top of page
รูปภาพนักเขียนเจนจิรา หาวิทย์

โดนใจ หรือ แอบเอ๊ะ? ‘Anachronistic Soundtracks’ การใช้เพลง 'สมัยใหม่' ในงาน 'พีเรียด'

อัปเดตเมื่อ 2 ต.ค. 2567



 เป็นประเด็นที่เสียงแตกไม่น้อย หากพูดถึงการนำเพลงร่วมสมัยมาใช้ในงานย้อนยุค บางคนมองว่าตัวเพลงมีความเข้ากับสถานการณ์และเชื่อมโยงกับความชอบของคนรุ่นใหม่ได้ดี แต่บางคนกลับรู้สึกขัดแบบห้ามไม่ได้ เมื่อผลงานเหล่านั้นตั้งต้นนำเสนอรายละเอียดของยุคสมัยที่เลือกมา ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม และบริบททางประวัติศาสตร์ แต่เพลงกลับไม่สอดคล้องเสียอย่างนั้น วันนี้เราเลยอยากชวนแฟนเพจ The Showhopper มาพูดคุยกันเกี่ยวกับ ‘Anachronistic Soundtracks’ หรือ ‘การใช้เพลงประกอบไม่ตรงยุค’  

.

‘Anachronism’  คำนี้มีความหมายว่าสิ่งซึ่งไม่สอดคล้องกับลำดับเหตุการณ์ หรืออยู่ผิดที่ผิดทาง ในบริบทของการใช้เพลงในสื่อจะหมายถึงทั้งการใช้เพลงสมัยใหม่ในงานย้อนยุค และการใช้เพลงเก่าในผลงานที่เล่าเรื่องสมัยใหม่

.

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้รับชมฉากการแสดงโชว์ของละครเรื่อง ‘บางกอกคณิกา’ ทางช่อง One31 โดยในเรื่องมีการใช้เพลงสมัยใหม่ประกอบเนื้อเรื่องส่วนที่ 3 ตัวละครหลักต้องทำการแสดงเพื่อเรียกความนิยมจากลูกค้าในหอบุปผชาติ เช่นเพลง “แสงสุดท้าย - Bodyslam” หรือ “Fire Boy - PP Krit” ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกอินเทอร์เน็ต เพราะมีผู้ชมไม่น้อยคอมเมนต์ทักท้วงว่าการใช้เพลงใหม่ในละครพีเรียดทำให้รู้สึก ‘ขัด’ และอินตามไปได้ยาก เนื่องจากเนื้อเรื่องถูกวางไว้ใน พ.ศ.2435 ยุคสมัยก่อนประเทศไทยจะเลิกทาส ส่วนผู้ชมอีกฝั่งมองว่าเพลงเข้ากับสถานการณ์ของตัวละครดีแล้วและอยากให้ดูเป็นความบันเทิงไป

.

จริงๆ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับงานฝั่งตะวันตกบ่อยครั้ง อย่างเช่นในซีรีส์ “Bridgerton” ที่นำเพลงป็อปร่วมสมัยมาเรียบเรียงใหม่เป็นคลาสสิกเพื่อประกอบฉากต่างๆ ตลอดทั้งเรื่อง หรือใน “Moulin Rouge” ทั้งเวอร์ชันละครเพลงและหนังเพลงก็เช่นกัน แต่กลับสองเรื่องนี้กระแสจะออกไปทางบวกมากกว่า จนเพลงจากเรื่องโด่งดังตามมา แต่ไม่ใช่กับซีรีส์ “PEAKY BLINDERS” ซีซัน 3 กับฉากดนตรีสดในบาร์ที่มีการแสดงเพลงร็อกและการใช้กีตาร์ไฟฟ้า ทั้งที่เรื่องเกิดขึ้นช่วง 1920s ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีกีตาร์ไฟฟ้าด้วยซ้ำ อีกเรื่องที่โดนกระแสเชิงลบอย่างหนักคือ “Marie Antoinette” (2006) เพราะมีนักวิจารณ์ออกมาบอกว่ามันดูสดใหม่ดีก็จริง แต่จะไม่มีวันถูกมองว่าเป็นหนังอิงประวัติศาสตร์ได้

.

 แล้วอะไรคือเส้นแบ่งที่ทำให้คน ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ การเลือกใช้เพลงแบบนี้?

.

บทความจากเว็บไซต์ Attunement พูดถึงเรื่องนี้ว่าตัวแปรสำคัญคือ ‘ระดับความจริงจัง’ ในการอิงประวัติศาสตร์ของผลงานนั้นๆ คือหากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือเหตุการณ์จริง การคำนึงถึงความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากเป็นการสร้างงานประพันธ์ใหม่ที่อยากหยิบยกความเป็นพีเรียดมาแค่กลิ่นอายของยุคสมัย ไม่ลงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ การใช้เพลงร่วมสมัยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

.

ในทางกลับกัน ภาพยนตร์อย่าง “Guardians Of The Galaxy” ที่เอาเพลงเก่ายุค 60s - 2000s มาใช้ประกอบเรื่องราวบนอวกาศ ถูกมองเป็นทางเลือกที่สร้างความ Contrast ได้น่าสนใจ ผู้เขียนเลยมองว่าท้ายที่สุดมันขึ้นอยู่กับส่วนที่ทั้งผู้สร้างงานและผู้ชมโฟกัส ว่าพวกเขาอยากยึดความถูกต้องหรือความบันเทิงเป็นหลัก

.

แล้วเพื่อนๆ ล่ะ มองประเด็นนี้อย่างไร? มาคุยกันได้ที่ใต้โพสต์นี้เลยจ้าาา

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

.

ที่มา:

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page