคนว่าจะเล่าเรื่องยังไงให้มันสนุกในสไตล์ของเขา
เอาจริงๆ แก่นของคอมูนิตี้นี้คือทุกคนซัพพอร์ตกันและกัน เพราะแม่งยืนอยู่บนเวทีอย่างหนาวเหน็บมึงรู้แล้วว่าความโดดเดี่ยวเป็นยังไง แล้วการที่มีเอาเรื่องพวกนี้มาเล่า เขาไม่ได้ชีวิตแย่กันทุกคนนะ แต่บางคนมันมีอะไรจะสื่อสาร มันเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มึงมาแบความเป็นมึงให้คนอื่นดู มันก็ทำให้หลายคนได้พักจากเรื่องเครียดๆ ของวันนั้นได้ เพราะได้มาฟังเรื่องชีวิตของคนอื่น คนพูดก็ได้ระบาย
การได้มาฟังคนเล่าเรื่องสดๆ ตรงหน้า มันเทียบไม่ได้เลยกับการนั่งดูคลิปอยู่ที่บ้าน มันมีบางคนที่เขาเจอเรื่องแย่ๆ มา แต่พอได้เข้ามาดูแสตนด์อัพแล้วมันทำให้วันของเขาไปต่อได้
พูดถึงการนั่งดูคลิปอยู่บ้าน ส่วนตัวเราเริ่มรู้ว่าไทยมีแสตนด์อัพจากคลิปใน TikTok แล้วจะถูกใจมากเวลามีการพูดเรื่องประเด็นสังคม การเมือง พี่แตงโมคิดว่าเพราะสมัยนี้สังคมเราเริ่มเปิดกว้างเรื่อง Free Speech แล้วหรือป่าว ทำให้โชว์แสตนด์อัพถูกมองเห็น เพราะสมัยก่อนคนไทยอาจไม่ชินกับการสื่อสารแบบเสียดสี จิกกัน หรือเอาประเด็นออกไหวมาเล่า
: จริงๆ ศาสตร์การพูดมันมีมานานมากแล้ว แบบ Hyde Park แสตนด์อัพอันแรกของโลกเขาก็ไปพูดในที่ชุมนุม การใช้คำพูดขับเคลื่อนอะไรบางอย่างคือสิ่งที่เขาทำกันอยู่แล้ว
แต่ตามปกติศิลปินจะเลือกพูดในหัวข้อที่เขาสนใจ บางคนไม่เฉี่ยวการเมืองเลยก็มี บางคนก็อยากใช้พื้นที่ตรงนี้ในการพูดมากๆ ที่ อกตัญญู คอมเมดี้คลับ เลยไม่มีการอัดคลิป เพื่อเซฟศิลปิน เพราะบางทีตัดกันเองเพื่อลงโปรโมตตามโซเชียล คนฟังในออนไลน์เข้าใจผิด มาด่าก็มี เพราะเขาไม่ได้มาฟังทั้งหมด
แต่นั่นแหล่ะ หลักสำคัญของแสตนด์อัพมันต้องพูดประเด็นให้คนรู้สึกร่วมอยู่แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ยิ่งเชื่อมโยงได้ พอมาเป็นประเด็นการเมือง เรื่องปัจจุบัน คนมันก็อิน อ่านข่าวแล้วหงุดหงิดแต่ด่าไม่ได้เต็มที่ เหมือนทุกคนรู้ว่าสถานการณ์มันเ-ี้ย!
แต่พอมีคนได้ขึ้นมาถือไมค์แล้วพูดย้ำกับเราว่ามันเ-ี้ยจริงๆ มึงไม่ได้คิดไปเอง คนฟังก็ชอบ มันคือ ‘การชำระล้างหมู่’ อ่ะมึง ที่เราได้มาหัวเราะกับคนแปลกหน้าในเรื่องเดียวกัน
แล้วมันก็ไม่ใช่การมาด่าอย่างเดียวไม่ไปไหน แต่ก็ต้องด่าอย่างมีชั้นเชิง คนดูก็จะยิ่งสนุก สมมติถ้าเขามาเล่าการเมืองประเทศอื่น มึงก็อาจจะไม่อิน
แล้วบนเวทีแสตนด์อัพ มีปัญหาเรื่อง Censorship เหมือนสื่ออื่นไหม?
: มี! บางงานไปเล่นข้างนอกเขาอัดคลิปนะ ก็ต้องระวังมากกว่า แต่คอมมูนิตี้เราก็ช่วยกันระวังเรื่อง Censorship กันอยู่ คือเรายังอยู่ในช่วงกำลังสร้างตรงนี้ เราก็ไม่อยากมีปัญหา หรือถูกตราหน้าว่ารวมกลุ่มทำอะไรไม่ดี ไม่อยากให้แสตนด์อัพมันแมสจากการโดนตีนอ่ะ
เรื่องการเมือง ศาสนา คอมีเดี้ยนเขาพูดกันมันส์มาก ปล่อยของกันสุดๆ แต่เขาไม่บันทึกภาพ มันเป็นพื้นที่ที่ควรเปิดให้พูดอะไรก็ได้ จะต้องไม่มีการเอาตำรวจมายืนที่ประตู แล้วถ้าไม่พอใจก็โห่ ในฐานะที่เป็นคนดู เราไม่ทำร้ายกัน แล้วฝั่งคนพูด ถ้าโดนโห่ก็ต้องเรียนรู้ได้แล้วว่าประเด็นที่พูดไม่พึงประสงค์กับคนฟังตรงนี้ คนพูดก็ต้องเรียนรู้ไป
สุดท้ายนี้ อยากให้พี่แตงโมเชิญชวนคนที่ไม่เคยลองดูแสตนด์อัพ ให้ก้าวเท้าเข้ามาในวงการนี้หน่อยค่ะ
: โอเค ถึงมันจะเป็นแวดวงที่เงินไหลเวียนน้อยแต่การมาขึ้นพูดหรือมาฟัง ก็เป็นประสบการณ์ที่อยู่บ้านก็ไม่ได้สัมผัสอ่ะ ออกมาจอดรถก็เสียค่าที่แล้ว ค่าบัตร ค่าเบียร์ แต่พอมาแล้วมันได้ความรู้สึกดีๆ กลับไป
ที่เมืองนอกบังคับซื้อดริงก์ มีค่าเข้า ไปๆ มาๆ มีทิปส์อีก แต่ของเราไม่เสียเยอะ มาเถอะมึง! มาช่วยจ่ายค่าที่ (หัวเราะ)
The Showhopper ต้องของขอบคุณพี่แตงโมเป็นอยากมากที่มาแบ่งปันเรื่องราวที่เราเองก็ไม่เคยรู้เกี่ยวกับแวดวงแสตนด์อัพไทย ทำเอาอยากเริ่มดูงานแบบนี้มากขึ้นเลย ซึ่งถ้าผู้อ่านคนไหนก็รู้สึกเหมือนกัน สามารถติดตามงานใหม่ๆ และสนับสนุนกลุ่มผู้จัดที่พี่แตงโมได้กล่าวถึงในบทสัมภาษณ์ได้ที่
A Katunyu Comedy Club - https://bit.ly/3oaX74n
ยืนเดี่ยว - https://bit.ly/3zZT4KS
และติดตามช่องทางของ ‘แตงโม กิตติพร’ แขกรับเชิญคนเก่งของเราได้ที่
Facebook: Tangmo
Instagram: mo.rodvanich
Twitter: @MRodvanich
TikTok: mo.rodvanich
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: เจนจิรา หาวิทย์
ภาพ: nnattarika
Kommentare