สำรวจความปังของ ‘สิงคโปร์’ เกาะเล็ก ที่เหมาโชว์ใหญ่ระดับโลก จนกลายเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของเอเชีย
- Gaslight Café
- 3 วันที่ผ่านมา
- ยาว 2 นาที

เราได้เห็นกันแล้วว่าแฟนคอนเสิร์ตต่างก็ต้องปวดใจกับการที่ไทยแลนด์ถูกเมินจากศิลปินระดับโลกอย่าง Taylor Swift และ Lady Gaga รวมถึงคอละครเวทีอีกมากมายที่อยากชมเสน่ห์ของโปรดักชันอย่างบรอดเวย์หรือเวสต์เอนด์ก็คงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจไม่ต่างกัน เพราะความเป็นไปได้ที่จะได้ชมมิวสิคัลระดับสากลที่หลากหลายในไทยนั้นช่างน้อยนิดซะเหลือเกิน ในขณะที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์กลับอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนานาการแสดงหลากแขนง ชนิดที่เรียกได้ว่าเห็นข่าวโชว์ไหนเหินฟ้ามาเปิดการแสดงในแถบนี้ ก็มั่นใจได้เลยว่าจะต้องแวะลงที่สิงคโปร์ด้วยอย่างแน่นอน
.
❓อะไรทำให้เกาะที่มีขนาดเพียงครึ่งของกรุงเทพแห่งนี้ กวาดไปได้หมดทั้งคอนเสิร์ตเบอร์ใหญ่และละครดัง?
.
📌 จุดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ครองชัยชนะเกินครึ่ง
.
ในแง่ภูมิศาสตร์ สิงคโปร์ถือว่าตั้งอยู่ในชัยภูมิดีที่เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการบิน และที่สำคัญคือ โอกาสในการเกิดภัยธรรมชาติร้ายแรง (เช่น แผ่นดินไหวแรง ๆ สึนามิดุ ๆ หรือภูเขาไฟระเบิด) ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่ตั้งอยู่ในทำเลอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
.
ความจริงแล้วหากจะมองไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนก็ไม่ผิดเช่นกัน แต่ในแง่ตลาดผู้ชมคอนเสิร์ตหรือศิลปะการแสดง จะพบว่าเราไม่ได้อยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศที่มีความแข็งแกร่งในตลาดด้านนี้ เอาง่าย ๆ ก็คือเราถูกล้อมรอบด้วยเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งไม่ใช้ผู้เล่นคนสำคัญในเกม ตรงกันข้ามกับสิงคโปร์ที่อยู่กึ่งกลางกว่าเมื่อมองไปรอบตัวเอง ซึ่งจะเจอทั้งไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอาจจะรวมถึงเวียดนาม น้องใหม่มาแรงที่กำลังค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตลาดนี้ซึ่งต้องจับตามองให้ดีด้วยเช่นกัน
.
🚅 สาธารณูปโภคเป็นมิตร พิชิตใจลูกค้า
.
สิงคโปร์มีสถานที่จัดงานที่เพียบพร้อมและดีกว่าให้เลือกใช้สอยได้มากมาย รองรับ performance หรือ event ได้หลายสไตล์หลายไซส์ และแต่ละที่สามารถเชื่อมต่อได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงและมีประสิทธิภาพ
.
นอกจากนี้คุณภาพในแง่ทำเลที่ตั้งก็ดูจะได้เปรียบกว่าของบ้านเรา เพราะมันมักอยู่ในโซนที่มีอะไรคล้าย ๆ กันซัพพอร์ตซึ่งกันและกันอยู่ …สนามกีฬาแห่งชาติ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ จุดชมวิว สวนสาธารณะ ห้าง และแลนด์มาร์คสำคัญ ๆ จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบการเสพศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหนก็ตาม สามารถใช้เวลาไปกับอาณาบริเวณนี้ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนาน ๆ
.
ในขณะที่ประเทศไทย สถานที่จัดงานประจำหลัก ๆ สำหรับอีเวนต์ใหญ่ ๆ ดูเหมือนจะมีเพียง 2 ที่เท่านั้น นั่นคือ ‘ราชมังคลากีฬาสถาน’ ซึ่งยังไม่มีรถไฟฟ้า และ ‘Impact Arena’ ซึ่งกำลังจะมีส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าถึงในปีนี้เสียที (เหมือนรอมาทั้งชีวิต) แถมความน่าปวดหัวของรถไฟฟ้าบ้านเราคือ ผู้โดยสารยังคงต้องแตะบัตรเข้าแตะบัตรออก สลับบัตรไปมา งงงวยไปหมด และบางสถานีก็ไม่ได้ออกแบบมาอย่าง user-friendly เราต้องเดินขึ้นลงกันจนแทบหมดลมหายใจ
.
และถ้าสังเกตดูก็จะเห็นว่า สถานที่จัดงานประเภทต่าง ๆ ของเรานั้นไม่ได้อยู่ใกล้กันเลย …ถ้าอยากดูละครเวที เราต้องไปรัชดาหรือไม่ก็เพชรบุรีตัดใหม่ …ถ้าอยากดูงานศิลป์ อาจต้องมาที่แยกปทุมวัน …หรือถ้าเป็นคอนเสิร์ต ถ้าไม่ใช่พารากอน ก็อาจเป็นอิมแพ็คฯ หรือไม่ก็ราชมังฯ ไปเลย ซึ่งสอง venue หลังสุดนี้มีลักษณะ ‘In the middle of nowhere’ มาก ๆ ด้วย นั่นคือ เราไปเพื่อดูคอนเสิร์ตเท่านั้น ไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นใดบริเวณรอบ ๆ ได้เลย
.
🔠 ภาษาก็มีส่วนกับเรื่องนี้
.
การใช้อังกฤษเป็นภาษาราชการยังทำให้สิงคโปร์ได้เปรียบกว่าไทยโดยปริยายด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โปรดักชันระดับโลกใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะคอนเสิร์ตหรือละครเวที มักพุ่งเป้าไปที่เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ก่อนใครเพื่อนเมื่อมองมายังเอเชียอาคเนย์ เพราะนอกจากภาษาอังกฤษจะมีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่สิงคโปร์ ซึ่งส่งผลต่อยอดขายบัตรการแสดงอีกทอดหนึ่งได้แล้ว ในกรณีของละครเวทีซึ่งเกือบ 100% ดำเนินเรื่องเป็นภาษาอังกฤษนั้น สำหรับเจ้าของโปรดักชันแล้ว คงจะดูลงตัวกว่ามากเมื่อมาเปิดการแสดงในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเช่นนี้
..
🥳 เมื่อมีความสงบสุข ศิลปะก็งอกงาม
.
เมื่อว่ากันถึงมุมมองด้านความปลอดภัยของประเทศเรา คงต้องยอมรับกันว่าไทยไม่มีทางสู้สิงคโปร์ได้เลย เพราะเราเพียบพร้อมไปด้วยภยันตรายหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ปัญหาอาชญากรรมทางความรู้สึก (เช่น ทางเดินเป็นหลุมบ่อเสี่ยงอันตราย หรือการถูกโก่งราคา/ถูกปฏิเสธให้บริการจากขนส่งสาธารณะ) ไปจนถึงอาชญากรรมที่ถึงเลือดถึงเนื้อกันจริง ๆ (เช่น อุบัติเหตุ ฆาตกรรม ค้ามนุษย์ การก่อการร้าย) และยกระดับได้ต่อถึงปัญหาระดับมหภาคอย่างเศรษฐกิจ และการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานไม่จบสิ้น
.
ตรงกันข้ามกับสิงคโปร์ที่มีความสงบภายในประเทศมากกว่า และประชาชนมีกำลังจ่ายมากกว่า แค่นี้ก็เป็นเหตุผลง่าย ๆ เพียงพอที่จะดึงดูดให้ผู้จัดอีเวนต์อยากนำเม็ดเงินมาลงทุนปักหมุดเกาะแห่งนี้ให้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งกิจกรรมและการแสดงแล้ว (ยิ่งไปกว่านั้นคือรัฐบาลสิงคโปร์มีเงินแถมให้ด้วย เพราะอะไร…ดูข้อต่อไปได้เลย)
.
🏙️ ภาครัฐมีเอี่ยวด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ
.
แม้จะมีเหตุผลดี ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมากมาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะไม่สัมฤทธิ์ผลเลยถ้าขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ
.
สิงคโปร์เป็นประเทศที่เกิดใหม่ไม่นาน และไม่มีจุดดึงดูดทั้งทางธรรมชาติหรือมรดกวัฒนธรรมเป็นของตัวเองเหมือนประเทศอื่น รัฐจึงต้องคิดหาหนทางดึงรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยว โดยพยายามผลักดันให้สิงคโปร์กลายเป็น ‘The Events and Entertainment Hub of Asia’ ซึ่งดำริกันมาตั้งแต่ปี 2007 และมี Singapore Tourism Board (STB) ที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยว กับ Ministry of Information and the Arts (MITA) ที่ดูแลเรื่องศิลปะ มาผนึกกำลังทำงานร่วมกัน
.
สิ่งที่สิงคโปร์ทำ นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนเกิดเป็นสาธารณูปโภคดี ๆ ที่เรากล่าวถึงกันไปแล้ว รัฐยังวางนโยบายมากมายเพื่อส่งเสริมมูลค่าในเชิงภาพลักษณ์ เปลี่ยนภาพจำจากประเทศที่นักท่องเที่ยวมองข้าม สู่ ‘ดินแดนแห่งบิ๊กอีเวนต์’ ที่เมื่อใดก็ตามที่มีโปรดักชันเวิลด์ทัวร์อะไรสักอย่างเกิดขึ้น คนจะต้องนึกถึงสิงคโปร์ก่อนเป็นที่แรก ๆ นอกจากนี้ยังช่วยวางแผนการตลาด โปรโมต ให้เงินสนับสนุนกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงประสานงานเจ้าของโปรเจคท์ให้เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดแสดงแห่งเดียวในภูมิภาค
.
เรียกได้ว่าเป็นไอเดียการดึงทรัพยากรจากแหล่งอื่นมาปั้นเป็น soft power ในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างน่าสนใจ และต้องหันไปมองค้อนพร้อม ๆ กันในคราวเดียว
.
🔔 แล้วพี่ไทยเราจะสู้เขาได้หรือไม่?
.
คงเป็นเรื่องยากอยู่สักหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ว่ากันตามตรงนอกจากหลักใหญ่ใจความที่เราน่าจะพอลอกการบ้านตามสิงคโปร์ได้เลย อย่างเช่นการปฎิรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ ‘เมคเซนส์’ หรือการที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในหลาย ๆ เรื่องแล้ว (อาจจะยากสักหน่อยสำหรับปัญหามหภาคต่าง ๆ) อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือ การต้องผลักดันให้ประเทศไทยเป็นอาณาจักรที่ ‘ให้ค่า’ กับศิลปะอย่างถ่องแท้เสียที …ถ้าเราอยากจะสู้กับสิงคโปร์ด้วยศิลปะ ก็ต้องทำให้โลกเห็นว่าเราคือดินแดนที่ผู้คนเห็นค่าศิลปะ
.
ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การสนับสนุนบุคลากรในวงการศิลปะที่ควรได้ทั้งความร่วมมือ เงินทุน พื้นที่ โอกาส กำลังใจ หรือการซัพพอร์ตอื่นใดในหลาย ๆ มิติเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมไปให้ถึง ‘สังคม’ ซึ่งจำเป็นต้องถูกหล่อหลอมขัดเกลากันใหม่ด้วยพลังของศิลปะด้วย อาจจะเริ่มด้วยคำถามที่ดูโง่ ๆ ง่าย ๆ อย่าง ‘เราสามารถใช้วาทศิลป์เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมไทยให้เหลือศูนย์ได้มั้ย’ ซึ่งสุดท้ายเราจะพบว่ามันจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการพัฒนา “คน” อันเป็นรากเหง้าของทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง
.
อีกมุมมองที่น่าสนใจคือ ประเทศเราอาจจำเป็นต้องเปิดรับความผสมผสานในศิลปวัฒนธรรมมากขึ้นด้วย ไม่แช่แข็งวัฒนธรรมตัวเองเหมือนที่เราเคยได้ยินกรณีพิพาทต่าง ๆ ในอดีต (เช่น Lady Gaga ใส่ชฎาขึ้นคอนที่ไทย หรือเมื่อหลายสิบปีก่อน Madonna เคยถูกมองจากคนบางส่วนว่าไม่ควรมาแสดงที่บ้านเรา เพราะความโป๊เปลือยของเธอในยุคนั้น) เพื่อทำให้การมีอยู่ของวัฒนธรรมนั้นสนุกและน่าสนใจ และยังช่วยให้วัฒนธรรมอื่นหรือ ‘การมองโลกแบบอื่น’ กล้าที่จะก้าวเข้ามานำเสนอ (เปิดแสดง) ในบ้านเมืองเราด้วย
.
ถ้าไทยเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดที่โลกเห็นว่าเราเป็น ‘ประเทศศิลปะ’ ได้จริง เมื่อนั้นเราอาจไม่ต้องกังวลว่าศิลปินคนไหนจะยอมมาเปิดโชว์ที่ประเทศเราบ้าง หรือมิวสิคัลที่เราอยากดูจะมีใครกล้าลงทุนนำมาเล่นมั้ยอีกต่อไปก็ได้
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
#TheShowhopper #CritiqueCritic #สิงคโปร์ #คอนเสิร์ต #ละครเวที
Comments