หลังได้ทราบข่าวสดๆ ร้อนๆ จากสตูดิโอดิสนีย์วันนี้ถึงแผนการสร้างอนิเมชั่น MOANA เป็นภาพยนตร์ Live Action โดยได้ Dwayne Johnson หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ‘The Rock’ มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์นำโปรเจกต์
แน่นอนว่าข่าวนี้สร้างเสียงฮือฮาให้กับแฟนการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งแฟนดิสนีย์ทั่วโลกกลับเริ่มตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์เทกระจาดสร้างภาพยนตร์เวอร์ชั่นคนแสดงของดิสนีย์ ที่พักหลังมีให้เห็นถี่จนน่าสนใจ
ไม่ว่าจะเป็น The Little Mermaid ที่กำลังชนโรง ภาพเบื้องหลัง Snow White ที่หลุดออกมาให้ได้ชมเรื่อยๆ จนมาถึงคราวของ MOANA ที่ประกาศออกมาเมื่อเช้านี้
เกิดอะไรขึ้นกับ Disney Studios กันแน่ อะไรทำให้พวกเขาเร่งจับงานคลาสสิกมารีเมคมากกว่าผลิตอนิเมชั่นเรื่องใหม่สู่ตลาด?
ข้อมูลการวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ไซต์ Insider และ Screenrant ชี้ชัดไปที่ประเด็นเดียวกันคือเรื่อง ‘รายได้’
เป็นแผนธุรกิจที่ไม่ซับซ้อนนัก ว่าการลงทุนกับชิ้นงาน ซึ่งในที่นี้ของเรียกว่า ‘วัตถุดิบ’ ที่มีฐานแฟนและคนรักมากมายอยู่อย่างอย่างอนิเมชั่นคลาสสิก อย่างไรเสียก็มีความเสี่ยงน้อยกว่าการขึ้นโครงสร้างอนิเมชั่นเรื่องใหม่ขึ้นมา ที่อาจจะปังสุดหรือล้มไม่เป็นท่า ซึ่งความจริงข้อนี้ได้รับการยืนยันแล้วจากเม็ดเงินที่สตูดิโอทำได้จากการเริ่มผลิตงานรีเมคในปี 2010 เพราะภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Alice in Wonderland ทำรายได้ Box Office สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และผลประกอบการเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาก็ดีแบบไม่มีตก อาทิ
Maleficent (2014) ทำเงิน 7.5B USD ทุนสร้าง 180M USD
Beauty and The Beast (2017) ทำเงิน 1.3B USD ทุนสร้าง 160M USD
The Lion King (2019) ทำเงิน 1.7B USD ทุนสร้าง 260M USD
ด้วยเหตุนี้ทำให้ดิสนีย์พยายามจับทางนี้มาตลอด ในขณะเดียวกันค่ายในเครืออย่าง MARVEL STUDIOS ที่มีเรื่องราวของฮีโร่หลักร้อยตัวให้รอสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็เน้นหนักไปที่การใช้กลยุทธสร้างภาคต่อของฮีโร่ตัวเดิมๆ ที่นั่งในใจแฟนหนังมานาน ด้วยเหตุผลคล้ายกันกับงาน Live Action ของฝั่งดิสนีย์
แต่วิธีการที่ดูเหมือนจะ ‘ปลอดภัยกว่า’ ในแง่ธุรกิจนี้ที่ดิสนีย์เลือกใช้ กำลังจะ ‘เสื่อมมนต์ขลัง’ ของมันไปแล้วหรือไม่?
เนื่องจากการเทกระจาด ขุดเอางานคลาสสิกมารีเมคจนแทบหมดคลังของดิสนีย์ ไม่ได้ผลดีทุกครั้ง จริงอยู่ที่ทางค่ายมองว่าแฟนอนิเมชั่นจะต้องแห่ตามมาดูภาพยนตร์อย่างแน่นอน แต่กระบวนการวิจารณ์และการรีวิวในโลกภาพยนตร์ยังคงดุเดือด น่ากลัว และส่งผลมากๆ กับการแจ้งเกิดของหนังหนึ่งเรื่อง
ยิ่งโดยเฉพาะผลงานที่เคลมบุญเก่าของต้นฉบับมาใช้ดึงคนให้ไปดู ก็จะยิ่งโดนเพ่งเล็งด้านคุณภาพอย่างหนัก ความรักที่ผู้ชมมีให้ต่องานดั้งเดิม จะถูกใช้เป็นเชื้อไฟชั้นดีในการเปรียบเทียบ ซึ่งทางดิสนีย์เองก็ได้รับบทเรียนนี้มาหลายครั้ง จากความล้มเหลวของ 101 Dalmatians ทั้งสองภาค และ MULAN ที่นอกจากจะสร้างรายได้น้อยจนเกือบเท่าทุนแล้วยังได้รับคำวิจารณ์ไม่ดีอีกด้วย รวมถึงกระแสแง่ลบจากการแคสติ้งที่สร้างความไม่พอใจให้แฟนงานคลาสสิกหลายกลุ่ม
ทั้งหมดนี้คือ ‘ความเสี่ยง’ ก้อนใหญ่ที่ดิสนีย์ต้องยอมรับและเฝ้าระวัง เพราะกระแสนิยมที่จะได้จากการหยิบงานเก่ามาทำ Live Action กับคุณภาพของชิ้นงานในฐานะภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง เป็นเรื่องที่แยกจากกันอย่างมีนัยสำคัญ และหากทำออกมาได้ไม่ดีหลายเรื่องเข้า ความไว้ใจที่แฟนๆ มีต่อตัวสตูดิโออาจจะต้องหดหายไปตามกาลเวลา
ทว่า อีกสิ่งที่อยากให้แฟนดิสนีย์ทำความเข้าใจตัวค่ายในประเด็นนี้คือ ในการสร้างผลงานแต่ละชิ้นของดิสนีย์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์คนแสดง หรืออนิเมชั่นเรื่องใหม่ ทั้งหมดใช้ต้นทุนเป็นจำนวนมาก และการเร่งผลิต Live Action ของดิสนีย์ก็เป็นเหมือนการเติมอู่ข้าวอู่น้ำ ให้ดิสนีย์มีเงินมากพอ สำหรับโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อยากให้ทุกคนลองคิดถึงการเกิดขึ้นของ FROZEN เป็นช่วงเวลานานๆ ทีที่ดิสนีย์จะสร้างเรื่องราวและเจ้าหญิงองค์ใหม่ขึ้นมาประดับวงการอนิเมชั่น เพราะด้วยความเสี่ยงด้านการลงทุนที่เราได้กล่าวไปทั้งหมด แต่เมื่อทางสตูดิโอตัดสินใจทำแล้ว มันกลับออกมาดีจนน่าตกใจ จึงอยากให้แฟนๆ เปิดใจและรอชมผลงานของดิสนีย์ต่อไป เพราะถึงอย่างไร นี่ก็เป็นสตูดิโอที่ไม่หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อเติมความสุขและความฝันให้กับผู้ชม
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
コメント