Joy to the world! the Lord is come~
.
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ‘Joy to the World’ ได้กลายมาเป็นเพลงเทศกาลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ถูกเผยแพร่มากที่สุด และถูกเล่นบ่อยมากที่สุดในอเมริกาเหนือ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเพลงนี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นในฐานะเพลงคริสต์มาสด้วยซ้ำ?
.
‘จอยทูเดอะเวิลด์’ มีชื่อเป็นภาษาไทยว่าเพลง ‘พระทรงบังเกิด’ ในเวอร์ชันคาทอลิก หรือ ‘ความสุขเปรมปรีดิ์มีแก่ชาวโลก’ ในเวอร์ชันโปรเตสแตนต์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวในพระธรรมสดุดีของพระเจ้าดาวิด (ดาวิดเดียวกันกับที่ปราบโกไลแอ็ธ และดาวิดเดียวกันกับที่มิเกลันเจโลได้รับแรงบันดาลใจเอามาปั้นเป็นผลงานชิ้นเอกนั่นแหละ! ) ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่
.
แม้อ่านดูเผินจะฟังดูเหมือนว่าเป็นเพลงเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซู (การเสด็จมาครั้งแรก หรือ ‘First’ Coming) แต่จริงๆ แล้ว เนื้อหาที่ถูกตัดมาจากพระธรรมสดุดีนี้ พูดถึงการเสด็จมาอีกครั้ง (The ‘Second’ Coming) ของพระคริสต์ หรือการฟื้นคืนชีพกลับมายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้สละชีวิต ยอมถูกตรึงบนกางเขนและตายเพื่อบาปของมวลมนุษย์ไปแล้ว ซึ่งแน่ล่ะว่าไม่ได้เกิดขึ้นในวันคริสต์มาส
.
(เอาจริงๆ เดิมที ต่อให้เป็นการประสูติหรือการเสด็จมาครั้งแรกของเยซูคริสต์จริงๆ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในวันคริสต์มาสหรอกนะ แต่ถ้าเล่าเรื่องนั้นด้วย เดี๋ยวจะยาว)
.
ความเชื่อเรื่อง The Second Coming ของพระเยซู ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่มีพลังและมีอิทธิพลต่อชาวคริสต์มาสที่สุดในโลกจนถึงทุกวันนี้ โดยปรากฏตามเนื้อเพลงเช่น Joy to the World และเนื้อหาใน Pop Culture มากมาย หรืออย่างในประเทศไทย หากเราเดินทางไปพื้นที่ไหนก็ตามที่มีชุมชนคริสเตียนอาศัยอยู่ เราก็มักจะได้เห็นป้าย สติกเกอร์ และใบปลิวข้อความจำพวก ‘พระเยซูจะเสด็จมาอีกครั้ง’ แขวนอยู่ตามเสา หลังคา หรือต้นไม้สูงๆ
.
นี่เป็นเพราะการเสด็จมาที่โลกอีกครั้งของพระคริสต์ มักผูกพันเหนียวแน่นกับความเชื่อเรื่องการพิพากษาของพระเจ้าที่จะตามมา และเมื่อนั้น นอกจากคนส่วนหนึ่งที่จะต้องถูกลงโทษ (the bad boys, the bad girls, and the gays ) คนที่เหลือ ซึ่งได้แก่ ชาวคริสต์ผู้ดีงามและมีใจศรัทธา จะได้ไปสู่อุทยานของพระเจ้าและใช้ชีวิตนิรันดร์ที่นั่น โดยปราศจากบาป ความทุกข์ ปัญหา และโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง
.
ทั้งนี้ ชายคนแรกที่นำเนื้อหาส่วนนี้ในพระธรรมสดุดีมาเขียนเรียบเรียงเป็นกลอนสวด อันเป็นที่มาของเนื้อเพลงจอยทูเดอะเวิลด์คือ สาธุคุณ ไอแซค วัตต์ส (Isaac Watts) ศิษยาภิบาล นักศาสนศาสตร์ อาจารย์สอนหนังสือ และนักแต่งกลอนเพลงชาวอังกฤษ ผู้มีนิสัยสันโดษ เก็บตัวเงียบ ไม่เคยไปท่องเที่ยวไกลๆ ไม่แต่งงาน ตั้งหน้าเอาแต่ตั้งตาทำงานอย่างเดียว จนมีผลงานเป็นเพลงสวดในคริสต์ศาสนากว่า 600 ชิ้น! โดยในปี 1719 เขาได้เผยแพร่หนังสือกลอนสวดของตนเอง โดยรวมเอาเนื้อเพลงจอยทูเดอะเวิลด์ไว้ในกลอนคอลเล็กชันนั้นด้วย (ย้ำอีกทีว่า เป็นกลอนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคริสต์มาสเลยจ้ะ)
.
แต่แน่นอน กลอนสวดก็คือกลอนสวด มันไม่ได้กลายเป็นเพลงแครอล หรือได้รับความนิยมแบบฉับพลันทันใด จนกระทั่งอีกเกือบ 130 ปีให้หลัง โลเวลล์ เมสัน (Lowell Mason) นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ได้นำเนื้อกลอนดังกล่าวมาใส่ทำนองอย่างที่เรารู้จัก ซึ่งเข้ากันได้ดีกับเนื้อเพลงจนทำให้เพลงนี้กลายเป็นที่ชื่นชอบในอเมริกาอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งกระแสความนิยมเดินทางข้ามทวีปกลับมายังอังกฤษและยุโรป
.
อย่างไรก็ดี ปริศนาอย่างหนึ่งที่ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน คือ เพลงสดุดีพระคริสต์ที่เอาไว้ในโบสถ์เป็นหลัก กลับกลายเป็นเพลงแครอลเอาไว้ร้องเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส
.
มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า ด้วยเนื้อหาชวนอบอุ่นใจเข้ากับบรรยากาศคริสต์มาส ซึ่งสามารถนำไปเชื่อมโยงกับการประสูติหรือการมาในครั้งแรกของพระเยซู อันเป็นวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคริสต์มาสได้ไม่ยาก Joy to the World จึงได้กลายมาเป็นฮิตที่ยังคงถูกเปิดบ่อยพอที่จะแข่งกับ All I Want for Christmas Is You ของแม่มารายห์ได้สบายๆ
.
แล้วเพลงดังกล่าวก็ยิ่งได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขึ้น เพราะมันยังคงย้ำเตือนให้เรานึกถึงเหตุการณ์ในคลิปไวรัลที่เกิดขึ้น ณ โรงเรียนคริสต์แห่งหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2019 ที่หญิงสูงอายุตบหน้าและต่อว่าเด็กนักเรียน แต่นักเรียนคนดังกล่าวไม่ยอมยืนนิ่งให้ถูกตบเฉยๆ รีบปกป้องตัวเอง ก่อนกระชากผมและตบหน้าอีกฝ่ายกลับจนหมดแรงฟุบไป พร้อมโต้กลับไปว่า
.
“มึงมาตบหน้ากูทำไม!”
.
ทันใดนั้นเอง ซาวด์จิงเกิลตอนเริ่มเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ก็ดังขึ้น ตามมาด้วยเนื้อร้องท่อนแรกสุดแสนจะอมตะ
.
Joy to the world! the Lord is come~
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
.
#TheShowhopper #ChristmasCarol #JoyToTheWorld #Christmas #คริสต์มาส #จอยทูเดอะเวิลด์ #คริสเตียน #พระเยซู #พระคริสต์
Comments